นิกร แจงยิบ แก้กม.ประชามติ เล็งชงครม. ปลดล็อก 2 ชั้นเสียงข้างมาก-กาพร้อมวันเลือกตั้ง

“นิกร” ถกอนุกก.ประชามติ เล็งเสนอครม.แก้ร่างพ.ร.บ.ประชามติ 2564 “นับเสียงข้างมากผู้มาใช้สิทธิฯ“ แทนของเดิมมีล็อก2 ชั้น-เปิดรับฟังความเห็นปชช. 3 พ.ค.นี้ ก่อนชงครม.ไฟเขียว รับกาบัตร ต้องเลื่อนอย่างน้อย 5 เดือน

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เป็นประธานประชุมแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 โดยมี นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้แทนสำนักงานกฤษฎีกา ตัวแทนพรรคการเมือง ได้แก่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เข้าร่วม

นายนิกรให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณายกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ในประเด็นตามรายงานของคณะกรรมการ โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณา และหากมีร่าง พ.ร.บ.ที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันของ ส.ส.ที่อยู่ระหว่างการบรรจุวาระการประชุม หรือได้บรรจุวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้นำร่าง พ.ร.บ.ของ ส.ส.มาประกอบการพิจารณาเพื่อเสนอ ครม.ต่อไป

นายนิกรกล่าวว่า สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กำหนดให้การออกเสียงตามมาตรา 9 ต้องถือว่ามีข้อยุติและต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามติ ซึ่งการกำหนดให้การออกเสียงทุกประเภทต้องถือว่ามีข้อยุติ และการกำหนดคะแนนการออกเสียงดังกล่าวมีจำนวนมากเกินไป จึงยากที่จะได้ข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ทำให้การออกเสียงอาจไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับการจัดให้มีการออกเสียงประชามติแต่ละเรื่องแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และกฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดให้วันออกเสียงสามารถกำหนดเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งทั่วไป หรือวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระได้ ทำให้ต้องกำหนดวันออกเสียงแยกต่างหากจากวันเลือกตั้งทั้งที่อาจอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เป็นการเพิ่มภาระงานและงบประมาณแผ่นดินในการจัดการออกเสียง อีกทั้งเป็นภาระกับประชาชนที่ต้องมาใช้สิทธิออกเสียงหลายครั้ง นอกจากนี้วิธีการออกเสียงเดิมกำหนดให้การออกเสียงกระทำโดยบัตรออกเสียงเป็นหลัก ส่วนวิธีการออกเสียงโดยวิธีอื่นเป็นเพียงทางเลือกที่คณะกรรมการอาจกำหนดให้มีได้

Advertisement

นายนิกรกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … และนำร่างที่ได้ปรับปรุงร่วมกันไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนภายในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ โดยจะนำเข้าเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ใช้เวลาเปิดรับฟังความเห็นประมาณ 15 วัน ก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่คณะกรรมการเสนอมาปรับปรุงกับร่างของพรรคการเมือง ที่บรรจุอยู่ในสภาแล้วเพื่อจะเสนอ ครม.ดังนี้

1.กำหนดให้มีการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติ และการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี 2.กำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งอื่น 3.กำหนดรูปแบบการออกเสียงให้เกิดความสะดวกกับประชาชน ทั้งการออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น 4.กำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงและต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามติ ส่วนการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติกำหนดให้คณะกรรมการต้องจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามติ

5.กำหนดให้เผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับอย่างทั่วถึง และให้คณะกรรมการจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกัน 6.กำหนดให้การออกเสียงจะใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้าน หรือเขตอื่นเป็นเขตออกเสียงก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

Advertisement

นายนิกรกล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายประชามติ ความตั้งใจคือจะทำให้ทันกับการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ หากทันก็จะไปรวมกับร่างของพรรคการเมืองที่นำจุดแข็งของแต่ละร่างมารวมกัน เพื่อให้ได้กฎหมายประชามติที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ทำประชามติได้ทุกเรื่อง เพื่อประหยัดงบประมาณและเวลาของประชาชนที่ต้องมาออกเสียง สามารถออกบัตรเลือกตั้งอื่นได้ เช่น การลงคะแนนผ่านไปรษณีย์และการลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอพพลิเคชั่น และประเด็นสำคัญให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่มาออกเสียง ไม่ใช่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แทนของเดิมที่ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น และหลังการพิจารณาร่างงบประมาณปี’68 เมื่อสภาเปิดสมัยสามัญเดือนกรกฎาคมนี้ก็จะได้พิจารณาวาระต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมี ส.ว.ชุดใหม่เข้ามาแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้อยู่หรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายประชามติให้เสร็จก่อน จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ ครม.ก่อนจะมีการเชิญ กกต.มาหารือถึงเรื่องงบประมาณ เพื่อกำหนดเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำประชามติก่อนจะกำหนดระยะเวลา ดังนั้น ในวันนี้ยังบอกไม่ได้ว่าการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นในวันไหน แต่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นหลังแก้ไขกฎหมายประชามติแล้วเสร็จจากนี้ 5 เดือน หากการทำประชามติสามารถทำได้พร้อมกับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นก็จะเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยประหยัดงบประมาณและเวลาของประชาชน และอยากให้การทำประชามติในครั้งที่ 2 ไปตรงกับการเลือกตั้งนายก อบจ.ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และยืนยันว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จในกรอบเวลา 4 ปีของรัฐบาลนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image