ทะลุคนทะลวงข่าว – จากรมช.บัวแก้วถึงรมต.สำนักนายกฯ ส่องภารกิจจักรพงษ์ แสงมณี

คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1 ซึ่งเริ่มเดินเครื่องทำงานแล้ว มีรัฐมนตรีใหม่ๆ ที่น่าติดตามหลายราย แต่ที่น่าสนใจกล่าวถึงคนหนึ่ง คือ นายจักรพงษ์ แสงมณี ซึ่งปรับตำแหน่งจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่ยังได้ทำงานต่อ เพียงปรับเปลี่ยนจากงานด้านต่างประเทศ มาเป็นงานรัฐมนตรีที่ดูแลด้านงบประมาณ

ถ้าจะถามว่า เหตุใดนายจักรพงษ์จึงได้รับความไว้วางใจจากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ให้เป็นรัฐมนตรีต่อ ย่อมต้องย้อนดูผลงานในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ขณะทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

Advertisement

นอกจากภารกิจติดตามนายกฯ เดินทางไปประชุม ไปเปิดประตูการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวในหลายๆ ประเทศแล้ว

กล่าวเฉพาะภารกิจที่นายจักรพงษ์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลเป็นหัวหน้าคณะเอง น่าสนใจมากมาย

เมื่อพฤศจิกายน 2566 นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วม การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) เสาความร่วมมือที่ 2-4 ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยมีนางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรีจากประเทศหุ้นส่วน IPEF เข้าร่วมการประชุมรวม 14 ประเทศ

Advertisement

ทั้งร่วมลงนามความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเป็นความตกลงระดับภูมิภาคด้านห่วงโซ่อุปทานฉบับแรกของโลก

เมื่อวันที่ 19 – 20 มกราคม 2567 นายจักรพงษ์ร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM หรือนาม) ครั้ง 19 ที่กรุงกัมปาลา ประเทศยูกันดา และถือโอกาสนี้กระชับสัมพันธ์มิตรประเทศในทวีปแอฟริกา ขอแรงหนุนไทยลงสมัคร คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติวาระปีค.ศ.2025-2027 โดยมีผู้แทนระดับสูงจาก ประเทศสมาชิก ประเทศผู้สังเกตการณ์ และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม รวมทั้งเข้าเยี่ยมคารวะนายโยเวรี คากูทา มูเซเวนี ประธานาธิบดียูกันดา ที่กรุงกัมปาลา

นายจักรพงษ์ยังพบหารือทวิภาคีกับ นายโอลูเชกุน อัดจาดิ บาคาริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือสาธารณรัฐเบนิน ที่กรุงกัมปาลา หารือเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อ การพัฒนา โดยเฉพาะการฝึกอบรมด้านการปลูกข้าว การทำประมง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายจักรพงษ์หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศราชอาณาจักรเลโซโท รวมทั้งพบหารือทวิภาคีกับนายเลจอน อึมพ็อตโจน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศราชอาณาจักรเลโซโท ในโครงการพัฒนาด้านการเกษตร

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 นายจักรพงษ์พบหารือทวิภาคีกับนายฟิกิเล มาโจลา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และการแข่งขันสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ที่กรุงพริทอเรีย เพื่อรักษาสถานะและเพิ่มปริมาณและมูลค่าการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ ฝ่ายแอฟริกาใต้ตอบรับข้อริเริ่มของไทยในการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทยสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU) รวมทั้งแสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย-แอฟริกาใต้ ครั้งที่ 6 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ

9 กุมภาพันธ์ 2567 นายจักรพงษ์ เป็นผู้แทนรัฐบาล หารือกับนายซาวีเยร์ เบตแตล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การค้าต่างประเทศและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลักเซมเบิร์ก ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2567

วันที่ 21 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 นายจักรพงษ์นำคณะพร้อมนักธุรกิจไทยเยือนคาซัคสถาน เพื่อสำรวจศักยภาพทางเศรษฐกิจและโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่กรุงอัสตานา และเมืองอัลมาตี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 1 และศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของคาซัคสถาน โดยเข้าเยี่ยมคารวะนายมูรัท นูร์ตลิว รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถาน และเชิญนายมูรัทเยือนประเทศไทยในช่วงประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชีย และแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ หรือ ESCAP ในเดือนเมษายน 2567

นอกจากนี้นำคณะนักธุรกิจไทยเข้าร่วมการประชุมเต็มคณะกับนางสาวนาซีรา นูรบาเยวา รมช.ต่างประเทศ คาซัคสถาน ซึ่งรับผิดชอบการลงทุนระหว่างประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึก ความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าไทยกับ Center for Trade Policy Development Joint-Stock Company (QazTrade) หรือสถาบันเพื่อบริษัทร่วมหุ้นการพัฒนานโยบายการค้า

29 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2567 นายจักรพงษ์เดินทางไปเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี ร่วมในคณะของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญครั้งที่ 13

รวมทั้งหารือกับรัฐมนตรีแห่งรัฐด้านการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่กรุงอาบูดาบี ถึงแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน

อีกภารกิจที่น่าพูดถึงคือ เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นายจักรพงษ์แถลงข่าวในหัวข้อ “การส่งเสริมนักกีฬาไทยไปแข่งขันในระดับนานาชาติ” โดยมีสาระสำคัญ คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการกีฬาแห่งประเทศไทย บูรณาการความร่วมมือและภารกิจในการส่งเสริมนักกีฬาไทยไปแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะประเด็นการอำนวยความสะดวกในเรื่องวีซ่าให้แก่นักกีฬาไทย เดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศ จัดตั้งศูนย์บริการจุดเดียว หรือ One Stop Service โดยมีกรมการกงสุลเป็นหน่วยงานประสานหลักเพื่อบริการทำหนังสือเดินทาง สำหรับนักกีฬาไทย รวมถึงอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่า

ภารกิจอันมากมาย จนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐมนตรีโลกลืม น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมปรับครม.เศรษฐา 1/1 ยังต้องมีชื่อจักรพงษ์อยู่ต่อ

ที่มา ข่าวสด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image