วันไหลหน้าทำเนียบ! แรงงาน 3 ชาติเล่นน้ำ ย้ำจุดยืน ‘เราคือเพื่อนกัน’ พ้อชีวิตเดียวยังเลี้ยงไม่พอ

วันไหลหน้าทำเนียบ! แรงงาน 3 ชาติเล่นน้ำ-ย้ำจุดยืน ‘เราคือเพื่อนกัน’ พ้อชีวิตเดียวยังเลี้ยงไม่พอ

เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันแรงงานสากล หรือ MAY DAY ซึ่งเป็นประเพณีนับร้อยปีที่ผู้ใช้แรงงานจากทุกสาขาอาชีพ เพศสภาพ สัญชาติ จะออกมาร่วมเดินขบวนเฉลิมฉลอง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความสมานฉันท์กับขบวนการแรงงานสากล และเรียกร้องความเป็นธรรมที่ยังคงขาดหายในสังคมปัจจุบันนั้น

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ถนนพิษณุโลก เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับ กลุ่มไรเดอร์และคนโรงงาน, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, กลุ่ม Bright Future (แรงงานชาวเมียนมา) และกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชา, สหภาพแรงงานไทยคูราโบ จัดกิจกรรม “มหาสงกรานต์ แรงงานสากล” เดินขบวนกลาง กทม. จากถนนพิษณุโลก ซอย 7 ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งเสียงของแรงงงานในไทย

บรรยากาศเวลา 09.00 น. ที่ถนนพิษณุโลก ซอย 7 คนทำงานทยอยเดินทางมาต้้งขบวน บรรยากาศเต็มไปด้วยสีสัน มวลชนกรรมกรตั้งแถวพร้อมถือป้ายของกลุ่ม โดยมี นางศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, น.ส.ธนพร วิจันทร์ แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, นายเจษฎา ศรีปลั่ง หรือ เจมส์ แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ร่วมด้วย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ชุมนุมต่างถือป้ายข้อเรียกร้องเป็นภาษาต่างๆ ทั้งภาษาไทย พม่า และเขมร พร้อมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชนชาติ อาทิ ชุดชนเผ่าพื้นเมือง โดยผู้ชายนุ่งโสร่ง ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น บางรายเตรียมปืนฉีดน้ำและขันเพื่อเล่นน้ำสงกรานต์ ก่อนร่วมเปล่งเสียงเป็นภาษาพม่า และเริ่มเดินหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรถโมบายตามขบวนตลอดการเดินเท้า ท่ามกลางอากาศร้อนจัด ผู้ชุมนุมชาวเมียนมากลุ่ม Bright Future ร่วมอ่านแถลงการณ์ส่งเสียงประณาม พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา อย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาเป็นการส่งเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาหลังเกิดการรัฐประหาร รวมถึงเรียกร้องจุดยืนของรัฐบาลไทยไม่ให้มีการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา ต้องยืนหยัดในประชาธิปไตยสากล ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ปกป้องสิทธิในการแสดงออก เดินหน้าภารกิจด้านมนุษยธรรมและผลักดันสันติภาพไร้พรมแดน ทั้งนี้ มีการส่งเสียงเรียกร้องดังกล่าวตลอดการชุมนุม

Advertisement

ต่อมาเวลา 09.35 น. เมื่อขบวนมาถึงสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ธนพรกล่าวบนรถโมบาย ตอกย้ำถึงปัญหาของแรงงานข้ามชาติ และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก หากไม่สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและสิทธิแรงงานข้ามชาติ

น.ส.ธนพรกล่าวว่า พวกเรามายื่นข้อเรียกร้องตั้งแต่ รัฐบาล พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึง รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ปัญหาพี่น้องผู้ใช้แรงงานยังถูกหลอกมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“วันนี้พวกเรามาแสดงจุดยืนอีกครั้ง และเรามีข้อเรียกร้องที่จะเสนอต่อรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาให้พวกเรา ว่าแรงงานไทย ที่รัฐบาลเศรษฐาและ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้

เราจะเห็นว่าวันนี้การบังคับใช้กฎหมายที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไข ในการที่นายจ้างหนี ไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชย ก็เป็นปัญหาของพวกเราที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ไม่ใส่ใจและไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงปัญหาพี่น้องแรงงานข้ามชาติ” น.ส.ธนพรชี้

จากนั้น เวลา 09.42 น. ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ ไรเดอร์ และคนโรงงาน สลับกันขึ้นปราศรัย บอกเล่าปัญหาที่ประสบอยู่ รวมถึงข้อเรียกร้อง โดยเริ่มจากตัวแทนสหภาพแรงงานย่านรังสิต กล่าวย้ำถึง 10 ข้อเรียกร้องที่เคยยื่นถึงรัฐบาล จากนั้นเวลา 09.45 น. ตัวแทนคนโรงงานบอดี้แฟชั่นขึ้นกล่าวปราศรัย ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลัง พร้อมโล่และตั้งแนวรั้วเหล็กปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีการจอดรถตู้เรียงปิดเส้นทางบนสะพานชมัยมรุเชฐอีกด้วย

เวลา 09.50 น. แกนนำกลุ่ม Bright Future ร่วมปราศรัยเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับแรงงานข้ามชาติ โดยผู้ชุมนุมชาวเมียนมาส่งเสียงสนับสนุน แสดงความเห็นด้วยเป็นระยะ จากนั้นเวลา 09.53 น. มีพระสงฆ์ชาวเมียนมาร่วมปราศรัย

ต่อมาเวลา 10.00 น. นายเจษฎา หรือเจมส์ กล่าวว่า เสียดายที่วันนี้รัฐบาลไม่ส่งตัวแทนมาฟัง แต่ส่งตำรวจมา รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในวันสำคัญของแรงงาน

