ยุทธวิธีการหั่นซาลามี่ ในยุทธศาสตร์การขยายดินแดนของจีน … โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ซาลามี่เป็นไส้กรอกเนื้อหมักแห้งทำมาจากเนื้อสัตว์หลายประเภท ในอดีตซาลามี่ทำกันมากในหมู่ชาวบ้านในยุโรปตอนใต้ เพราะสามารถเก็บไว้ได้นานเป็น 10 ปี โดยไม่ต้องใส่ตู้เย็นใช้ทดแทนความขาดแคลนของเนื้อสด คำว่า Salami มาจากภาษาอิตาเลียนว่า Salame ว่า เนื้อหมักเค็มนั่นเองเวลาจะกินก็หั่นเป็นชิ้นบางๆ กินดิบๆ หรือเอามาประดับหน้าพิซซ่าก็อร่อยดี

อีทีนี้คำว่า “การหั่นซาลามี่-salami slicing” มีความหมายถึงการแอบทำครั้งละเล็กละน้อยค่อยๆ สะสมผลของการกระทำเหล่านั้น ซึ่งส่วนมากจะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องหรือผิดกฎหมายมักมีความหมายในแง่ลบซึ่งดูจะเป็นยุทธวิธี (tactics) ของจีนตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2492 ในยุทธศาสตร์ (strategy) ของการขยายอำนาจและอิทธิพลของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันยาวนานโดยเน้นใช้กำลังทางนาวีและกองทัพอากาศขยายอำนาจและอิทธิพลออกไปทางทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้

ส่วนทางกองทัพบกของจีนก็ขยายอำนาจและอิทธิพลบริเวณพรมแดนกับอินเดียด้วยการรุกคืบขยายดินแดนทีละเล็กทีละน้อยเพื่อความได้เปรียบทางยุทธวิธีทางการทหารตลอดมานับตั้งแต่ทำสงครามแย่งพรมแดนกับอินเดียเมื่อ พ.ศ.2505 เป็นต้นมา รวมทั้งใช้พลังทางเศรษฐกิจยึดหัวหาดสร้างฐานทัพเรือ

สำหรับกองทัพเรือจีนตามประเทศต่างๆ อาทิ ศรีลังกา และปากีสถาน เพื่อขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย

Advertisement
บริเวณที่ขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดีย (สีเหลือง)
ถนนที่จีนสร้าง (ประแดง) และช่องคอไก่ (แดง)

ตัวอย่างในอดีตของยุทธวิธีการหั่นซาลามี่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่สถาปนาประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2492 เป็นต้นมาก็คือการใช้กำลังทหารเข้าผนวกรวมดินแดนซินเจียงของชาวอุยกูร์และทิเบตซึ่งเป็นประเทศเอกราชเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผลให้ดินแดนของจีนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

และจาก พ.ศ.2497 ถึง พ.ศ.2505 จีนได้ดำเนินยุทธวิธีการหั่นซาลามี่โดยส่งทหารเข้ายึดครองจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบเช่น “จุดสูงข่ม-ที่ราบสูง, บริเวณยอดเขา” บริเวณพรมแดนอินเดียกับจีนจนสามารถเข้ายึดครองที่ราบสูงอัคไซชินจากดินแดนจัมมู-แคชเมียร์ของอินเดียซึ่งมีเนื้อที่ขนาดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้จากสงครามจีน-อินเดียในปี พ.ศ.2505

จากนโยบายการหั่นซาลามี่นี่เองทำให้จีนเข้ายึดหมู่เกาะพาราเซลใน พ.ศ.2517 และยึดครองแนวปะการังจอห์นสันใน พ.ศ.2531 และล่าสุดจีนเข้ายึดครองแนวปะการังสกาโบโรใน พ.ศ.2555 ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ยอมเคารพในเส้นเขตแดนทั้งทางกายภาพและทางรัฐกิจของทวีปเอเชียเลยและจีนกำลังพยายามขีดเส้นเขตแดนใหม่อยู่อย่างแข็งขัน

Advertisement

แต่ในวันที่ 6 มิถุนายนปีนี้ ยุทธวิธีการหั่นซาลามี่ที่จีนใช้ได้ผลเสมอมา ถูกอินเดียใช้ไม้แข็งโต้กลับโดยการส่งทหารไปเผชิญหน้าและขัดขวางการสร้างถนนบนที่ราบสูงโดแคลมซึ่งอยู่ในเขตแดนของประเทศภูฏาน (เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีขนาดเล็ก และมีภูเขาเป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยระหว่างประเทศอินเดียกับประเทศจีน ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนและการทหารของประเทศภูฏานอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลอินเดีย เนื่องจากภูฏานเกรงว่าอาจจะถูกจีนรวบหัวรวบหางยึดครองแบบทิเบตจึงได้ทำสนธิสัญญามิตรภาพกับอินเดีย

พูดง่ายๆ คือขอให้อินเดียคุ้มครองจากการคุกคามของจีนนั่นแหละ

ขณะนี้กองทหารของทั้งจีนและอินเดียก็ได้เผชิญหน้ากันอยู่แต่ยังไม่มีการปะทะกันแต่อย่างไรแต่การสร้างถนนบนที่ราบสูงโดแคลมของจีนจึงจำเป็นต้องหยุดชะงักไป

ความจริงพรมแดนระหว่างจีนกันกับอินเดียซึ่งยาวเหยียดถึง 3,488 กิโลเมตร จุดที่ขัดแย้งกันอย่างมากนั้นอยู่ที่บริเวณสีเหลือง (ดูรูป) คือด้านตะวันตกเฉียงเหนือบริเวณรัฐจัมมูและแคชเมียร์และทางตะวันออกสุดบริเวณรัฐอรุณาจัลประเทศซึ่งจีนอ้างว่าเป็นของจีนเรียกว่าทิเบตใต้ แต่บริเวณที่ราบสูง
โดแคลมนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดที่ดินแดนของอินเดีย จีนและภูฏานบรรจบกันอีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของช่องซิลิกุรีหรือช่องคอไก่ซึ่งเป็นดินแดนที่แคบที่สุดของอินเดียเข้าสู่หุบเขาชุมไบและเป็นชุมทางการคมนาคมที่สำคัญที่สุดที่เชื่อมอินเดียส่วนใหญ่เข้ากับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียอันได้แก่
อรุณาจัลประเทศ นาคาแลนด์และอัสสัม เป็นอาทิ

ดังนั้น การที่อินเดียเลือกที่จะเผชิญหน้ากับยุทธวิธีการหั่นซาลามี่ของจีนจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างเด็ดขาดหากพิจารณาในแง่ภูมิรัฐศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image