‘ชูศักดิ์-พริษฐ์’ แนะ รัฐ เร่งขอเปิดประชุมสภาฯวิสามัญ ถกแก้กม.ประชามติ หวังอีก 6 เดือน เริ่มเดินหน้า

“ชูศักดิ์-พริษฐ์“แนะ รัฐ เร่งขอเปิดประชุมสภาฯวิสามัญ ถกแก้กม.ประชามติ หวังอีก 6 เดือน เริ่มเดินหน้า

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์หลังชี้แจงในที่ประชุมคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ว่าจากที่ ครม.มีมติให้จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯให้เสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะมีมติ ครม.อีกครั้งว่าให้เริ่มทำประชามติได้เมื่อไหร่นั้น คณะกรรมการชุดของนายนิกร จำนง จะต้องยกร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ โดยร่างดังกล่าวไม่ต่างจากร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เสนอที่แก้ไขประเด็นกำหนดให้ต้องเป็นเสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง

ซึ่งที่ประชุมไม่มีใครขัดข้อง และหลังจากยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯเสร็จแล้ว จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้วจึงจะไปส่งต่อวุฒิสภา ซึ่งกรณีที่จะเสนอเข้าสู่สภานั้น ที่ประชุมในวันนี้มีความเห็นร่วมกันว่ารัฐบาลควรเร่งเสนอขอเปิดการประชุมสภาสมัยวิสามัญโดยเร็ว เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายนี้ทำได้เร็วขึ้น

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้มีร่างกฎหมายประชามติของพรรคเพื่อไทยและของพรรคก้าวไกลถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาแล้ว เหลือร่างที่ ครม.ให้จัดทำ ซึ่งตนคิดว่าจะทำเสร็จทัน ดังนั้น ถ้าสามารถเสนอร่างทั้งหมดเข้าสู่สภาในสมัยวิสามัญได้ ก็จะพิจารณารับหลักการในวาระแรก จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง ซึ่งถ้าขั้นตอนเหล่านี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว การทำร่างประชามติก็จะใช้เวลาไม่มาก ซึ่งตนคาดเดาว่าจะใช้เวลาอย่างน้อยไม่เกิน 3 เดือน ก็ทำร่างของ ครม.เสร็จ แล้วมีการเปิดประชุมสภา สมัยวิสามัญ ประมาณ 1 เดือน ก็นำเสนอร่างกฎหมายประชามติเข้าได้ เมื่อผ่านสภาแล้ว จะต้องส่งเข้าวุฒิสภา แต่มีปัญหาใหญ่คือต้องเป็นวุฒิสภาชุดใหม่ ก็หวังว่าการเลือก ส.ว.ชุดใหม่จะเป็นไปด้วยความราบรื่น

Advertisement

ด้านนายพริษฐ์กล่าวว่า จากการหารือในที่ประชุมวันนี้พบว่ากรณีที่มีตัวแทนของรัฐบาลระบุว่าจะเริ่มทำประชามติครั้งแรกได้ในเดือนปลาย ก.ค.หรือเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นการตีความตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ที่จริงแล้วมติ ครม.ดังกล่าวบอกว่าต้องให้ทำร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯให้เสร็จและมีผลบังคับใช้ก่อน ครม.จึงจะมีมติอีกครั้งว่าจะให้เริ่มทำประชามติครั้งแรกได้เมื่อไหร่ และใช้คำถามประชามติว่าอะไร

ดังนั้น การทำประชามติครั้งแรกจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค.หรือเดือน ส.ค.นี้ จึงอยากให้คนในรัฐบาลสื่อสารเรื่องนี้ต่อประชาชนให้ชัดเจน นอกจากนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าอยากให้รัฐบาลขอเปิดการประชุมสภาสมัยวิสามัญเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายประชามติซึ่งตอนนี้มีร่างของพรรคเพื่อไทยและของพรรคก้าวไกลรออยู่ ไม่ต้องรอพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่คาดว่าจะเข้าสภาในเดือน มิ.ย.นี้ให้เสร็จก่อนก็ได้

นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลอยากให้รัฐบาลทบทวนแนวคำถามการทำประชามติ โดยอยากให้เป็นคำถามที่เปิดกว้างว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะทำให้ประชามติมีโอกาสผ่านได้มากกว่า และคนที่อยากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าเขาจะมีความคิดเห็นต่อเรื่องของหมวด 1 และ 2 อย่างไร สามารถลงคะแนนเห็นชอบได้อย่างมีเอกภาพ

Advertisement

ทั้งนี้ เราเข้าใจดีว่ารัฐบาลมีจุดยืนที่ไม่ต้องการให้แก้ไขหมวด 1 และ 2 แต่รัฐบาลสามารถถามคำถามแบบนี้ได้โดยที่ยังรักษาจุดยืนของตัวเองไว้ เพราะหลังจากการประชามติผ่านความเห็นชอบแล้ว รัฐบาลยังมีสิทธิเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับการให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยล็อกไม่ให้ ส.ส.ร.มีอำนาจแก้ไขหมวด 1 และ 2 ได้ ดังนั้น เราจึงมีข้อเสนอนี้ด้วยความปรารถนาดีที่อยากให้เห็นการทำประชามติครั้งแรกผ่านได้ด้วยดี และการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบความสำเร็จ

นายพริษฐ์กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาร่างกฎหมายประชามติต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาด้วยนั้น ก็ต้องถาม กกต.ว่า ส.ว.ชุดใหม่จะมาเมื่อไหร่ เพราะระเบียบของ กกต.เรื่องการคัดเลือก ส.ว.ไม่ได้ประกาศชัดว่าจะต้องประกาศผลเมื่อไหร่ จึงขอให้ กกต.ออกมาให้ความชัดเจนกับสังคมในเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายวางแผนการทำงานได้ราบรื่นขึ้น

เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายระบุว่าการทำประชามติครั้งที่ 2 อาจเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในปลายปีนี้ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราประมาณการว่าการพิจารณาออกกฎหมายประชามติไม่น่าจะเสร็จเกินกว่า 6 เดือนในระยะเวลาเร่งรัด จึงเป็นไปได้ว่าการเริ่มต้นการทำประชามติครั้งแรกอาจใช้ระยะเวลานับจาก 6 เดือนหลังจากนี้ ส่วนจะทำประชามติในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง อบจ.หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องนำไปคิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image