‘ภูมิธรรม’ เล็งชงครม. อนุมัติทำประชามติ 23 เม.ย.นี้ ก่อนส่งกกต.เดินหน้า คาดส.ค. เริ่มครั้งที่ 1

‘ภูมิธรรม’ เล็งชงครม. อนุมัติทำประชามติ 23 เม.ย.นี้ ก่อนส่งกกต.เดินหน้า คาดส.ค. เริ่มครั้งที่ 1 โต้ปมฝ่ายค้านขวางลำ ถามอยากย้อนไปเหมือนรัฐประหารหรือ ลั่น เปิดทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

เมื่อเวลา 09.35 น. วันที่ 22 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในการกินข้าวกับพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้พูดคุยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เตรียมจะนำเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ หลังจากที่มีการศึกษาขั้นตอนการทำประชามติเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่เดือน ธ.ค.2566 ที่ได้ข้อสรุป และความเห็นต่างที่จะนำเสนอ ครม.

รวมถึงแนวคำถามที่จะทำประชามติจะเป็นอย่างไร ซึ่งในร่างของคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติได้จัดเตรียมเรื่องแนวคำถามไว้เรียบร้อยแล้ว โดยอิงกับนโยบายของรัฐบาล โดยจะถามประชาชนว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แก้ไขหมวดหนึ่งและหมวดสองหรือไม่ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณา และเมื่อ
ครม.เห็นชอบแล้วก็จะส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กระบวนการจะเดินหน้า โดย กกต. จะมีเวลาพิจารณา 90 วันหรืออาจเร็วกว่านั้นได้ ส่วนรัฐบาลถือว่าทำหน้าที่จบแล้ว ส่วนที่ดำเนินการล่าช้าไปบ้างเนื่องจากทางรัฐสภาได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง และให้รัฐสภาดำเนินการต่อ ทำให้ต้องหารือกันอีกครั้งถึงการทำประชามติ 3 รอบ เพื่อความปลอดภัย และคาดว่าจะทำประชามติครั้งแรกได้ในเดือน ส.ค.นี้ จึงต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลโดยยืนยันว่าได้คุยเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวไม่มีเรื่องของการปรับ ครม. และไม่มีการหารือเรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรม

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าได้คุยเรื่องปรับ ครม.หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ได้คุย ถ้าจะคุยเรื่องนี้ต้องนัดหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง ส่วนเรื่องปรับ ครม. เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาว่าควรจะปรับหรือไม่อย่างไร หาดชัดเจนนายกฯ คงเรียกประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองอีกครั้ง

Advertisement

เมื่อถามว่าเครือข่ายภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษา เนื่องจากประชาชนอาจไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าที่ควร เกรงว่าจะขัดขวางการทำประชามติหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า จะบอกว่าประชาชนมีส่วนร่วม เพราะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน มาเป็นตัวแทนเพราะได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านกลุ่มไอลอว์มาร่วมอยู่ในคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธ ขณะที่คณะกรรมการได้หารือกับหัวหน้าและแกนนำพรรคก้าวไกล และถามประชาชน 4 ภาค และมีแบบสอบถามไปที่รัฐสภา ดังนั้น ที่กล่าวหาว่ามีแต่พวกของรัฐบาลเท่านั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ดูแคลนคณะกรรมการ พอได้เชิญตัวแทนนักวิชาการทุกฝ่าย ทุกกลุ่มวิชาชีพ ผู้มีประสบการณ์น่าเชื่อถือในแต่ละวงการมาให้ความเห็น ขาดเพียงฝ่ายค้านที่ปฏิเสธ

นายภูมิธรรมกล่าวว่า อย่ามาบอกว่าไม่ได้ถามประชาชนทั้งประเทศ เพราะคุยกับทุกกลุ่มแล้ว เราไม่ได้เล่นแร่แปรธาตุ ไม่ได้มีอะไรที่ปิดบังอำพรางโดยทำหน้าที่เต็มที่ ส่วนที่ได้ยินว่าอาจจะมีการเคลื่อนไหวไม่ให้ประชาชนมาออกเสียงประชามติ ขอให้พิจารณาดูว่ามีโอกาสที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จึงอยากให้ทุกคนใช้โอกาสนี้มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการ ถ้าผลออกมาแล้วประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็กลับไปใช้ฉบับ 2560 แต่ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงให้มาร่วมกันแก้ไขตามกฎหมาย ให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และจะทำให้เสร็จภายในภายใน 4 ปีในสมัยรัฐบาลนี้

จึงอยากให้ฝ่ายค้านพิจารณาให้รอบคอบว่าหากจะเคลื่อนไหวไม่ให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น แสดงว่าอยากกลับไปอยู่เหมือนกับช่วงที่เกิดการรัฐประหารจนมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ และอยากให้มีการแก้ไขขอให้เข้ามาร่วมกัน ไม่อยากให้คิดเบ็ดเสร็จ ถ้าฝ่ายค้านบอกว่าไม่ต้องการโดยอ้างความเห็นประชาชน ก็ต้องบอกว่าตัวแทนพรรคการเมืองมีฐานสมาชิกและฐานเสียงของประชาชนที่สนับสนุนเช่นกัน ดังนั้นอย่าเถียงกันเรื่องนี้เลย หากจะเถียงกันแบบนี้ ต้องบอกว่าหกพรรคการเมืองมีเสียงรวมกันมากกว่าเสียงของฝ่ายค้าน และเถียงกันไม่ได้สาระอะไรเพราะสาระสำคัญตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image