‘สุรชาติ’ ห่วง สนจะลู่ลมไหวไหม? เทียบขวาจัด-รัฐไทย ปรับตัวแบบ ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’ จ้อง รปห.ลูกเดียว

‘สุรชาติ’ ถาม สนจะลู่ลมไหวไหม? เทียบรัฐไทย ปรับตัวแบบ ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’ ขวาจัดเราล้าหลังสุด จ้องรัฐประหารลูกเดียว

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ห้องคริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท อาคารเกษรทาวเวอร์ แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสหนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 47 กองบรรณาธิการมติชน จัดเวทีมติชนฟอรั่ม ‘Thailand 2024 : Surviving Geopolitics’ เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์และหนทางปรับตัว ภายใต้ปัจจัย ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรโลก ภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนประชาชนคนไทย ทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ในมิติต่างๆ มาให้ความเห็น ได้แก่ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ, รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายคุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โลก และภูมิรัฐศาสตร์

บรรยากาศเวลา 09.20 น. ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข บรรยายในหัวข้อ Thailand 2024 : Surviving Geopolitics’ ดำเนินรายการโดย นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ

Advertisement

ในตอนหนึ่ง ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าวถึงสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดซึ่งเป็นอีกโจทย์ที่ท้าทาย ปีนี้ที่ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อากาศร้อนมาก ขอให้เตรียมรับปีหน้าจะร้อนยิ่งกว่านี้ ต้องยอมรับว่าภูมิภาคเรา เข้าสู่กระแสแห่งความร้อน ไม่ใช่ร้อนธรรมดา อาจจะต้องเรียกว่าเป็น ‘ซูเปอร์ฮีท’ เป็นโจทย์ใหญ่

สำนวนเพลงลูกทุ่ง ‘น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง’ ในชนบท มันกลับมาแล้วจริงๆ น้ำท่วมเกษตรกรไม่ตาย พี่น้องยังจับปลาขายได้ แต่น้ำแล้ง ตายจริงๆ

“อากาศเปลี่ยน ผมว่าเป็นโจทย์ใหญ่ ผมอยากเห็นว่าใครจะเป็น เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ของสังคมไทย เด็กผู้หญิงสเปน อายุ 16 ปี ที่เปิดกระแสเรียกร้อง สู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ กระแสเหล่านี้ในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่อาจจะไม่พัฒนามาก ยังเป็นโจทย์ คำถามคือ ‘ปีหน้าพ้นแล้งไหม’ หรือยังหนัก ส่วน ‘โควิด’ ก็หวังว่าจะเป็นเพียงเชื้ออ่อนๆ” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติชี้

Advertisement

เมื่อพิธีกรถามว่า ถ้าประเมินแล้วในไทยเอง มองว่าหน่วยงานต่างๆ หรือรัฐบาล มีวิสัยทัศน์มองภาพรวมความเสี่ยงใหม่ๆ ที่กำลังคุกคามโลกและคุกคามไทยหรือไม่ หรือยังมีเลนส์ ที่เป็นเพียงเชิงตั้งรับ ?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าวว่า ตนมองว่า ผู้นำไทยในระยะหลังเห็นสถานการณ์ แต่จะตั้งหลักอย่างไร คำตอบแนวนี้เรายังไม่ค่อยเห็น

“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในสังคมไทย คือความชาชิน อยู่ๆ กันไป แต่ถ้าสังเกตุ โกลบอลดิสรัปต์ชั่น มันหนักขึ้น หลายประเทศเริ่มปรับตัว แล้วอะไรคือการปรับตัวของรัฐบาลและสังคมไทย ผมว่าภาคเอกชนปรับ เพราะคนทำธุรกิจรู้อยู่แก่ตัว ‘ไม่ปรับคือตาย’ ซึ่งเป็นสำนวนที่กองทัพอเมริกัน เอาสำนวนของ MBA (การบริหารธุรกิจ) มาใช้ และผมก็ใช้เป็นชื่อหนังสือ ‘Transform or die : ปฏิรูปกองทัพไทย’ ดังนั้น ผมเชื่อว่าภาคธุรกิจปรับตัว แต่ภาครัฐที่อยู่บนเงื่อนไขของความเป็นรัฐราชการ การปรับตัวต้องยอมรับว่า กระแสที่จะปรับตัวไม่ไวเท่ากระแสโลกไดรฟ์เรา ผมว่าการเตรียมรับมือปัญหา มีขีดจำกัด” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าว และว่า

ภาคเอกชนมักจะใช้ทฤษฎี ‘VUCA’ โดย V-Volatility คือความผันผวน U คือ Uncertainly ความไม่แน่นอน C คือ Complexity ความซับซ้อน และ A คือ Ambiguity ความไม่ชัดเจน ในโลกการบริการทางธุรกิจมักจะใช้หลักการนี้ ซึ่งกองทัพก็ใช้

