ก้าวไกล ชี้ ประชามติครั้งแรก อาจไม่ทันเดือนก.ค. ย้ำข้อเสนอแก้ไขควบคู่ทบทวนคำถามประชามติ

พริษฐ์’ ชี้ประชามติครั้งแรกเรื่อง รธน. จะไม่เกิดขึ้นช่วง ก.ค.-ส.ค. ตามที่รัฐบาลเคยสื่อสาร เหตุมติ ครม. กำหนดนับหนึ่งจัดทำประชามติต่อเมื่อแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ เสร็จแล้ว ย้ำข้อเสนอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญเพื่อแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติภายใน พ.ค. ควบคู่ทบทวนคำถามประชามติ

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงการแก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ ภายหลังวันนี้ได้รับเชิญร่วมประชุมกับตัวแทนรัฐบาล ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ในฐานะตัวแทนพรรคก้าวไกลที่ได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ เข้าสภาฯ เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยพริษฐ์กล่าวว่า มี 3 ประเด็นสำคัญจากการประชุม

ประเด็นที่ 1 ตนพบว่ารัฐบาลได้สื่อสารคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกรอบเวลาในการทำประชามติครั้งแรก หลังการประชุม ครม. เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (23 เมษายน) ทำให้ประชาชนจะไม่ได้เข้าคูหาประชามติในห้วงเวลา 21 กรกฎาคม – 22 สิงหาคม ตามที่รัฐบาลได้สื่อสารกับสาธารณะ

นายพริษฐ์กล่าวว่า ตามกฎหมายปัจจุบัน พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 11 กำหนดว่าเมื่อ ครม. มีมติ “นับหนึ่ง” เดินหน้าจัดประชามติเรื่องใด ประชามติดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นในกรอบเวลา 90-120 วัน หลังจากที่ ครม. มีมติ “นับหนึ่ง” ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากการแถลงโดยโฆษกรัฐบาล และอินโฟกราฟิกในเพจพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้สื่อสารกับสาธารณะว่า ประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นในกรอบเวลา 21 กรกฎาคม – 22 สิงหาคมปีนี้ ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นการคำนวณโดยการตีความว่า ครม. ได้มีมติ “นับหนึ่ง” แล้ว ในการประชุม ครม. 23 เมษายนที่ผ่านมา

Advertisement

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า แต่ตนได้ค้นพบจากเอกสารในที่ประชุมวันนี้ที่อ้างอิงมติ ครม. และได้รับคำยืนยันจากตัวแทนรัฐบาลหลังสอบถามในที่ประชุมอีกครั้งวันนี้ว่า ในการประชุม ครม. 23 เมษายนนั้น ครม. ไม่ได้มีมตินับหนึ่งเดินหน้าจัดทำประชามติเลย แต่มีมติให้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ให้เสร็จและบังคับใช้ทางกฎหมายก่อน ถึงจะเริ่มนับหนึ่งสู่การจัดทำประชามติ

“ทั้งหมดนี้เท่ากับว่า มติ ครม. ไม่ได้กำหนดว่าเราจะมีประชามติครั้งแรกในห้วงเวลา 21 กรกฎาคม – 22 สิงหาคม ตามที่โฆษกรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยได้สื่อสารกับสาธารณะ แต่ต้องรอให้ พ.ร.บ. ประชามติ ได้มีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ครม. ถึงจะมีมติ “นับหนึ่ง” และกำหนดวันออกเสียงประชามติอย่างน้อย 90-120 วัน หลังจากวันนั้น” นายพริษฐ์กล่าว

ประเด็นที่ 2 ในเมื่อ ครม. กำหนดว่าต้องแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ก่อนจะจัดประชามติครั้งแรกได้ ตนเสนอว่า ครม. ควรออกพระราชกฤษฎีกา เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญในเดือน พ.ค. เพื่อเดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่พร้อมแล้ว

Advertisement

นายพริษฐ์กล่าวว่า ทางพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ เข้าสภาฯ ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งตอนนี้ค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาฯ หากรัฐบาลเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เราสามารถเลื่อนวาระกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาในวาระ 1 และเริ่มกระบวนการดังกล่าวได้โดยทันที

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจว่าทางรัฐบาลเล็งจะนำวาระการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ มาต่อท้ายวาระการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2568 แต่ตอนนี้มีแนวโน้มว่าร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2568 อาจจะไม่ได้เข้าสภาฯ จนกระทั่งกลางเดือน มิถุนายนเป็นอย่างเร็ว

“จึงเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ตั้งแต่เดือนนี้ เนื่องจากร่างกฎหมายมีพร้อมอยู่แล้ว 2 ฉบับ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล โดยหาก ครม. ต้องการเสนอประกบ ก็เสนอเข้ามาได้ ตราบใดที่ไม่ทำให้กระบวนการล่าช้าเพียงเพราะเหตุผลดังกล่าว” นายพริษฐ์กล่าว

ประเด็นที่ 3 ในเมื่อ ครม. กำหนดว่าต้องแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ก่อนจะจัดประชามติครั้งแรกได้ ตนเห็นว่า ครม. ยังมีเวลาทบทวนคำถามประชามติ โดยตนและพรรคก้าวไกลขอยืนยันให้รัฐบาลทบทวนคำถามประชามติครั้งแรก (หากจะจัด) ให้เปลี่ยนเป็นคำถามที่เปิดกว้าง เพื่อเพิ่มโอกาสที่ประชามติจะผ่าน

  • คำถามปัจจบุันของรัฐบาล คือท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 (บททั่วไป) และ หมวด 2 (พระมหากษัตริย์)?”
  • คำถามที่พรรคก้าวไกลเสนอให้รัฐบาลทบทวนใช้ คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ)?”

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ข้อเสนอนี้มาจากความกังวลว่าในเมื่อคำถามประชามติของ ครม. ณ ปัจจุบัน เป็นการถาม 2 ประเด็นใน 1 คำถาม หรือการ “ยัดไส้” เงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถามอาจมีความลังเลใจว่าจะลงมติเช่นไร และทำให้ในบรรดาคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่จะลงคะแนน “เห็นชอบ” เหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่ประชามติจะไม่ผ่านและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลง

พริษฐ์กล่าวว่า เราเข้าใจว่า ครม. มีจุดยืนว่าไม่ต้องการให้ ส.ส.ร. ที่มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีอำนาจในการแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1-2 ซึ่งเป็นจุดยืนที่ต่างจากของพรรคก้าวไกล แต่แม้รัฐบาลจะมีจุดยืนดังกล่าว รัฐบาลยังคงจุดยืนตนเองได้ ด้วยการถามคำถามประชามติที่เปิดกว้าง เพื่อเพิ่มโอกาสที่ประชามติจะผ่าน และเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ได้ว่า สสร. มีอำนาจในการแก้ไขทุกหมวดยกเว้น หมวด 1-2 ซึ่งก็สอดคล้องกับรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเข้าสู่รัฐสภาในขั้นตอนถัดไป ในเมื่อรัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลก็สามารถชนะโหวตในสภาฯ ได้อยู่แล้ว หาก ส.ส. รัฐบาลยังคงยืนยันจุดยืนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image