กกต.ยันชวนสมัครชิงส.ว.ได้ ไม่ห้ามสื่อจัดเวที-ตีปี๊บ ขู่ฟันฮั้วโหวต-จ้างสมัคร คาดกว่า 4 แสนรายลงสู้ศึก

กกต.ยันชวนสมัครชิงส.ว.ได้ ไม่ห้ามสื่อจัดเวที-ตีปี๊บ ขู่ฟันฮั้วโหวต-จ้างสมัคร คาดกว่า 4 แสนรายลงสู้ศึก

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงข้อวิจารณ์รูปแบบของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ว่า รูปแบบการเลือกอยู่ในกฎหมายไม่ใช่ของ กกต. คงไปแก้อะไรไม่ได้แน่นอน เรื่องการแนะนำตัวก็ไม่ได้ทำอะไรเกินกฎหมายที่กำหนดไว้ แม้ ส.ว.ไม่ได้ถูกเลือกโดยตรงจากประชาชน

นายแสวงกล่าวว่า แต่กกต.ตระหนักถึงความสำคัญของประชาชน ดังนั้นประชาชนมีสิทธิติดตาม ตรวจสอบ สังเกตการณ์ตั้งแต่หลังปิดสมัคร กกต.จะนำชื่อผู้สมัคร ส.ว.ทุกคน เผยแพร่ลงในแอพพลิเคชั่นสมาร์ท โหวต และในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.เพื่อให้ประชาชนทราบรายชื่อ ประวัติ การทำงาน ประสบการณ์ของผู้สมัครขณะที่ผู้สมัคร ส.ว.สามารถติดต่อกันได้ทางอีเมล์ หรือแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อแนะนำตัวเอง คิดว่าระบบนี้เพียงพอจะทำให้ประชาชนและผู้สมัคร ส.ว.มีข้อมูลในการพิจารณาเลือกผู้สมัครด้วยกันเองได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีบุคคลออกมาเปิดเผยตัวว่า จะลงเป็นผู้สมัครสามารถทำได้หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ไม่ผิดกฎหมายอะไร การเปิดตัวและการเชิญชวนสามารถทำได้

Advertisement

เมื่อถามกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาเชิญชวนให้สมัคร สามารถทำได้หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า สามารถทำได้ ไม่ว่าใครก็ทำได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงไทม์ไลน์วันสมัครที่ชัดเจน เนื่องจาก กกต.ยังไม่ได้มีการประกาศออกมา เลขาฯกกต.กล่าวว่า กรณีเลือก ส.ว.ไม่เหมือน ส.ส. ที่จะบอกได้ว่าเลือกตั้งวันไหน และภายในกี่วัน แต่ ส.ว.จะเริ่มดำเนินการนับหนึ่งได้เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาประกาศ ตอนนี้ยังไม่ได้โปรดเกล้าฯลงมา เมื่อโปรดเกล้าฯลงมาแล้วจึงมีกระบวนการชัดเจน รวมเวลาแล้วไม่เกิน 60 วัน

เมื่อถามว่าหากมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือก ส.ว.ออกมาแล้ว ผู้สมัคร ส.ว.สามารถเผยแพร่ประวัติหรือข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียได้หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ในระเบียบแนะนำตัวให้สามารถทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรือโซเชียลมีเดียได้ และให้แนะนำตัวกับผู้สมัครด้วยกันเองได้ ในวันเลือกตั้ง กกต.จะถ่ายทอดผ่านวงจรปิดทุกที่เพื่อให้ผู้สื่อข่าวและประชาชนได้สังเกตการณ์ ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อปฏิบัติของสื่อหลังมี พ.ร.ฎ.เลือก ส.ว. การสัมภาษณ์ผู้สมัครไปก่อนหน้านี้ จะต้องลบคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้หรือไม่ เลขาฯกกต.กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรที่ผิดกฎหมาย กกต.ได้ดูและรวบรวมพฤติการณ์ทั้งสื่อและกลุ่มคนที่จะสมัครไว้หมดแล้ว แต่ยังไม่เห็นอะไรที่ล่อแหลมจะผิดกฎหมาย สำหรับกรณีของสื่อ ระเบียบการแนะนำตัวออกมาใช้บังคับกับผู้สมัครเท่านั้น ไม่ได้บังคับสื่อ

“สื่อสามารถรายงานหรือเสนอข่าว หรือวิเคราะห์ข่าว ให้ความเห็น จัดเวทีได้หมด แต่ให้พึงระวังเรื่องของกฎหมายอื่น เพราะอาจไปหมิ่นประมาทผู้สมัครอื่น แต่หากเป็นข้อเท็จจริงสามารถนำเสนอได้ เพราะไม่ได้มีข้อห้ามแต่อย่างใด เราอาจห้ามผู้สมัคร โดยผู้สมัครจะต้องระวังตัวในการแนะนำตัวและปฏิบัติตามคำแนะนำของ กกต.” นายแสวงกล่าว

เมื่อถามว่า กกต.มีกลไกป้องกันการทุจริตหรือฮั้วในการเลือก ส.ว.หรือไม่ เลขาฯ กกต.กล่าวว่า โดยตัวระบบกฎหมายที่ออกมาป้องกันการฮั้วอยู่แล้ว จากนี้ไปคือมาตรการของ กกต. ทั้งนี้ จำนวนผู้สมัครที่คาดว่าประมาณ 4 แสนคนอาจจะมองดูจำนวนมาก แต่ความจริงแล้วแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพเมื่อเลือกแล้วจะเหลือไม่กี่คนในสาขาอาชีพ โดยมาตรการฮั้วจะมี 2 รูปแบบ คือแลกคะแนนกัน กกต.จะมีมาตรการจัดการไม่ว่าผู้สมัครจะทำบนดินหรือใต้ดิน และการจัดตั้ง เอาผู้สมัครมาเลือกคนที่จะให้เป็น ส.ว. คือไม่ได้สมัครเพื่อจะเป็น ส.ว. แต่จะมาเป็นคะแนนเสียงเพื่อเลือก ส.ว.ให้ สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้และ กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image