“ถามว่าจะแก้ยังไง คำตอบคือต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องสู้ด้วยการมี V-Vision วิสัยทัศน์ U-Understanding ความเข้าใจ C-Clarity ความชัดเจน และ A-Agility ความคล่องตัว ผมเชื่อว่าธุรกิจเองเวลาปรับตัวก็มีปัญหาพอสมควร แต่ลองนึกถึงภาครัฐ ผมว่าสำนวนไทยที่ว่า ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’ ก็คงประมาณนั้น

แต่ถ้ามองผ่านสถานการณ์โลก ผมอยากเห็น UAV คือ U-Understanding A-Awareness และ V-Vision ผมขอเรียกร้องสั้นๆ แค่ 3 อย่าง อยากเห็นรัฐไทยมี UAV”

“เพราะถ้าเราไม่ปรับ วันนี้เราอยู่ในโลกที่มีความผันผวนมากที่สุด การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Competition) ต่อมา นักรัฐศาสตร์เริ่มใช้ภาษาที่หนักขึ้น คือ การแข่งขันของ รัฐมหาอำนาจใหญ่ (Great Power Competition) อย่าง สงครามเย็น ซึ่งตนมองว่า ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกผันผวนจากการแข่งขันของ รัฐมหาอำนาจใหญ่ แล้วเราจะอยู่อย่างไรเป็นเรื่องท้าทาย” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าว

เมื่อพิธีกรถามว่า การปรับตัวของรัฐไทยในโลกที่มีการดิสรัปต์หลากหลายด้าน กล่าวคือ รัฐไทยอยู่ในฐานะที่ยังแข็งแกร่งพอ ที่จะปกป้องสังคม จากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ได้หรือไม่ ?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ชี้ว่า ‘ความเแข็งแกร่ง’ อาจจะต้องนิยามใหม่ คนรุ่นก่อนนิยามความแข็งแกร่ง ผ่าน ‘แสนยานุภาพทางทหาร’ ด้วยการซื้ออาวุธ เรือดำน้ำ ซื้อเรือเหาะที่เหาะไม่ได้หลังรัฐประหาร 2549 ซื้อรถถังจากยูเครน ที่ยังตกหล่นได้ไม่ครบ จนถึงหลังหลังรัฐประหาร 2557 น่าสนใจที่มีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากที่สุด แต่เปลี่ยนค่าย คือย้ายค่ายจากตะวันตกไปค่ายจีน และอีกไม่นานรถถังจากจีนจะเข้ากองทัพบก ทดแทนรถถังของอเมริกัน

“เรือดำน้ำคือตัวอย่างของความฉาวโฉ่ วันนี้ทั่วโลกอยากรู้ว่า รัฐไทยจะจัดการปัญหาเครื่องยนต์เรือดำนำ ที่ไม่ได้จากเยอรมันอย่างไร ดังนั้น การปรับตัวด้วยเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ทหาร มันไม่ตอบโจทย์ และที่ไม่ตอบโจทย์ใหญ่ที่สุดคือ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ คือถ้าสารภาพกัน เชื่อผมเถอะว่าไม่มีคนอ่าน แต่ยังมีคนที่ได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์นี้อยู่

ผมเรียกร้องมาตลอด เวทียุทธศาสตร์ต้องยุบ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือเครื่องมือ ที่จะสร้างความยืดหยุ่นให้รัฐไทยในการรับมือกับกระแสโลกหรือไม่ คำตอบคือ ‘ไม่ เพราะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ใช่ยุทธศาสตร์”

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าวต่อว่า ทุกวิชาการบริหารรัฐทั้งหมด มันตอบคำถามในโลกที่มีวิกฤต ว่าทางออกเดียวคือ ‘การปรับตัว’ แล้วรัฐไทยจะปรับตัวอย่างไร

“ปีกขวาจัด จะมีข้อเรียกร้องเดียว ‘ไทยต้องไม่ยุ่งกับใครในเวทีโลก’ มักมีอาการคล้าย โดนัลด์ ทรัมป์ คือทุกอย่างต้องอยู่ในบ้าน ดังนั้น ปีกขวาไม่พึงประสงค์ให้ไทยมีบทบาทในเวทีโลก แต่ถ้าจะมีบทบาท ก็ต้องมีบทบาทซัพพอร์ตอำนาจนิยาม เช่น รัฐประหารในเมียนมา

หรืออีกมุมหนึ่ง ‘นโยบายทางประเทศไทยต้องเป็นกลาง’ ตกลงแล้วความเป็นกลางที่ว่าคืออะไร หรือมีความหมายเดียว ไทยเราจะต้องไม่มีบทบาท หรืออีกคำที่นักรัฐศาสตร์มักพูด ‘ไทยจะเป็นสนลู่ลม’ คำถามคือ ถ้าลมแรง 2 ด้าน สนจะลู่ไหวไหม หรือว่าต้นสนหักไปตั้งแต่รัฐประหารปี 2557”

