ว่าด้วยการ‘ลาประชุม’ของ‘สนช.’ โดย อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

 

ต่อเนื่องจากประเด็นการแถลงชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการลงมติของสมาชิก 7 สนช. ที่ถูกตั้งคำถามการทำหน้าที่จากไอลอว์ (โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)) ซึ่งผลของการแถลงก็ออกมาอย่างที่หลายคนได้ทราบจากสื่อก็คือ ไม่ใช่สมาชิก สนช.ทั้ง 7 คนที่ไอลอว์ได้ชี้ให้เห็นว่าน่าจะเข้าข่ายการขาดสมาชิกภาพ แต่มีเพียง 4 คนเท่านั้นที่มีสถิติการมาลงมติน้อยกว่า 1 ใน 3 แต่การไม่ได้มาลงมติก็ได้มีการลาประชุมอย่างถูกต้อง จึงไม่ได้ถูกนับว่าเป็นการขาดการลงมติ เช่นนี้แล้วสถานะของการเป็นสมาชิกภาพของ สนช.ก็ยังคงอยู่

ซึ่งผลของการเปิดประเด็นนี้จากไอลอว์และการแถลงข้อมูลของเลขาธิการวุฒิสภา (ซึ่งทำหน้าที่เลขาธิการ สนช.) นั้นก็ทำให้สังคมได้ตั้งคำถามต่อเนื่องอย่างมากมาย และหนึ่งในคำถามที่มีมาก็คือความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ของ สนช.ว่าได้ให้ความเอาใจใส่ต่อการทำหน้าที่สภานิติบัญญัติมากน้อยเพียงใด เพราะ สนช.เกือบทั้งหมดนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ สนช.แต่เพียงอย่างเดียว เพราะต่างก็มีตำแหน่งหน้าที่ประจำในหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว การจัดสรรเวลาที่เหมาะสมจึงเป็นประเด็นที่สังคมต้องการคำตอบ

และอีกคำถามคือเรื่องของการลาประชุมแต่ได้รับค่าตอบแทนตามปกติ ซึ่งหากเป็นการลาในองค์กรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน การลาในจำนวนที่มากขนาดนี้ก็ย่อมส่งผลต่อค่าตอบแทนของการทำหน้าที่อย่างแน่แท้

Advertisement

ทั้งสองคำถามข้างต้นเป็นคำถามที่สมควรได้รับคำตอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติและผู้ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี การตั้งคำถามในประเด็นของการไม่มาลงมติหรือการไม่เข้าประชุมของ สนช.นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในอดีตการไม่มาประชุมหรือการขาดการลงมติของนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ก็ได้ถูกตั้งคำถามขึ้นมาเหมือนกันและคำตอบที่ได้ก็คือ การไม่ได้มาประชุมและการขาดการลงมติที่มีการลาประชุมอย่างถูกต้องนั้นจะไม่ถูกนับว่าขาดประชุมที่อาจจะนำไปสู่การสิ้นสุดสมาชิกภาพได้

เช่นนี้แล้ว การตั้งคำถามในประเด็นนี้อีกครั้งจึงไม่อาจส่งผลต่อหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่มาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐสภาได้แต่อย่างใด เพราะระเบียบและข้อบังคับการประชุมที่มีอยู่เอื้อให้พฤติกรรมในรูปแบบนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ได้มีผลกระทบตามมาแต่อย่างใด

Advertisement

ดังนั้น หากพิจารณาประเด็นที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ให้ลึกเข้าไปอีก ก็จะพบว่าการเกิดพฤติกรรมการไม่เข้าประชุมหรือการไม่ได้เข้าลงมติที่พร่ำเพรื่อทั้งของ ส.ส. ส.ว.ในอดีต และของ สนช.ในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นจากระบบที่เอื้อให้เกิดขึ้น

คำถามที่ควรจะต้องตั้งคำถามอีกคำถามในกรณีนี้ก็คือ ทำไมระเบียบและข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาเดิม และที่ถูกปรับปรุงมาเป็นระเบียบข้อบังคับการประชุมของ สนช.นั้นถึงได้มีการเปิดช่องให้เกิดการไม่นับการขาดประชุมหรือลงมติหากเกิดการลงที่ถูกต้องแม้จะมีจำนวนการลาที่เกินความเป็นเหตุเป็นผลไปแล้วได้

ที่สำคัญ ผู้ที่มีหน้าที่อนุมัติให้การลานั้นถูกระเบียบมีหลักในการอนุมัติอย่างไร เพราะการลาประชุมและขาดการลงมติที่มากกว่า 1 ใน 3 นั้นไม่น่าจะเป็นการลาที่จะทำความเข้าใจได้ง่ายๆ