“รัฐบอกเองว่าให้ความสำคัญกับแรงงาน แต่ละเลยไม่ส่งตัวแทนมารับหนังสือ กลายเป็นตำรวจมาประจันหน้าแทน แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไร ตำรวจสามารถขึ้นค่าแรงให้เราได้หรือไม่ ทำให้ความเป็นอยู่ดี มีกินมีใช้ มีศักดิ์ศรีได้หรือไม่” นายเจษฎากล่าว

นายเจษฎากล่าวต่อว่า ในวันนี้หวังว่ารัฐบาล ถ้ายังยืนยันว่ามาจากประชาชนและรับฟังเสียงประชาชนมากที่สุด ควรตระหนักให้มากที่สุด

“ทั้ง ครม.ควรออกมาต้อนรับ ไม่ใช่ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมา หวังว่าวันนี้จะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ 4-5 ประเด็นที่พี่น้องแรงงานย้ำวันนี้ ให้กลับไปคิดทบทวน

ตอนนี้รัฐบาลไม่ทำโครงการอะไรเลย มีแต่แจ้งว่าจะเพิ่มนู่นทำนี่ สุดท้ายพูดเสร็จพับโครงการ ให้ประชาชนฝันหวาน แต่คนที่เจ็บปวดคือประชาชนที่ต้องไปซื้อกับข้าวที่แพง ค่าไฟที่สูงที่สุด ขณะนี้ค่าไฟขึ้นเอาๆ ค่าแรงกดลงๆ ประชาชนไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่ คฝ. ไม่ได้ใช้ไฟฟรี ประชาชนเสียภาษีให้พวกท่านมาดูแล ไม่ใช่ย่ำยี” นายเจษฎากล่าว

นายเจษฎากล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องดูแลแรงงาน ปรับโครงสร้างค่าแรง และเรื่องอื่นๆ ให้ดี รัฐบาลที่อ้างว่าเห็นใจประชาชนคงต้องทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แล้วเราจะกลับมาดูว่ารัฐบาลไหนก็เหมือนกันนั้นจริงหรือไม่ รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้เห็น

“ไหนๆ ก็จะซอฟต์พาวเวอร์ สหภาพแรงงานจัดให้ วันไหลหน้าทำเนียบ” นายเจษฎากล่าว

ด้าน ตัวแทนผู้ชุมหญิง ปราศรัยตอกย้ำถึงสิ่งที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ว่า ได้ทำแล้วหรือไม่ วันนี้จึงมาทวงสัญญากับรัฐบาลที่บอกว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั้งประเทศ

“ประกาศกี่โมง 400 กี่โมง หรือท่านายกรัฐมนตรี วันลาคลอดจาก 90 วันเป็น 180 วัน จัดให้ได้หรือไม่

กฎหมายแรงงานก็มี คนงานยังถูกลอยแพ ท่านไปไหน หรือมีเวลาแค่ไปต่างประเทศเท่านั้น แล้วแรงงานในไทยมาดูแลหรือเปล่า เรามาทวง 10 ข้อเรียกร้อง ตอนนี้ค่าจ้างของพวกเรานั้นแค่ชีวิตเดียวยังเลี้ยงไม่พอเลย ต้องผลักดันลาคลอด 180 วันแบบแบ่งได้” ตัวแทนผู้ชุมหญิงกล่าว จากนั้นอ่านย้ำข้อเรียกร้องท้้ง 10 ข้อ

เวลา 10.10 น. มีประชาชนนำปืนฉีดน้ำและแป้งไปประพรม รดน้ำดำหัวสแตนดี้นายเศรษฐา

ต่อมาเวลา 10.12 น. ตัวแทนแรงงานชาวเมียนมาเริ่มประกาศแถลงการณ์หลากภาษา รวมพลังทุกข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานสากล 2567 โดยเริ่มจากภาษาพม่า ท่ามกลางแรงงานชาวเมียนมาร่วมถือภาพของ นางออง ซาน ซู จี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซี่งถูกกองทัพเมียนมาคุมขังอยู่ในขณะนี้ พร้อมภาพและข้อความที่สะท้อนการประณาม พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา

จากนั้นเวลา 10.23 น. น.ส.ธนพรนำอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาไทย พร้อมยื่นหนังสือทวง 10 ข้อเรียกร้อง ผ่านสแตนดี้ของนายเศรษฐา

เวลา 10.30 น. ผู้ชุมนุมชาวเมียนมาร่วมร้องเพลงภาษาเมียนมาที่แปลมาจากเพลง “เราคือเพื่อนกัน” เพื่อตอกย้ำว่าแรงงานคือผู้สร้างชาติ ท่ามกลางแรงงานไทยและกัมพูชาร่วมเต้นตามทำนองด้วยความครึกครื้น

เวลา 10.40 น. ผู้ร่วมชุมนุมร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ โดยตั้งขบวนเดินเป็นวงกลม มีการฉีดและพรมน้ำ พร้อมร่วมฟ้อนรำด้วยความสนุกสนาน ท่ามกลางดนตรีภาษาพม่าสลับกับไทย โดยนายเจษฎาระบุว่า เป็น “มหาสงกรานต์ แรงงานข้ามชาติ” เล่นน้ำกับรถตำรวจ สอดคล้องกับนโยบายที่ผลักดันให้ประเพณีสงกรานต์ไทย เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งยังเป็นวัฒนธรรมร่วมของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างทำกิจกรรม มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดจากสำนักงานเขตดุสิต กทม. เข้ามาอำนวยความสะดวก โดยเดินเก็บกวาดขยะในพื้นที่ชุมนุม พร้อมร่วมสังเกตการณ์อีกด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image