กทม.เปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ก. เขตหนองจอก 31 มี.ค.-4 เม.ย.68
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรณีศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้มีการเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตหนองจอก ใหม่ แทน นายณรงค์ รัสมี ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 นายณรงค์รู้เห็นเป็นใจให้นายประภาส วัฒนผ่องใส นำน้ำดื่มชนิดบรรจุขวดพลาสติกระบุข้อความว่า “ส.ส.ศิริพงษ์ รัสมี ณรงค์ รัสมี และเพื่อน” ไปมอบให้แก่วัดหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ในงานยกช่อฟ้าอุโบสถ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 65 (2) ซึ่งทำให้นายณรงค์ได้ประโยชน์ในการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงกำหนดเปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก แทนตำแหน่งที่ว่าง ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-4 เมษายน 2568 ณ ห้องอมรพิมาน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ในการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น จะเปิดลงทะเบียนเวลา เพื่อแสดงความประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ณ โต๊ะลงทะเบียน หน้าห้องอมรพิมาน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ฯ เมื่อลงทะเบียนเวลาแล้ว ให้นั่งรอในบริเวณที่นั่งที่จัดไว้ภายในห้องอมรพิมานจนกว่าจะถึงเวลารับสมัครคือ 08.30 น. เมื่อถึงเวลา 08.30 น. ให้เจ้าหน้าที่รับลงทะเบียนเวลาขีดเส้นใต้ทะเบียนลงเวลา

เมื่อถึงเวลา 08.30 น. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครจะกล่าวเปิดการรับสมัคร และเชิญผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียนเวลาไว้ก่อนเวลา 08.30 น. ประชุมกันเพื่อทำความตกลงกันว่าผู้ใดจะลงสมัครก่อนหลัง ถ้าตกลงกันไม่ได้จะใช้วิธีการจับสลาก 2 ครั้ง จับสลากครั้งที่ 1 ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่รับสมัคร (ทำการแทน ผอ.กต.ทถ.กทม.) ดำเนินการเขียนชื่อผู้สมัครที่ลงทะเบียนเวลาไว้ก่อนเวลา 08.30 น. ลงในภาชนะที่จะจับสลาก และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเป็นผู้จับสลาก เพื่อให้ทราบว่าผู้สมัครผู้ใดจะเป็นผู้มีสิทธิจับสลากครั้งที่ 2 เป็นลำดับก่อนหลัง
โดยการจับสลากครั้งที่ 2 ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเขียนหมายเลขเท่าจำนวนผู้สมัคร ใส่ลงในภาชนะที่จะจับสลากเท่าจำนวนผู้สมัครที่ลงทะเบียนไว้ แล้วเชิญผู้สมัครตามลำดับที่จับสลากได้ในครั้งที่ 1 ขึ้นมาจับสลาก ผลการจับสลากครั้งที่ 2 คือลำดับที่ในการยื่นใบสมัคร ซึ่งเมื่อทราบผลการจับสลากจัดลำดับการยื่นใบสมัครแล้วให้ดำเนินการรับสมัครตามลำดับที่จับสลากได้
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครเบื้องต้น มีดังนี้ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (ดูจากทะเบียนบ้าน/สูติบัตร) มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง คือผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม 2543 (ดูจากทะเบียนบ้าน/บัตรประชาชน) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพฯ ในวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครให้ดูหลักฐานการเสียภาษีดังกล่าวของผู้สมัครในปี 2565, 2566 และ 2567 หรือหนังสือยืนยันการไม่เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษีของผู้สมัคร
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งในเบื้องต้นเท่าที่ตรวจสอบได้ เช่น 1.เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือติดยาเสพติดให้โทษ หรือไม่ 2.อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ 3.เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิเนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 4.ตรวจดูลักษณะต้องห้ามอื่น ๆ เท่าที่สามารถตรวจได้ในเบื้องต้น นอกจากนี้ จะมีการตรวจสอบข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย