การเมืองใหม่ที่คนไทยอยากได้ แก้อดีต กำหนดอนาคต

ภายหลังที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้สังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคมแห่งประชาธิปไตยอีกครั้ง

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าการล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยบ้านเราในรอบ 85 ปีที่ผ่านมามีปัจจัยที่หลากหลายในการเป็นกับดักและหลุมดำ ที่ยังไม่สามารถเข้าสู่วิถีประชาธิปไตยแบบสากลเหมือนนานาประเทศได้

หากย้อนกลับไปตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะพบว่าคนไทยได้สัมผัสกับรัฐธรรมนูญใหม่เฉลี่ยทุก 4 ปี 3 เดือน ต่อการมีรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ หรือรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะมีอายุเฉลี่ย 4 ปี 3 เดือน ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รัฐประหาร

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ถือได้ว่าเป็นกฎหมายสูงสุดที่ผู้ยกร่างต้องการนำสังคมไทยและคนไทยให้ห่างไกลจากการเมืองแบบเดิมๆ ที่คอยฉุดรั้งการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากนับระยะเวลาในการยกร่าง กว่าจะคลอดออกมาได้ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี 5 เดือน โดยมีคณะกรรมาธิการยกร่าง 2 ชุด คณะกรรมาธิการชุดแรกภายใต้การนำของ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่น่าเสียดายที่กรรมาธิการชุดนั้นไม่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญถูกใจผู้มีส่วนได้เสียในภาพรวมได้ จึงถูกบรรดาผู้ทรงเกียรติ สภาปฏิรูปแห่งชาติคว่ำกลางสภา แต่ด้วยความสำคัญและความจำเป็นที่คนไทยจะต้องมีรัฐธรรมนูญ หัวหน้า คสช.จึงได้แต่งตั้งให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานในการขับเคลื่อนต่อ

Advertisement

จนปรากฏนำไปสู่การพระราชทานเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา

เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น คนไทยที่ติดตามและสนใจการเมืองและการปกครองต่างตั้งตารอเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งถือได้ว่าเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่วันนี้เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า จากนี้ไปกระบวนการต่างๆ ก่อนจะถึงวันแห่งการรอคอยของประชาชนนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาอีก 19 เดือน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ขยายความว่า ในอีก 19 เดือนนั้นจะเป็นการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ใช้เวลา 240 วัน เมื่อร่างเสร็จแล้วจะส่งให้ สนช.พิจารณาออกเป็นกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลา 60 วัน และหาก สนช.เห็นชอบ ยังต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาแก้ไขอีก 30 วัน เมื่อ สนช.เห็นชอบการแก้ไขแล้วจึงจะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายภายใน 30 วัน เพื่อรอประกาศใช้ภายใน 90 วัน

Advertisement

ที่น่าสังเกตจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างในอดีต การจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นต้องเป็นรัฐบาลผสมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากหัวหน้าพรรคการเมือง

ด้วยสาระสำคัญที่ในอนาคตรัฐบาลที่มีบทบาทในการบริหารจัดการประเทศต้องเป็นรัฐบาลในลักษณะการจัดสรรปันส่วนจะสามารถทำให้สังคมไทยก้าวสู่การพัฒนาและเป็นการเมืองใหม่ได้จริงมากน้อยแค่ไหน โจทย์หรือคำตอบเป็นสิ่งที่สังคมต้องรอ แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อกฎหมายสูงสุดถูกออกแบบมาอย่างนี้ ผู้ที่จะเข้าสู่กระแสการเมืองระดับชาติในอนาคตโดยเฉพาะผู้ที่คนไทยยกให้เป็นผู้ทรงเกียรติ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา บุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องปรับหรือปฏิรูปตนเองให้เป็นต้นแบบของนักประชาธิปไตยใหม่

หากบุคคลเหล่านี้ยังมีวังวนอยู่ในมิติเดิมที่นำไปสู่ความขัดแย้ง หรือไม่สามารถเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยได้อย่างแท้จริง ก็อย่าหวังได้เลยว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนหรือเป็นการเมืองใหม่ ที่สำคัญ วงจรของรัฐประหารก็จะกลับมาเยือนอย่างที่เคยเป็นมา

