พัชรวาท ตอบกระทู้ส.ว.ให้เอกชนปลูกป่าชายเลน ยันประเทศชาติได้ประโยชน์คาร์บอนเครดิต

พัชรวาท โผล่ ตอบกระทู้ ส.ว.ให้เอกชนปลูกป่าชายเลน ยันยังดำเนินโครงการต่อตามนโยบายรัฐบาล ยันมีการประเมินผลดี-ผลเสีย-ประโยชน์ชาติ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามเรื่องการจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนให้เอกชนปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ของ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ส.ว.ถาม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า การเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจได้เข้าไปรับประโยชน์เต็มๆจากการปลูกป่าชายเลนและรับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตในระยะยาว แต่ชุมชนได้เพียงส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นใช่หรือไม่ ทั้งนี้ พบว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีการประกาศพื้นที่เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อรับประโยชน์คาร์บอนเครดิตสำหรับบุคคลภายนอกปี 2566 อีก 15,000 ไร่ 35 บริษัทและองค์กร

นพ.อำพลกล่าวต่อว่า จึงอยากถามว่าโครงการดังกล่าวเป็นมาอย่างไร มีหลักการและเหตุผลอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ และเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือบุคคลภายนอกเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะหาประโยชน์ทางธุรกิจมากว่าให้โอกาสชุมชนได้ร่วมพัฒนาดูแลประโยชน์หรือไม่ และรัฐบาลยังคงดำเนินโครงการลักษณะนี้ต่อไปหรือไม่เพราะทราบว่ามีแผน 10 ปี และรัฐบาลมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนในการให้ชุมชนเป็นเจ้าภาพทำโครงการนี้โดยไม่ต้องผ่านเอกชน

ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาทตอบกระทู้ถามว่า ที่มาของโครงการปลูกป่าชายเลนนั้นเนื่องจากประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในการประชุมคอป 26 และต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงทรัพย์ฯ ทำโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคอร์บอนเครดิตโดยมีหลักเกณฑ์ว่าพื้นที่ป่าชายเลนยังคงเป็นของรัฐ และกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เป็นเจ้าของโครงการ ควบคุมดูแลและติดตามประเมินผลโครงการไม่ใช่เป็นการอนุญาตสัมปทาน โดยทางกรมฯดำเนินการปลูกป่าชายเลนเมื่อปี 65 เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนและแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เพื่มความหลากหลายของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนและเอกชนมีส่วนร่วม

Advertisement

พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวว่า การดำเนินโครงการมีการประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีทั้งเอกชน องค์​กร และมูลนิธิ รวม 14 ราย โดยผู้เข้าร่วมโครงการเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ทั้งนี้ โครงการยังคงเป็นพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลฯ และชุมชนยังสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการได้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเพียงสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตตามระเบียบที่กรมทรัพยากรทางทะเลฯกำหนดเท่านั้น การดำเนินโครงการไม่ใช่อนุญาตให้เอกชนมาดำเนินการในลักษณะการให้สัมปทานป่าไม้ เป็นเพียงให้ร่วมดำเนินโครงการเท่านั้น ชุมชนยังสามารถใช้ประโยชน์จับสัตว์น้ำ หาของป่า ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กิจกรรมสาธารณประโยชน์ภายในชุมชน และวิถีชีวิตได้อย่างปกติ โดยต้องเป็นไปอย่างสมดุลไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวต่อว่า ทางกระทรวงทรัพย์ฯยังมีการดำเนินโครงการนี้ต่อไปตามนโยบายรัฐบาล แต่จะติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาผลดีผลเสีย ความคุ้มค่า และประโยชน์ของชาติและประชาชนที่จะได้รับเป็นสำคัญ หากโครงการใดไม่ดำเนินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงฯจะยกเลิกโครงการต่อไป ทั้งนี้ มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชนในการพัฒนาป่าชายเลนนั้นทางกระทรวงฯ ให้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ลงทะเบียนเป็นกลุ่มชุมชนชายฝั่ง และให้ชุมชนช่วยดูแลพื้นที่ในรูปแบบป่าชายเลนชุมชน ตามกฎหมายกรมทรัพยากรทางทะเลฯ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image