“นักการเมือง-อจ.”วิพากษ์ คสช.ชงวีซ่าส.ว.นั่งยาว

(จากซ้าย) วิรัตน์ กัลยาศิริ ยุทธพร อิสรชัย พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

หมายเหตุ – ข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งมอบให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยเสนอให้กำหนดในบทเฉพาะกาล เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ควรมาจากการสรรหา มีวาระ 5 ปี และให้ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 102 ในบทถาวรให้บังคับใช้อีก 5 ปี จะเป็นการสืบทอดอำนาจ ส.ว.นานนับ 10 ปี หรือไม่นั้น

อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.

ประเด็นที่มาของ ส.ว.และประเด็นข้อเสนอที่ คสช.ส่งมานั้น กรธ.จะพิจารณาในการประชุมวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งข้อเสนอของ คสช.ได้อ่านแต่เพียงหลักการ แต่ยังไม่เคยอภิปรายว่าดีหรือไม่ดีอย่างไรหรือจะดำเนินการอย่างไร

วิธีการคิดในส่วนของบทเฉพาะกาล หลักการทั่วไปข้อเสนอที่ส่งมาต้องการให้มี ส.ว.สรรหา วาระ 5 ปี ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากมี ส.ว.ตามข้อเสนอ คสช.ครบ 5 ปีแล้ว และเข้าสู่กลไกตามบทถาวรที่กำหนดให้มี ส.ว.จากการเลือกกันเองหรือเลือกไขว้ มีวาระ 5 ปี จะส่งผลเป็นการสืบทอดอำนาจให้ยาวไปเป็นเวลา 10 ปีหรือไม่ เพราะวิธีการดังกล่าวก็ไม่ยึดโยงกับประชาชนและไม่แตกต่างจาก ส.ว.ที่มาจากการสรรหานั้น มองว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะไม่ได้คิดเรื่อง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่พูดถึง ส.ว.สภาประชาชน สภาพลเมือง ซึ่งเป็นบทบาทที่ประชาชนสามารถเข้ามีส่วนร่วมได้โดยตรง หากบุคคลใดมีคุณสมบัติตรงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ สามารถลงสมัครได้

Advertisement

ดังนั้น ส.ว.หลังจากบทเฉพาะกาล 5 ปีแล้ว กรธ.ยังมีแนวคิดว่าสภาพลเมืองยังเป็นแนวทางที่น่าสนใจ แต่เบื้องต้นต้องรอหารือกับที่ประชุม กรธ.ว่ามีข้อสรุปอย่างไร

วิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

ประเด็น ส.ว.จะมีที่มาได้ 2 วิธี 1.จากการเลือกตั้ง ต้องใช้คนละฐานจาก ส.ส. เพราะมาใช้ฐานเดียวกันก็จะกลายเป็น ส.ส.แปลงรูปเป็น ส.ว. พร้อมทั้งเป็นทาสของนายทุน ขณะเดียวกัน ส.ว.ที่ให้กลุ่มอาชีพเลือกตั้งภายในเป็นสองเท่า จากนั้นก็ให้ประชาชนเลือกตั้งเองให้เหลือเป็นหนึ่งเท่า จะได้ ส.ว.ที่มาคนละฐานจาก ส.ส.

Advertisement

2.ส.ว.สรรหา คิดว่าถ้าได้คนดีมีคุณภาพ กระจายให้ทั่วถึงก็จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าวิกฤตการณ์การเมืองรอบที่แล้ว ส.ว.สรรหามีส่วนช่วยสำคัญในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง

ส.ว.สรรหา จะมีปัญหาที่ว่าจะทำอย่างไรให้กระจายให้ทั่วถึง และมาจากตัวแทนของกลุ่ม หาใช่เอาแต่ตัวแทนของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ซึ่งไม่มั่นใจว่าจะมีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน หรือไม่บางคนอยากเป็น ส.ว.ก็เสนอผลประโยชน์เพื่อให้ได้ผลตอบแทน เพราะฉะนั้นเมื่อได้คนกลุ่มนี้เข้ามาแล้วจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

