ครอบครัว ยื่นค้านดุลพินิจ-คำสั่งศาลแพ่ง คดีจนท.กรมอุทยาน ละเมิดต่อร่างกายและชีวิตบิลลี่

บิลลี่

ภรรยาบิลลี่-ทนายความยื่นคัดค้านดุลพินิจและคำสั่งศาล คดี จนท. กรมอุทยานฯ ทำละเมิดต่อชีวิตและร่างกายของบิลลี่ พอละจี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยาของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ พร้อมด้วยทนายความยื่นคำแถลงคัดค้านดุลพินิจและคำสั่งศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ พ.1459/67 ซึ่งครอบครัวของบิลลี่ เป็นโจทก์ทั้งเจ็ด ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นจำเลย กรณีเจ้าหน้าที่ภายในสังกัดของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทำละเมิดต่อร่างกายและชีวิตของบิลลี่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยเรียกค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงินต้นกว่า 26 ล้านบาท

สืบเนื่องจากในการนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 โจทก์ได้นำพยานมาพร้อมเบิกความตามที่ศาลได้ออกหมายเรียก ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีได้แจ้งว่า ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าควรจำหน่ายคดีชั่วคราวเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญา และให้งดสืบพยานโจทก์พยานจำเลยทั้งหมดไปก่อน เพื่อรอฟังผลคดีอาญา

ทนายความโจทก์ได้แถลงต่อศาลว่า ขอให้ศาลสืบพยานผู้เชี่ยวชาญที่มาจากต่างประเทศที่มาศาลในวันนี้ไว้ก่อน แล้วจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากพยานผู้เชี่ยวชาญปากนี้เป็นพยานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญแห่งคดีและได้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเดินทางจากต่างประเทศมายังศาลครั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่ศาลยืนยันไม่อนุญาตให้มีการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ เพราะเป็นพยานที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี แต่ศาลก็มิได้ตัดพยานปากนี้ โดยโจทก์สามารถนำพยานผู้เชี่ยวชาญมาสืบพยานได้ ภายหลังจากทราบผลคดีอาญาแล้ว ทั้งนี้ได้ศาลได้แจ้งว่ามีการหารือกับผู้บริหารของศาลและผู้บริหารศาลเห็นพ้องด้วย

โจทก์ทั้งเจ็ดเห็นว่า ศาลใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งไม่ชอบด้วยหลักเหตุผล ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ขัดต่อหลักการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และศาลย่อมมีอำนาจสืบพยานโจทก์ที่มาอยู่ต่อหน้าศาลตามที่ศาลได้มีหมายเรียกให้พยานมาในวันนัดไว้เสียก่อนแล้วค่อยมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคดีอาญา ย่อมทำได้โดยชอบและเป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง อีกทั้งแม้ว่าศาลจะไม่ตัดพยานและให้โจทก์ทั้งเจ็ดนำพยานผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศปากนี้มาสืบในภายหลังได้หากผลคดีอาญาถึงที่สุดแล้วมีการนัดสืบพยานโจทก์จำเลย ก็ตาม แต่ก็เป็นการยากที่โจทก์ทั้งเจ็ดจะนำพยานปากผู้เชี่ยวชาญนี้ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรไทยมาสืบในภายหลัง โจทก์ทั้งเจ็ดเห็นว่าเมื่อความจริงปรากฏต่อศาลดังนี้แล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและตามเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 แม้ทนายความและตัวโจทก์ได้ร้องขอให้ศาลพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบว่าอย่างน้อยขอให้ศาลสืบพยานผู้เชี่ยวชาญที่มาจากต่างประเทศเพียงปากเดียวไว้ก่อน แล้วจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว แต่ศาลก็ไม่ได้รับฟังแต่อย่างใด

โจทก์เห็นว่าการใช้ดุลพินิจและคำสั่งของศาลขัดต่อหลักการอำนวยความยุติธรรมตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 มาตรา 68 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร”

ADVERTISMENT

สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง “บางกลอย-ใจแผ่นดิน” ได้ถูกจับกุมและควบคุมตัวไปโดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในขณะนั้นกับพวก หลังจากนั้นไม่มีใครทราบชะตากรรมของบิลลี่อีกเลย จนกระทั่งปี 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้สืบสวนสอบสวนจนกระทั่งพบชิ้นส่วนกระดูกที่พิสูจน์ได้ว่า มีไมโทคอนเดรียตรงกับแม่ของนายพอละจี ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลย หมายเลขคดีดำที่ อท 166/65 ข้อหาร่วมกันฆาตกรรมอำพรางโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมกันติดตามคดีนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าบิลลี่และครอบครัวที่เดินหน้าต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง และได้รับการชดเชยเยียวยา รวมถึงสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดกับนักสิทธิมนุษยชนหรือคนใดได้อีก และยุติวัฒนธรรมลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างแท้จริง