พนัส นำทีมร้องศาลปกครองกลาง เพิกถอนระเบียบแนะนำตัว ส.ว. ขอเปิดไต่สวนฉุกเฉินด่วน

อดีตคณบดี มธ. ควงเพื่อนว่าที่ผู้สมัคร ส.ว. ร้องศาลปกครองกลาง เพิกถอนระเบียบแนะนำตัว พร้อมคุ้มครองชั่วคราว โวย กกต.มีอำนาจอะไรคิดเงื่อนไขให้ผู้สมัคร ซัดขัดหลักประชาธิปไตย จะให้มี ส.ว. 200 คน แต่ ปชช.ไม่รู้เรื่อง ลั่นมัดมือมัดเท้า ขอไต่สวนฉุกเฉินด่วน หวั่นความผิดเล็กน้อยแต่โทษสูงถึงขั้นติดคุก

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ศาลปกครองกลาง ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประสงค์จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พร้อมคณะ เข้ายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567

นายพนัสกล่าวว่า จากระเบียบ กกต.ที่ออกมามีประเด็นที่อยากให้ศาลปกครองวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการแนะนำตัวผู้สมัคร โดยเฉพาะข้อที่ 7, 8 และข้อ 11 โดยเฉพาะข้อห้ามในเรื่องของการแนะนำตัวผ่านสื่อทุกชนิด รวมไปถึงโซเชียลมีเดียด้วย พวกเราคิดว่า กกต.ไม่มีอำนาจมากำหนดและจำกัดสิทธิในการแนะนำตัวผู้สมัคร ซึ่งเราเห็นว่าสิ่งที่ กกต.ออกระเบียบออกมาเป็นการจำกัดสิทธิพวกเรามากเกินไปเกิน

Advertisement

นายพนัสกล่าวว่า พวกเราทราบดีว่าระเบียบนี้ยังไม่ได้บังคับใช้เนื่องจากต้องรอพระราชกฤษฎีกา แล้วต้องรอให้เราเป็นผู้สมัคร วันนี้เรายังไม่เป็นผู้สมัคร แต่เป็นผู้ที่ประสงค์จะเข้ามาสมัคร ดังนั้น จึงมองว่าควรมีสิทธิเสรีภาพในการแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จักให้ประชาชนทั่วไป เพราะ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญต้องเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยพี่มีส่วนได้เสียโดยตรง อีกทั้งวันนี้ยังได้ร้องให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวด้วย รวมถึงขอให้ไต่สวนฉุกเฉินต่อระเบียบดังกล่าว ถึงเร็วที่สุดอาจจะเป็นภายในวันนี้ มองว่ายิ่งศาลไต่สวนเร็วเท่าไหร่ได้ก็ยิ่งดี

“อย่างผมเองผมก็แนะนำตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นคนแรกที่แนะนำตัวผ่านเฟซบุ๊กว่าผมตั้งใจจะลงสมัคร ส.ว. พอมีระเบียบนี้มันก็เป็นประเด็นขึ้นมาว่าเราจะสามารถทำสิ่งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เราต้องการให้สิ่งนี้ชัดเจนขึ้นมา โดยเรามองว่า กกต.ไม่น่าจะมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขในการแนะนำตัวได้แคบถึงเป็นระบบปิด อำนาจของ กกต.กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกจำกัดในการที่ออกระเบียบนี้มา มีความสมดุลมากน้อยแค่ไหน” นายพนัสกล่าว

เมื่อถามว่า หากศาลไม่รับคำร้องจะดำเนินการอย่างไรต่อ นายพนัสกล่าวว่า ต้องรอดูคำสั่งของศาลว่าเราจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองหมายความว่าเป็นการคุ้มครองผู้ฟ้อง นั่นคือพวกเรา และข้อบังคับใช้ที่ กกต.จะไม่มีผลต่อพวกเรา

Advertisement

เมื่อถามว่า ระเบียบนี้จะมีการเอื้อหรือกระทบต่อใคร นายพนัสกล่าวว่า กระทบต่อพวกเราโดยตรงอยู่แล้ว เราไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแนะนำตัวเองได้เลย และที่สำคัญที่สุดคือเป็นการปิดปาก มัดมือมัดเท้าพวกเรา แต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้มีอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นในระดับอำเภอ จังหวัด หรือประเทศ ซึ่งระเบียบนี้เราไม่สามารถไปร้องต่อใครได้เลย

เมื่อถามว่ามีการวิเคราะห์กันว่าระเบียบนี้เป็นการสกัด ส.ว.สีส้ม นายพนัสกล่าวว่า เราไม่ได้พิจารณาในประเด็นสีส้มหรือสีอะไร เราก็แค่อยากจะยึดตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยระบบตามระบอบประชาธิปไตยควรจะเป็นระบบเปิด เพราะเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน

“การจะมี ส.ว. 200 คน ปรากฏว่าประชาชนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งมันไม่น่าจะถูกต้องกับหลักของประชาธิปไตย” นายพนัสระบุ

เมื่อถามอีกว่า กกต.ระบุว่าได้เก็บข้อมูลผู้ประสงค์ที่จะลงสมัครในเว็บไซต์ Senate67 และหากพบว่ามีมูล ถือเป็นการข่มขู่หรือไม่ นายพนัสกล่าวว่า นี่เป็นการข่มขู่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะ กกต.ไม่ได้บอกว่ามีอำนาจอะไรที่สามารถดำเนินการอย่างนั้น และตนได้ฟังข่าวเมื่อเช้าวันนี้ (30 เม.ย.) ก็เห็นว่าสามารถแนะนำตัวผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวได้ เพียงแต่ว่าห้ามชี้นำ หรือฮั้วกัน หากเป็นจริงตามข่าวก็แสดงว่า กกต.ยอมรับว่าสามารถทำได้

นายพนัสกล่าวว่า สิ่งที่เป็นประเด็นน่าเป็นห่วงคือมาตรา 36 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ได้มีการกำหนดโทษไว้ด้วยว่าถ้ากระทำการผิดเงื่อนไขหรือวิธีการที่ กกต.กำหนดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าระเบียบที่ กกต.ได้ออกมานานเป็นเรื่องที่สำคัญมากหรือไม่ ถึงขนาดว่าถ้าทำผิดเงื่อนไขพวกเราจะต้องติดคุกเป็นปีและถูกตัดสิทธิทางการเมืองเหรอ สิ่งที่เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ควรมีโทษมากขนาดนี้

นายพนัสกล่าวย้ำว่า การจะแนะนำตัวได้ต้องมีการออกสื่อ ดังนั้น หากจะผิดก็ควรจะผิดไปถึงสื่อมวลชนได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image