สำหรับประเด็นที่มองว่า ส.ว.สรรหาจะเป็นการสืบทอดอำนาจให้ คสช.นั้น คิดว่าถ้ายึดการสรรหาที่ได้มาจากทุกกลุ่ม ก็จะไม่เป็นการสืบทอดอำนาจ ตรงกันข้ามถ้าเอา ส.ว.สรรหาที่มาจากตัวแทน หรือเครือข่ายของผู้มีอำนาจกลุ่มเดียวเท่านั้น ประชาชนในสังคมก็รู้ และตั้งข้อสังเกตได้อยู่แล้วว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ผลร้ายจะไม่ดี

ต่อประเทศชาติ และประชาชน

p0103190359p1

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย

ในช่วง 5 ปีแรกที่บอกว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เขาก็แต่งตั้ง ส.ว.มา 250 คน ด้วยการจิ้มมาเลย และให้อำนาจ ส.ว.สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนนายกรัฐมนตรี และ ครม.ได้ รวมถึงกำกับองค์กรอิสระด้วยเพราะเป็นคนสรรหามา เป็นการเอาอำนาจทางการเมืองไปไว้ในสภาสูง จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลใหม่เป็นง่อยทันที

ต่อมา 5 ปีหลัง คือหลังจากที่ ส.ว.สรรหาที่เข้ามาดูแลช่วงเปลี่ยนผ่านหมดวาระไปแล้ว ยังเชื่ออะไรไม่ได้ เนื่องจากเขาอาจจะแก้รัฐธรรมนูญหรือทำอะไรก็ได้ หากคนที่เข้ามาก่อนหน้าได้วางฐานไว้แข็งแล้ว การเลือกตั้งแบบไขว้เป็นตัวหลอกมากกว่า เพราะเขาจะปล่อยอำนาจในมือทำไม ในเมื่อมีโอกาส การจะไม่ทำในขณะที่มีโอกาสนั้นก็ไม่ใช่วิสัย

ดังนั้นอาจจะอยู่ยาวไปเรื่อยๆ ได้ อย่าว่าแต่ 10 ปีเลย

ทั้งนี้เขาก็ใช้ยาหอมบอกว่าขอให้รับๆ ไปก่อน เราขอแค่นี้ คือการหลอกให้ตายใจแล้วไปแก้ในอนาคต เพราะคุณบล็อกได้ และเสียงคุณถึงอยู่แล้ว เป็นกระบวนการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาก ส่วนพรรคการเมืองมีไว้ประดับเฉยๆ เพื่อบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยนะ

ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

มีโอกาส ส.ว.แต่งตั้ง จะไปเป็น ส.ว.แบบไขว้ได้ เพราะว่า ส.ว.สรรหาที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2550 เปลี่ยนหน้า ส.ว.ไปในกลุ่มต่างๆ เมื่อถึงวาระ เช่นจับสลากออก เป็นต้น แต่ท้ายที่สุดก็ได้คนหน้าเดิมๆ ที่วนเวียนไปมา เมื่อเกิดการรัฐประหารหลายคนก็เปลี่ยนหน้าจาก ส.ว.แต่งตั้ง เป็น สนช. สปช. หรือ สปท. ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรนัก

ฉะนั้นในอนาคตหลังพ้น 2 ขยักนี้ไปแล้วจะต้องมีการตั้ง ส.ว.สรรหาจากกลุ่มอาชีพเข้ามา มีความเป็นไปได้ที่จะมีคนหน้าเดิมๆ เวียนเข้ามา

มองว่าเป็นการต่ออายุ ส.ว.สรรหาได้เหมือนกันว่าท้ายที่สุดวาระไม่ใช่แค่ 5 ปี แต่บวกทั้งหมดเป็น 10 ปี ใครก็มีโอกาสได้ ดูแล้วคิดว่าอย่างน้อยที่สุดสัก 20 เปอร์เซ็นต์ น่าจะเป็นคนเดิมๆ ไม่เฉพาะแค่ ส.ว.กลุ่มแต่งตั้งที่จะเกิดขึ้น ถ้าข้อเสนอของ คสช.ได้รับการตอบสนอง แต่จะรวมไปถึงบรรดาคนที่เคยเป็น ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และ สนช. สปช.ต่างๆ ด้วย