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้การเมืองไทยถอยหลังกลับไปสู่การเมืองแบบเดิมๆ หรือการเมืองที่นำไปสู่ปลายกระบอกปืน วันนี้คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกันแก้อดีตและกำหนดทิศทางอนาคตการเมืองใหม่ด้วยอุดมการณ์ที่แน่วแน่ เพื่อรักษาไว้ให้ประชาธิปไตยอยู่กับสังคมอย่างยาวนาน

และคำตอบสุดท้ายของการเมืองใหม่ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเท่านั้น แต่แก่นแท้และหัวใจที่สำคัญคือการทำให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้ เข้าใจ เข้าถึงในระบอบประชาธิปไตย มีส่วนร่วมเคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง และมีสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน

ที่สำคัญ วันนี้ประเทศไทยอยู่ในยุคของการขับเคลื่อนการปฏิรูป ดังนั้น บุคคลที่จะต้องเป็นต้นแบบในการปฏิรูปคงจะต้องเริ่มจากการปฏิรูปตนเองก่อน อันประกอบไปด้วยฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีในการที่จะทุ่มเทเพื่อการบริหารจัดการบ้านเมืองให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 พ้นปัญหาและกับดักต่างๆ อย่างในอดีต

ในขณะเดียวกันผู้ที่ได้ซื่อว่าผู้ทรงเกียรติที่นั่งอยู่ในสภา ทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สมาชิกกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับความวางใจของ คสช. ที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยเฉพาะการเข้าร่วมประชุมอย่างต่อเนื่อง (ไม่ปล่อยให้ห้องประชุมโหรงเหรง) เพื่อให้คุ้มกับเกียรติและเงินภาษีอากรของประชาชนในแต่ละเดือน

หากการปฏิบัติหน้าที่ของทุกท่านเป็นไปตามครรลองแห่งบทบาทหน้าที่ของสมาชิกผู้ทรงเกียรติ เชื่อได้ว่าจะไม่มีใครกล่าวหาและเป็นขี้ปากของชาวบ้าน ที่กล่าวว่าทำตัวเหมือนนักการเมืองบางคนในอดีตที่ไม่เป็นนักการเมืองอย่างแท้จริง หรือว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง

การเมืองไทยที่ผ่านมา หากย้อนไปถึงเหตุและผล จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในกระแสพระราชปรารภของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ความตอนหนึ่ง

“แม้ได้มีการยกเลิกแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสมหลายครั้ง แต่การปกครองก็ไม่ได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่นเรียบร้อยเพราะยังประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนจนทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำเป็นต้องป้องกันแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์การเมืองการปกครองที่ยังไม่เหมาะสมแก่ภาวการณ์บ้านเมืองและกาลสมัย ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤตที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล”

ที่สำคัญ ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ยังทรงมีกระแสพระราชปรารภที่คนไทยจักต้องน้อมนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 อยู่กับสังคมไทยตราบนานเท่านาน ความตอนหนึ่งว่า

“ขอปวงชนชาวไทยจงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะปฏิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และนำมาซึ่งความผาสุกสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลชัย อเนกศุภผล สกลเกียรติยศสถาพรแก่อาณาประชาราษฎรทั่วสยามรัฐสีมา สมดั่งพระบรมราชปณิธานปรารถนาทุกประการเทอญ”

มิติใหม่ในการนำพาให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แก้ไขและขจัดความชั่วร้ายในอดีตนั้น ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากสภาพทางวิกฤตของบ้านเมืองและมีการสั่งสมบทเรียนจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 จึงมีจุดเด่นที่สำคัญคือ ยืนยันในจุดที่ดีของรัฐธรรมนูญในอดีต, สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมเข้ามาจะต้องทำให้บ้านเมืองเดินหน้า ไม่ใช่วนหรือเวียนอยู่กับที่, ผลักดันให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าใน
จุดที่บ้านเมืองอื่นมี, สิ่งที่ประชาชนสัมผัสได้ เป็นต้น นั่นคือแนวคิดที่อยู่บนความเชื่อมั่นของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ต้องการเห็นเมืองไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีอนาคต

แต่ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะมีสาระสวยหรูแค่ไหน หากคนไทยและผู้มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการบ้านเมืองแห่งอนาคตยังคงไว้ซึ่งการเมืองแบบไทยๆ ดังอดีตที่ผ่านมา ก็อย่าหวังได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะช่วยเสริมเติมเต็มให้สังคมและประเทศชาติก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้อย่างแท้จริง

 รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image