สำเร็จแล้ว! ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ได้สิทธิลาคลอดเพิ่ม-ค่ารักษาโควิด19กรณีเจ็บป่วย

พิพัฒน์ เผยข่าวดี ผลักดันกฎหมาย 2 ฉบับ เพิ่มสิทธิลาคลอด-รักษาโควิด19

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงาน ผลักดันกฎหมายเพิ่มสิทธิประโยชน์ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจสำเร็จ ให้สิทธิลาคลอดบุตรได้รับค่าจ้าง 98 วัน เพิ่มวันหยุดพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เป็นวันหยุดตามกฎหมาย พร้อมปรับปรุงการรักษาโรคโควิด-19 ให้สอดคล้องตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จำนวน 2 ฉบับ

1.ประกาศมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5)

2.ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19

Advertisement

ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้ผลักดันกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจนเป็นผลสำเร็จ โดยเป็นการปรับปรุงประกาศที่มีอยู่ในปัจจุบันให้รองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่ควรได้รับมากยิ่งขึ้นตามแนวโยบายของรัฐบาล และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสอดคล้องกับหลักการสากล อันเป็นการสร้างโอกาส ความเสมอภาคและเท่าเทียมในสังคม

นายพิพัฒน์กล่าวว่า โดยประกาศฯ มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5) จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 2 พ.ค.2567 และประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลฯ ให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2565 เป็นต้นไป

Advertisement

ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ประกาศ ครรส. เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5) ได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจหญิงมีสิทธิลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้างจากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน เพิ่มวันหยุดตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ ให้เป็นวันหยุดตามกฎหมายและหากลูกจ้างทำงานในวันหยุดดังกล่าวให้มีสิทธิได้รับค่าจ้างด้วย สำหรับประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลฯ เป็นการปรับปรุงการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยกำหนดประเภทผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เฉพาะผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดงที่มีสิทธิได้รับค่ารักษาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อรองรับให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลให้แก่ลูกจ้าง คู่สมรส หรือบุตรของลูกจ้างได้โดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image