แม้ กรธ.จะบอกว่ากระบวนการเลือก 20 กลุ่ม ให้เลือกข้ามกลุ่ม ไม่ให้เลือกในกลุ่มเดียวกัน แต่ป้องกันบล็อกโหวตไม่ได้หรอก แม้จะเป็นแบบเลือกข้ามกลุ่ม แต่มนุษย์มีความสัมพันธ์ของมนุษย์อยู่ เพื่อนหลายกลุ่มหลายวงการ จะบอกว่ารู้จักแต่คนในแวดวงเดียวกันเป็นไปไม่ได้ จะกำหนดวิธีการอย่างไรก็บล็อกโหวตไม่ได้

ถ้าคิดจากฐานว่า ส.ว.ชุดนี้มีวัตถุประสงค์คือเป็นสภาตรวจสอบและเป็นสภาพลเมืองตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.บอกไว้ในการร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นสภาตรวจสอบ และสภาพลเมืองนั้น มีที่มายึดโยงกับประชาชนมากที่สุด จะใช้วิธีการเลือกตั้งโดยตรงหรือวิธีการอื่นก็แล้วแต่

แต่พอที่มาไม่ยึดโยงกับประชาชนหรือมาจากสรรหาทั้งหมด สภาตรวจสอบคงไม่สมดุล เพราะระหว่างที่มากับอำนาจหน้าที่ทั้งสองอย่างต้องสมดุลกัน เชื่อมโยงประชาชนให้มากที่สุด

p0103190359p2

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เท่าที่ตามข่าวคิดว่าเขายังพูดไม่ชัด จึงยังไม่ทราบว่า ส.ว.สรรหามีอำนาจหน้าที่อะไร ยังไม่ทราบว่าเขาจะออกแบบและมอบอำนาจให้ ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่านมีอำนาจหน้าที่ยังไงบ้าง จึงวิจารณ์ได้

แบบเดิมที่นายมีชัยร่างเลือกจากกลุ่มอาชีพ คิดว่าไม่โอเคทั้งคู่ ส่วน ส.ว.สรรหาแบบเดิมก็โดนวิจารณ์อยู่ว่าไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่ทั้งนี้ต้องดูการออกแบบอำนาจหน้าที่พร้อมกันไปด้วย

ระบบ ส.ว.สรรหาของเดิมที่มีคณะกรรมการสรรหา ที่โดนวิจารณ์กันมากเพราะมีอำนาจเทียบเท่ากับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ประเด็นคือมีที่มาไม่เหมือน ส.ว.จากการเลือกตั้งซึ่งประชาชนเลือกมา ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนมา จึงมีอำนาจเยอะ ถูกต้องตามหลักการ

แต่ ส.ว.สรรหา ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชน การจะมีอำนาจเท่าเทียมกับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจึงอธิบายตามหลักการไม่ได้ เป็นที่มาในทางวิชาการที่วิจารณ์อยู่

ถ้าบอกว่าจะใช้ระบบ ส.ว.สรรหาแบบรัฐธรรมนูญ 2550 คำถามคือต้องไปดูต่อว่าจะกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.เหมือนเดิมหรือไม่ ถ้ากำหนดเหมือนเดิม มีอำนาจเหมือน ส.ว.เลือกตั้ง อันนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะในเชิงหลักการตอบไม่ได้ คุณไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้วไปมีอำนาจค่อนข้างเยอะ คำถามคือ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา รับมอบอำนาจหรือได้อำนาจมาจากใคร

หลักการในทางรัฐธรรมนูญต้องดูควบคู่กันไปว่าที่มาต้องสอดคล้องกับเรื่องอำนาจหน้าที่ ถ้าที่มาเชื่อมโยงกับประชาชน อำนาจหน้าที่มีเยอะตามไปด้วยได้ เช่น ส.ว.ของอเมริกาที่มาจากการเลือกตั้ง เขาจะมีอำนาจเยอะ เดิมที่ ส.ว.เราอำนาจเยอะเพราะไปดูโมเดลจากอเมริกามา ตั้งแต่ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2540 แต่พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ปรับที่มาแต่กลับไม่ปรับอำนาจ เลยกลายเป็นลักษณะครึ่งๆ กลางๆ

