บิ๊กป้อม สั่งห้ามถาม ลั่น ยังไง“บิ๊กตู่” ก็ไม่นั่งเก้าอี้ ปธ.ยุทธศาสตร์ชาติ

“ป้อม” ยัน ไม่ออกพรก. จี้ปชช.ลงประชามติ ระบุไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษดูแลสถานการณ์ ลั่น “บิ๊กตู่” ไม่นั่งเก้าอี้ ปธ.ยุทธศาสตร์ชาติ ยันไม่กังวลวิกฤตช่วง “เปลี่ยนผ่าน” โต้ จนท.ไม่ได้คุกคาม “ปู” ชมสวยทหารถึงไปตาม

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงแนวคิดการออก พระราชกำหนด (พรก.) ให้ประชาชนไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้ตนยังไม่ทราบ แต่คิดว่าคงไม่ต้องออกพรก. เพราะเราน่าจะใช้วิธีการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ผ่านสื่อ และหน่วยงานต่างๆที่จะต้องช่วยกัน ตนคิดว่าน่าจะยึดแนวทางนี้ดีกว่า ขณะนี้การเชิญชวนประชาชนให้ออกมาลงประชามติเราก็ดำเนินการโดยตลอด ซึ่งมีนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ดำเนินการอยู่ อีกทั้งหน่วยทหารทหารทั่วประเทศ และกระทรวงมหาดไทยที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ก็ได้ช่วยกันรณรงค์ อย่างไรก็ตามในช่วงมีการลงประชามติจะไม่มีการออกกฎหมายพิเศษ เพื่อมาดูแลความเรียบร้อย เพียงตนอยากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์มากๆ เพราะร่างรัฐธรรมนูญเป็นของทุกคน ไม่อยากให้นอนหลับทับสิทธิ์

เมื่อถามว่าทางรัฐบาล และคสช.ห่วงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นที่พอใจกับประชาชน หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ดำเนินการอยู่ เพื่อให้รัฐธรรมนูญที่เป็นสากล ส่วนข้อเสนอแนะของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ทั้ง 16 นั้น ตนคิดว่าก็แล้วแต่กรธ.ที่จะต้องรับไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน เรามีเพียงหน้าที่เสนอแนะ แล้วทางกรธ.ต้องดูข้อเสนอของทุกๆฝ่าย ไม่ใช่ข้อเสนอของครม.เท่านั้น

เมื่อถามว่าเป้าหมายข้อที่ 16 คืออะไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างให้เป็นแบบสากลที่จะมีบทเฉพาะกาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ตามเจตนารมณ์คสช.ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เป็นการวางกรอบกว้างๆ ไม่ได้เป็นการกำหนดเจาะจง เพียงแต่การดำเนินการดังกล่าวก็อยากให้มีหนทางการทำงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พยายามทำเรื่องนี้ ขณะเดียวกันที่ต่างประเทศก็มีเรื่องแบบนี้ที่ทำให้ประเทศของเขามีความเรียบร้อย อีกทั้งก็ไม่มีเรื่องตัดขากันแบบนี้ ซึ่งตนอยากให้ประเทศชาติมีความสงบ และอยากให้เดินหน้าต่อไปมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

Advertisement

เมื่อถามว่ามีความจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือไม่ รองนายกฯประวิตร กล่าวว่า คงไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งคณะอะไรขึ้นมา เพราะกลไกต่างๆก็จะอยู่ที่ ส.ว. ซึ่งจะเป็นแค่ช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้นที่จะทำให้การเลือกตั้ง ส่วนส.ว.ก็แต่งตั้งกันไป เพื่อให้ทำงานด้วยกันได้ และในอนาคตจะมีการเลือกตั้งได้อย่างไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.จะเป็นประธานยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่มี อย่ามาถามแบบนี้ นายกฯจะเสียหมด แล้วจะมีคนออกมาต่อต้าน ซึ่งขอให้เป็นหน้าที่ของส.ว.ดีกว่า นายกฯจะไม่ยุ่ง เพราะเราตั้งใจที่จะทำให้ดี ผมขอให้ร่วมมือกันในเวลาปีกว่าที่เหลือ เพื่อให้ออกมาชัดเจนระหว่างฝ่ายที่เลือกตั้งกับฝ่ายที่แต่งตั้ง ส่วนจะเกิดวิกฤตในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือไม่นั้น ผมคิดว่าถ้ากังวลเราคงไม่ทำแบบนี้ ซึ่งผมไม่กังวลว่าจะเกิดวิกฤตในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในเมื่อทำแล้วก็ต้องทำให้ดี ที่ผ่านมาเราทำมา2 ปีแล้วก็ต้องช่วยกัน ผมหวังให้สื่อช่วยสร้างความรับรู้ให้ประชาชน เราไม่อยากไปตอบโต้ใคร อยากให้เห็นว่ารัฐบาล และคสช. รวมทั้งหน่วยงานต่างๆร่วมมือกัน ตลอดจนอดีตนักการเมืองก็ต้องช่วยกัน เราต้องค่อยๆเปลี่ยน และค่อยๆเดิน จะไปหักมุมทีเดียวคงไม่ได้ ”

เมื่อถามว่าหนักใจกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้หรือเปล่า พล.อ.ประวิตร กล่าว ไม่หนักใจ และไม่กังวล เพราะรู้ว่านักการเมืองอยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามโรดแมป จะต้องยึดตามนี้จะไปย้อนกลับไปกลับมาไม่ได้”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image