“หรืออีกส่วนหนึ่งเป็นกระแสเสรีนิยม หรือบรรดา Globalism มีคำตอบเดียวที่ไทยควรเดินไปตามกระแสโลก แต่ก็มีคำถามเหมือนกันว่าจะเดินอย่างไร เช่นวันนี้ถ้าญัตติของการโหวตเรื่องสงครามยูเครน เข้าสู่เวทีสหประชาชาติ (UN) แล้วไทย จะยังยื่นโหวตในลักษณะที่ไม่ออกเสียง อยู่หรือไม่” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติระบุ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าวต่อว่า ปัญหาสงครามกลางเมืองในเมียนมา ที่ใกล้บ้านเรา มีการเปิดเวทีบางส่วน แต่คำถามคือเวทีแบบนี้ก็มีประโยชน์กับรัฐไทยหรือไม่ คำตอบคือ ‘มี’ เพราะถ้าสงครามเมียนมาจบ คนที่จะได้รับประโยชน์สำคัญคือ ไทย จีน และอินเดีย

“คำตอบผมมีอย่างเดียว ไทยเท่านั้นที่ทำให้สงครามในเมียนมาจบ แต่ต้องจบบนเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องชาติพันธุ์ด้วย ดังนั้นเมื่อคิดอย่างนี้ กระแสแบบเดิมที่เราพรางตัวออกจาก ‘เรดาร์โลก’ เราเป็น ‘รัฐโดดเดี่ยวนิยม’ กระแสที่บอกว่าไทยต้องเป็นกลางก็ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ทั้งหมดกลับมาสู่เรื่องเดียว เราต้องการเวทีอย่างที่มติชนทำ คือเปิดเวทีให้เกิดข้อถกเถียง เราไม่จำเป็นต้องเถียงกันจนโกรธกัน จนมิตรภาพเสียหาย แต่อย่างน้อยเราต้องถกเถียงเพื่อเห็นอนาคตร่วมกัน ไม่อย่างนั้นประเทศไทยไปต่อไม่ได้” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าว

เมื่อพิธีกรถามว่า การกลับมาของกลุ่มขวาสุดโต่ง (far-right) ส่วนตัวสงสัยว่าทำไมถึงมีการพูดถึงรัฐประหาร มองความผันผวนในสังคมไทย สรุปแล้ว ‘รัฐประหาร’ ยังเป็นประเด็นปัญหาในสังคมไทย หรือเป็นเพียงการกังวลกันเอง ?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าวว่า ตอบจากโจทย์สงครามโลก คือเสียงของ ‘ความกังวล’ แต่ตนเห็นด้วยว่า ‘การรัฐประหาร’ ก็ยังเป็นประเด็นอยู่ จากที่ตนเขียนบทความลงมติชนออนไลน์ ชื่อว่า ‘กระแสรัฐประหาร 2567’ ยังมีคนอ่านทะลุแสนไปเรียบร้อย

“รัฐประหารตอบอะไรเรากับกระแสโลก มันตอบอย่างเดียวว่า ‘เราละเมิดระเบียบระหว่างประเทศ’ ซึ่งเป็นระเบียบที่เป็นเสรีนิยม และไม่ตอบรับกับการรัฐประหาร นั่นเป็นเหตุผลที่อาจทำให้สังคมไทยปีกขวารู้สึกหงุดหงิด มันกลายเป็นปัญหาเพราะเราละเมิดความเป็นเสรีนิยม

กับอีกมุมหนึ่งผมว่าโจทย์สำคัญคือ กระแสปีกขวา ปีนี้ขอย้ำว่า มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีการเลือกตั้ง อังกฤษยุบสภาแล้ว คงจะเลือกตั้งในอีกสักระยะหนึ่ง การเลือกตั้งในสภาพยุโรปกำลังจะเกิด ซึ่งน่าสนใจมาก ปีนี้มากกว่า 45% ของคนทั่วโลก เดินเข้าคูหากาบัตร

“ทั้งหลายทั้งปวง การเลือกตั้งใหญ่ที่สุดอยู่ที่เดือนพฤศจิกายน ตกลงว่าเป็นการเลือกตั้งของอเมริกา หรือการเลือกตั้งของการเมืองโลก เพราะถ้า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ มา มติชนเปิดเวทีอีกรอบได้เลย มีประเด็นต้องคุยอีกเยอะแน่ๆ แต่จากกระแสปัจจุบัน สังคมไทยอาจจะต้องเรียนรู้ ขวายุโรป ขวาตะวันตก ไม่ใช่ขวาไทย ขวาไทยเป็นขวาล้าหลัง ปีกขวาจัดไทยคิดได้แค่รัฐประหาร แต่ปัจจุบัน ปีกขวายุโรป (right-wing populism) บางส่วน ไปผูกโยงกับนโยบายต่างประเทศ เช่น ขวาแบบอินเดีย หรือขวาแบบตุรกี เป็นตัวอย่าง คือรัฐในเวทีโลกที่เป็น Swing state บราซิล อินเดีย ตุรกี เป็นตัวอย่าง

‘ขวาจัดไทย’ เป็นขวาจัดที่ล้าหลังที่สุด และคิดอยู่เรื่องเดียว มีความฝันอยู่กับการรัฐประหารไม่สิ้นสุด” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image