ส่วนเลือกแบบไขว้ของนายมีชัยที่เคยดีไซน์ออกมาจะมีปัญหาอยู่ตรงที่ว่ากลุ่มวิชาชีพนี้ ตัวแทนมาจากใคร ยังไม่ชัดเจน เพราะเขียนในภาพรวมในรัฐธรรมนูญ แต่รายละเอียดนายมีชัยบอกว่าต้องไปลงในกฎหมายลูก ก็มีการตั้งคำถามว่าแล้วตัวแทนกลุ่มวิชาชีพคัดเลือกมาอันนี้เป็นปัญหา ต้องเห็นรายละเอียด

ผมคิดว่าหลายคนเข้าใจผิดเรื่อง ส.ว.สรรหา-ส.ว.เลือกตั้ง หลายคนคิดว่า ส.ว.สรรหาไม่เป็นประชาธิปไตย ในประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่สามารถมี ส.ว.สรรหาได้เลย มีได้ แต่ต้องย้อนกลับไปหลักการที่ว่า ถ้ามาจากการสรรหา ต้องมีอำนาจลดน้อยถอยลง จะมีอำนาจเท่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้

ยกตัวอย่าง ส.ว.ของอังกฤษแบบเดิม ซึ่งต่อไปเขาจะปฏิรูปการเมืองของเขาก็ว่าไป แต่จะเห็นว่า ส.ว.ของเขาเป็นระบบการแต่งตั้งขึ้นมา แต่อำนาจน้อยมาก เสมือนว่ามีระบบสภาเดี่ยวเสียด้วยซ้ำ เพราะแทบจะไม่มีอำนาจเลย มีอำนาจท้วงติงว่าออกกฎหมายนี้ไม่ถูกนะ

ถ้าบอกว่าประเทศไทยมี ส.ว.สรรหาแล้วไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น แบบนี้แสดงว่าประเทศอังกฤษก็ไม่เป็นประชาธิปไตยใช่ไหม จึงต้องดูสอดคล้องกันว่า ถ้าที่มาไม่ยึดโยงกับประชาชนต้องมีอำนาจน้อย ถ้าที่มายึดโยงกับประชาชนอาจมีอำนาจมากได้ นอกจากดูแบบนี้แล้วต้องดูการกำหนดพันธกิจของ ส.ว.ด้วยว่า วัตถุประสงค์ที่ให้มี ส.ว. ต้องการให้ทำหน้าที่อะไร ต้องดูควบคู่กันไปทั้งหมด

เวลาพูดถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน ผมไม่แน่ใจว่าตรงกับหลักการหรือเปล่า ที่เขาพูดถึงการเปลี่ยนผ่าน การเปลี่ยนผ่านเชิงหลักการนั้นปรากฏถึงเรื่องของการขัดแย้งกันในทางการเมือง คู่ขัดแย้งในทางการเมืองมาคุยกัน ต้องการที่จะยุติความขัดแย้งไม่ให้เลยเถิดไปมากกว่านี้แล้ว ไม่ให้เกิดการใช้กำลังประหัตประหารเหมือนที่ผ่านมาแล้วจะเกิดสภาวะการบาดเจ็บล้มตาย

ถ้าจะบอกว่าเปลี่ยนผ่าน คำถามคือได้เปิดโอกาสให้คู่ขัดแย้งมาคุยกันหมดหรือเปล่า ถ้ายังไม่เกิดการนำคู่ขัดแย้งมาพูดคุยกัน สำหรับผมในเชิงหลักรัฐธรรมนูญ จะเรียกว่าเปลี่ยนผ่านไม่ได้ อันนี้คือจุดสำคัญ การเปลี่ยนผ่านในทางการเมือง จริงๆ แล้วต้องเอามาตกลงต่อรองกันว่าฝั่งใดรับข้อเสนอทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน จะถอยได้กี่ก้าว แต่ตอนนี้ผมยังไม่เห็นปรากฏการณ์นั้น

ต้องเข้าใจและทำตามกรอบหลักการของการเปลี่ยนผ่านจริงๆ เมื่อเข้าใจแล้วจึงจะดีไซน์รัฐธรรมนูญถูกต้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image