ชง 3 แนวทางนิรโทษกรรม จำแนกความผิดจากแรงจูงใจทางการเมืองแบบชัด-ไม่ชัด

“ยุทธพร” ชง 3 แนวทางนิรโทษกรรม จำแนกฐานความผิดที่มาจากแรงจูงใจทางการเมืองแบบชัด-ไม่ชัด ให้“กมธ.ชุดใหญ่”เคาะ คาดได้ถกในสภาช่วงก.ค.

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่รัฐสภา นายยุทธพร อิสรชัย ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและจำแนกกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการนำเสนอผลการศึกษาต่อ กมธ.นิรโทษกรรมฯ ว่า อนุ กมธ.เสนอทางเลือกการนิรโทษกรรม 3 ทาง คือ 1.ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือนิรโทษกรรม เพื่อให้กฎหมายเป็นส่วนที่ให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.ในความผิดบางฐานที่ไม่มีข้อสรุปหรือข้อยุติในสังคม อาจใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช้กฎหมายดำเนินการ และ 3.บางฐานความผิดที่ดำเนินคดีแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ ให้ใช้กฎหมายอื่นดำเนินการ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรอัยการ มาตรา 21 สั่งไม่ฟ้อง ซึ่งมีตัวอย่าง เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายจราจร, เครื่องขยายเสียง, ความสะอาด เป็นต้น ส่วนการกระทำความผิดตามมาตรา 112 นั้นยังอยู่ระหว่างการหารือ ยังไม่มีข้อสรุป

“การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของสภา หลังจาก กมธ.มีข้อสรุปไม่เกินเดือน ก.ค. เพื่อนำเสนอต่อสภาและนำไปพิจารณา ซึ่งสภามีเอกสิทธิ์ฟังข้อเสนอทั้งหมดหรือไม่ฟังก็ได้ หรือใช้บางส่วนก็ได้ เพราะ กมธ.ตั้งขึ้นตามญัตติของสภา โดยข้อเสนอนั้นอาจนำไปพิจารณาประกอบกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เสนอจากหลายฝ่าย” นายยุทธพรกล่าว

นายยุทธพรกล่าวด้วยว่า สำหรับกรอบและระยะเวลาที่พิจารณานั้นเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.48 ถึงปัจจุบัน โดยระยะ 20 ปีนั้นจะแบ่งเป็น 4 ช่วงคือ ช่วงปี’48-51, ช่วงปี’52-55, ช่วงปี’56-62 และช่วงปี’63-67 ที่จะมีเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่คือ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่ม นปช., กลุ่ม กปปส.และกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้ การพิจารณารายละเอียดจะจำแนกผ่านเกณฑ์ต่างๆ ที่มีแรงจูงใจทางการเมืองที่ชัดเจน และแรงจูงใจทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน

Advertisement

นายยุทธพรกล่าวต่อว่า สำหรับแรงจูงใจทางการเมืองที่ชัดเจนจะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับฐานความผิดกับการชุมนุม ทั้งการชุมนุมสาธารณะ อาญา และกฎหมายที่บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเกี่ยวกับประชามติ ขณะที่แรงจูงใจทางการเมืองที่ไม่ชัดเจนจะเป็นเรื่องการกระทำต่างๆ เช่น กฎหมายจราจร, ความสะอาด ทั้งนี้ เมื่ออนุ กมธ.เสนอต่อ กมธ.แล้ว และมีข้อเสนอใดจะนำไปปรับปรุง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image