สธ. แจง รายได้หมอเกศ แขวนป้ายหมอ ย้ำต้องเข้าคลินิก ไม่งั้นมีความผิด
เมื่อวันที่ 24 มกราคม ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ น.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย หรือ “หมอเกศ” เปิดบัญชีทรัพย์สิน ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีการระบุรายได้จากการแขวนป้าย (หมอ) จำนวน 210,000 บาท ว่า การเปิดสถานพยาบาลในแต่ละแห่งนั้นตามกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ระบุว่า จะต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ผู้ประกอบกิจการ หรือเป็นนักลงทุน 2.ผู้ดำเนินการ ซึ่งกำหนดว่าจะต้องเป็นแพทย์เท่านั้น เนื่องจากจะต้องควบคุมดูแลความเรียบร้อยของสถานพยาบาลนั้น ตั้งแต่เครื่องมือทางการแพทย์ บุคลากร ความสะอาด ความปลอดภัยทางการแพทย์ ไปจนถึงการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของกฎหมายวิชาชีพในการทำงาน และ 3.ผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งทั้งสามส่วนนั้นอาจจะเป็นคนเดียวกันก็ได้
“เป็นสาเหตุว่าคลินิกหรือสถานพยาบาลต่างๆ จึงต้องเชิญหมอ 1 คนมาเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อดูแลความเรียบร้อย ส่วนเรื่องค่าตอบแทนก็เป็นการตกลงระหว่างผู้ประกอบกิจการ และ ผู้ดำเนินดำเนินการ ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้” ทพ.อาคมกล่าว และว่า คำว่าแขวนป้ายหมอจริงๆ อาจเป็นการเขียนสั้นๆ ที่ถูกต้องควรเขียนว่า เป็นผู้ดำเนินการในสถานพยาบาล
ทพ.อาคมกล่าวต่อว่า หากเป็นผู้ดำเนินการในโรงพยาบาล จะเป็นได้เพียง 1 แห่ง แต่ถ้าเป็นคลินิกก็จะเป็นได้ไม่เกิน 2 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะต้องระบุเวลาทำงานอย่างชัดเจน เช่น ตั้งแต่เวลากี่โมงถึงกี่โมงในแต่ละวัน และเวลาที่เข้าดำเนินการในคลินิก หรือสถานพยาบาลในแต่ละแห่ง จะต้องไม่ทับซ้อนกัน
ทั้งนี้ หากเกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการให้บริการในสถานสถานพยาบาลนั้น ผู้ดำเนินการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ เช่น ผู้ดำเนินการไม่ควบคุมดูแลปล่อยให้ผู้ที่ไม่ใช่แพทย์เข้ามาให้บริการทางการแพทย์มีโทษจำคุกถึง 2 ปี หรือถ้าปล่อยประละเลยไม่ดำเนินการตามมาตรฐานสถานพยาบาล โทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท