แก้รธน.สะดุด! หลังศาลตีตกถามปม’ประชามติ’ ส่อทำ3ครั้ง-โยนรบ.เจ้าภาพ

แก้รธน.สะดุด ! หลังศาลตีตกถามปม ‘ประชามติ’ ส่อทำ 3 ครั้ง-โยน รบ.เจ้าภาพ

เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีประธานรัฐสภา (ผู้ร้อง) มีหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ดังนี้ 1.รัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 2.ในกรณีที่รัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ การจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะต้องกระทำในขั้นตอนใด

ก่อนการพิจารณาเนื่องจากนายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างรอการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และนายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 37 เนื่องจากเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้ถอนตัวจากการพิจารณาคดีได้ องค์คณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้จึงประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 7 คน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 52

ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 กรณีต้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว การบรรจุวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหน้าที่ และอำนาจของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 119 กรณีไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และคำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว ไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

Advertisement

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุ การที่ศาลวินิจฉัยแบบนี้ ถือเป็นการปิดประตูการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางสภาแล้ว หลังจากนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องมีมติเดินหน้าแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการเคยเสนอ คือ ให้มีการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยต้องทำประชามติครั้งแรก ถามความเห็นของประชาชนว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากนั้น ครม.อาจจะเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 อย่างไรก็ตาม หากเดินหน้าทำประชามติตอนนี้ จะมีอุปสรรคจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ ในเรื่องเสียงข้างมากสองชั้น คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 26 ล้านเสียงจากผู้มีสิทธิทั้งหมด ต้องมีเสียงเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13.5 ล้านเสียงขึ้นไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจมีกลุ่มต่อต้าน ในเรื่องการไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ทำให้อาจได้เสียงไม่ถึงและเกิดปัญหา ดังนั้น มองว่าควรมีการแก้ไขกฎหมายประชามติก่อน ไม่เช่นนั้นเวลาจะทอดยาวไปอีก และเสียงบประมาณมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image