“สมเกียรติ”แนะรัฐบาลระวังความสัมพันธ์ “กลุ่มทุนใหญ่” ย้ำต้องชัดเจน อธิบายสังคม

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ มีการแถลงข่าวหัวข้อ “ปัญหาและทางออกกรณีดัชนีการรับรู้ด้านคอร์รัปชั่นของไทย” (อ่านข่าว “ทีดีอาร์ไอ” ไขปมอันดับโปร่งใสร่วง ‘สมเกียรติ’ เชื่อไทยไม่แย่อย่างที่ถูกมอง แต่ไม่ได้โปร่งใสกว่าเดิม)

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวตอนหนึ่งถึงทางออกในประเด็นดังกล่าวว่า ตนอยากเสนอว่า รัฐบาลควรนำวิธีการลดคอร์รัปชั่นโดยใช้แนวทางที่ได้รับการยอมรับในสากลมาใช้ เพราะต่างประเทศจะเข้าใจ ถ้าคิดสูตรปราบคอร์รัปชั่นแปลกๆ อาจได้ผล แต่ต่างชาติไม่เข้าใจ จะคิดว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง นอกจากนี้ ควรเน้นการเปิดเผยข้อมูลต่างๆให้ประชาชนช่วยตรวจสอบ อีกประเด็นหนึ่งซึ่งรัฐมีแนวคิดอยู่บ้างแต่ยังลังเลคือ การโละกฎระเบียบครั้งใหญ่ กล่าวคือนำกฎหมายที่มีเป็นแสนฉบับตั้งแต่พรบ. จนถึงกฎกระทรวงมาโละแบบที่เกาหลีใต้และเวียดนามเคยทำมาแล้ว สุดท้ายคือ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน การเลือกตั้งควรเกิดขึ้นตามโรดแมป สื่อควรมีสิทธิเสรีภาพ

นอกจากนี้ ยังต้องส่งสัญญาณแรงๆ เช่นเร่งรัดคดีสำคัญ ผู้นำต้องเอาจริง “คดีสำคัญ” เช่น การบินไทย และปตท. ต้องเร่งรัด เอาจริง ทำเร็ว

“ผู้นำรัฐบาลต้องไม่เกรงใจคนรอบข้าง ต้องเอาผิดกับคนทุจริต ต้องระวังความสัมพันธ์กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐขอความร่วมมือในแก้ปัญหา ภายใต้แนวคิดประชารัฐ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ต้องระวังว่าจะไม่นำไปสู่การที่รัฐยอมให้สิทธิประโยชน์กับทุนใหญ่ เช่น การต่อสัมปทานศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ต้องทำให้ชัดเจน และอธิบายต่อสังคม ส่วนที่นายกฯ เปรยว่าจะแก้กฎหมายให้คุ้มครองผู้ให้สินบน โดยไม่เอาผิดทางอาญา ส่วนตัวมองว่า สินบนแบบที่ให้เพราะถูกเรียก กับสินบนที่ให้เพราะผลประโยชน์นั้นต่างกัน จะต้องถูกปฏิบัติโดยกฎหมายไม่เหมือนกัน สินบนแบบให้เพราะถูกเรียก เช่น ไปติดต่อราชการแล้วถูกดึงเรื่อง เพราะอยากได้ค่าน้ำร้อนน้ำชา ทั้งที่เรามีสิทธิตามกฎหมาย กรณีนี้ มองว่าผู้ให้สินบนสามารถมาช่วยแฉราชการ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ อย่าเอาผิดคนให้สินบน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรนำแนวคิดแบบเดียวกันไปใช้กับกรณีที่ผู้ให้สินบนได้ผลประโยชน์ เช่น สัมปทาน และการจัดซื้อจัดจ้าง  ซึ่งควรเอาผิดเช่นเดิม ไม่ควรแก้กฎหมาย เช่น กรณีโรลส์-รอยด์ เป็นการซื้อความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ใช่การซื้อความสะดวกในการติดต่อราชการ” ดร.สมเกียรติกล่าว

Advertisement

ทีดีอาร์ไอ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image