เพื่อไทย ปัด อิ๊ง แทรกความเป็นอิสระ แบงก์ชาติ โฆษกรบ.ยัน รบ.ไม่ได้สั่ง มีสิทธิร่วมกำหนดการเงิน

เพื่อไทย ปัด อิ๊ง แทรกความเป็นอิสระ แบงก์ชาติ โฆษกรบ.ยัน รบ.ไม่ได้สั่ง มีสิทธิร่วมกำหนดการเงิน

 

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชระโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีการวิจารณ์คำแถลง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค ในประเด็นความเป็นอิสระและการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า โดยหลักธนาคารกลางสามารถดำเนินนโยบายได้โดยอิสระ สำหรับประเทศไทย แม้ ธปท.ไม่ใช่ส่วนราชการที่รัฐบาลสามารถสั่งการได้โดยตรง แต่ก็เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ คือการกำกับดูแลการเงินของชาติ ให้สอดคล้องกับสภาพจริงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนรับฟังฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายการคลังด้วย นายกฯจึงเรียกร้องมาตลอดให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อความเหมาะสม

เนื่องจากมีเหตุผลดังนี้ 1.ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์งวดประจำปี 2566 ทั้ง 9 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 226,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33,635 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.4% ถือเป็นกำไรสูง สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้

Advertisement

2.แม้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ส่งผลทั้งอัตราแลกเปลี่ยน การค้าและตลาดการเงิน แต่ ธปท.ไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเสมอไป เมื่อคำนึงถึงปัจจัยสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ 3.ที่ผ่านมารัฐบาลเพียงหารือและร้องขอให้พิจารณา ไม่ใช่สั่งการธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่เป็นการให้ใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์ ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสม

ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้แทรกแซงความเป็นอิสระของ ธปท.แต่อย่างใด การที่ น.ส.แพทองธารแสดงออกในความคิด คือต้องการให้ ธปท.รับฟังเสียงของรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการคลัง และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินการคลังสอดคล้องและเป็นไปในทางเดียวกัน มีเป้าหมายในการฟื้นฟูและผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตไปด้วยกันเพื่อการพัฒนาประเทศ น.ส.ลิณธิภรณ์กล่าว

ขณะที่นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ต่อกรณี น.ส.แพทองธาร ระบุว่า “กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอิสระจากรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นการพูดเพื่อกดดัน ธปท.ว่า วาทกรรมที่ว่า ถ้าการเมืองสั่งธนาคารกลางได้ บ้านเมืองจะเป็นเช่นไรนั้น ขอชี้แจงว่าไม่ได้สั่ง และสั่งไม่ได้

Advertisement

แต่เรียกร้องให้ ธปท. ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตราที่ 7 วรรคสอง (ประกอบมาตรา 8(2)) ที่ระบุว่าการกำหนดและดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย รัฐบาลต้องการกระตุ้นให้จีดีพีเติบโตสูงตามศักยภาพของประเทศ และทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านโดยมีเป้าหมายที่เฉลี่ย เติบโตปีละ 5 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ ธปท.คงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ในระดับที่กดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เม็ดเงินถูกดูดหายออกไปจากระบบ กำลังซื้อในตลาดซบเซาเรื้อรัง สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายต่อเนื่องมาหลายเดือน เช่นนี้ถือว่า ธปท.คำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะร่วมกำหนดนโยบายการเงินร่วมกับ ธปท. ตามมาตรา 28/8 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว รัฐบาลไม่ได้สั่ง แต่กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลมีสิทธิร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ จึงน่าจะเปลี่ยนคำถามใหม่เป็นว่า ถ้าธนาคารกลางกำหนดนโยบายการเงินโดยไม่สอดคล้องกับนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล บ้านเมืองจะเป็นเช่นไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image