ดังนั้นการชี้แจงจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ควรหยุดอยู่แค่การเอาตัวเลขสถิติมายันกับข้อมูลสถิติของไอลอว์เท่านั้น แต่ควรจะให้ผู้ที่มีอำนาจในการออกระเบียบการประชุมมาชี้แจงถึงเหตุผลของการยินยอมให้การขาดประชุมและไม่ได้ลงมติไม่ต้องนับว่าขาดประชุมหากมีการลาประชุมที่ถูกระเบียบแม้การขาดประชุมนั้นจะมีจำนวนเกินไปจากจำนวนที่รับได้ หรือควรจะถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะต้องมีการจำกัดจำนวนการลาประชุมในลักษณะที่ทำให้การขาดประชุมไม่ต้องถูกนับเพื่อการนำไปสู่การขาดสมาชิกภาพในที่สุดว่าควรจะมีจำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสม

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่มีอำนาจอนุมัติการลาของสมาชิกควรจะชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การอนุมัติอนุญาตให้สังคมได้รับทราบ ไม่อย่างนั้นข้อกังขาต่อการใช้อำนาจในการอนุมัตินั้นก็จะเกิดขึ้นในที่สุด นั่นคือคำถามจะไม่หยุดอยู่ที่ผู้ที่ขอลาแต่จะลามมายังผู้ที่อนุมัติให้ลาได้

และความต้องการของสังคมในตอนนี้ไม่ควรจะหยุดอยู่แค่เพียงการได้รับคำชี้แจงถึงตัวเลขสถิติการประชุมเท่านั้น แต่ควรจะเรียกร้องให้มีการเปิดเผยใบลาการประชุมต่อสาธารณะ

ซึ่งประเด็นในการขอให้มีการเปิดให้ดูใบลาของผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัตินี้ ได้มีความพยายามมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยของการประชุม ส.ส.และ ส.ว.แล้ว แต่คำตอบที่ได้รับจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาก็คือ ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจาก ส.ส.และ ส.ว.นั้นไม่ใช่บุคคลสาธารณะและไม่มีระเบียบที่จะให้เปิดเผยได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีการประชุมของ ส.ว.ในอดีตก็ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อของผู้เข้าร่วมประชุม ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีระเบียบว่าไว้ จึงได้รับข้อมูลเพียงแค่การลงมติอย่างเดียว

แม้ว่าการไม่เข้าร่วมประชุมหรือการไม่ลงมติของ ส.ส.ในอดีตนั้นมักจะเป็นเรื่องของสถานภาพในการเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน นั่นคือสถิติการเข้าประชุมและการลงมติของ ส.ส.รายบุคคลนั้นจะมีตัวเลขสถิติที่ดีเมื่อ ส.ส.คนนั้นๆ เป็นฝ่ายรัฐบาล แต่จะมีตัวเลขที่ลดลงหรือเป็นไปในทางตรงข้ามเมื่อตนเองเป็น ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งในประเด็นนี้ก็ถือเป็นเรื่องของเกมการเมืองในรัฐสภาเพียงเท่านั้น

แต่สำหรับประชาชนแล้วการทำงานเพื่อประโยชน์ของคนที่เลือกก็น่าจะมีน้ำหนักมากกว่าประโยชน์ทางการเมืองส่วนบุคคลหรือของพรรคการเมืองไม่ใช่หรือ

และเมื่อมี สนช.เกิดขึ้น วิถีการปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ก็ได้รับการสืบสานต่อมา จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมการเปิดเผยข้อมูลจึงเป็นการเปิดเผยในประเด็นการลงมติอย่างเดียวไม่รวมประเด็นการเข้าประชุมด้วย เพราะสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามีหน้าที่ในการเป็นสำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงใช้ระเบียบและข้อปฏิบัติที่ใกล้เคียงกัน

แต่ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีซึ่งก็คือคนที่จ่ายเงินเดือนแก่ผู้ที่ทำหน้าที่ในรัฐสภาก็ย่อมมีสิทธิที่จะรู้ว่าคนที่ได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนนั้นมีผลการทำงานและพฤติกรรมในการทำงานเป็นอย่างไร ดังนั้น การเปิดข้อมูลการลาต่อสาธารณะจึงเป็นเรื่องที่เหมาะที่ควร

ถึงที่สุดแล้ว ประเด็นข้อเรียกร้องต่อการเข้าหรือไม่เข้าประชุมหรือการลงมติของ สนช.นั้นไม่ควรหยุดอยู่แค่เพียงการถามถึงความรับผิดชอบจาก สนช.รายบุคคล แต่ควรเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบของข้อระเบียบและวิถีปฏิบัติในการทำงานของผู้ที่มาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในปัจจุบันและอนาคต การมีระเบียบปฏิบัติที่เอื้อให้การทำหน้าที่ที่ไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดควรจะได้รับการแก้ไขไม่น้อยไปกว่าการถามหาความรับผิดชอบรายบุคคล

และในที่สุดการเปิดข้อมูลบุคคลเหล่านี้แก่สาธารณะก็เป็นเรื่องที่ต้องทำและควรทำอย่างเร่งด่วน

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image