‘ปิยบุตร’ โชว์วิชั่น พรรคการเมืองแบบใหม่ ไม่ใช่ วัวงาน รับใช้ รุ่นอาวุโส

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงแนวคิดเบื้องต้นของการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ ว่า 1.พรรคการเมืองที่ไม่มีเจ้าของ งบประมาณของพรรคมาจากการระดมทุนผ่านการบริจาค Crowdfunding การกู้ยืมเงินโดยปราศจากดอกเบี้ยจากคนที่สนับสนุนแนวคิดของพรรคการเมือง เงินสมทบของสมาชิกพรรค เงินอุดหนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

2.พรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยในทุกระดับ เน้นการกระจายอำนาจ สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีบทบาท ผู้สมัคร ตำแหน่งในพรรค ข้อบังคับ แนวทางการบริหารและยุทธศาสตร์ มาจากการปรึกษาหารือ อภิปรายแลกเปลี่ยน และลงมติ โดยสมาชิกพรรค การจัดการพรรคเน้นกระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง กระจายงานภารกิจไปให้กลุ่มต่างๆ พื้นที่ต่างๆ จังหวัดต่างๆ สนับสนุนบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ งานที่คนรุ่นใหม่มีความถนัด เมื่อทำออกมาแล้วก็เป็นเครดิตของพวกเขา คนรุ่นใหม่คิดและทำกันเองได้ โดยไม่ต้องตั้งคนที่อาวุโสกว่ามานั่งเป็นประธานตามแบบที่เคยทำๆ กันมา คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ “วัวงาน” หรือ “คนรับใช้” คนรุ่นอาวุโส คนรุ่นใหม่ในพรรคมีบทบาทในการคิด เสนอ ลงมือทำ พวกเขาไม่ใช่ “แรงงาน” ที่ใช้แจกใบปลิว ติดป้าย แบบที่เคยทำๆ กันมา

3.พรรคการเมืองที่มุ่งหมายทำงานระยะยาว พรรคการเมืองคือที่รวมตัวกันของบุคคลที่มีความคิด อุดมการณ์ ในทิศทางเดียวกัน และต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐ เพื่อผลักดันความคิดและนโยบายให้เกิดผล ผลการเลือกตั้งไม่อาจทำให้พรรคการเมืองยุติบทบาทหรือการพัฒนาพรรค ในยามชนะ สมาชิกพรรคไปรับหน้าที่ต่างๆ ในสภาหรือรัฐบาล แต่ก็ต้องมีบุคลากรที่บริหารจัดการพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง พัฒนาพรรคอยู่เสมอ ในยามแพ้ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องยุบเลิก แต่ยังต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อชนะในวันหน้า

พรรคการเมืองไม่ใช่ของชั่วคราว ที่สมาชิกเข้ามา เพื่อหวังจะลงเลือกตั้ง และไต่เต้าไปรับตำแหน่งทางการเมือง แต่พรรคการเมืองคือกลไกในการต่อสู้ทางการเมืองระยะยาว ดังนั้น แม้เริ่มต้นจะไม่สำเร็จ แต่ก็ต้องอดทน ทำงานอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง

Advertisement

4.พรรคการเมืองที่สนใจความรู้ วิชาการ การค้นคว้าวิจัย นโยบายที่ดี สมาชิกที่มีคุณภาพ ย่อมเกิดจากความรู้ การศึกษาค้นคว้า ดังนั้นต้องสร้าง Thinktank ของพรรคขึ้นมาในด้านต่างๆ ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนที่สนใจและเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น นอกจากนี้ ต้องสร้าง “มหาวิทยาลัยตลาดวิชา” ของพรรคขึ้นมา บรรยายหัวข้อต่างๆ เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าฟังและถ่ายทอดผ่านทางเว็บไซต์ ช่วงปิดภาคการศึกษา มี “มหาวิทยาลัย” สำหรับสมาชิกที่เป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ได้เข้าร่วม 3-4 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มาพบปะพูดคุยกัน วารสารของพรรคไม่ใช่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่เป็นวารสารที่นำเสนอความคิดของพรรคในประเด็นต่างๆ มีบทความวิชาการ กึ่งวิชาการ

5.พรรคการเมืองที่สื่อสารกับประชาชนและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา พรรคการเมืองสื่อสารกับประชาชนผ่านสื่อต่างๆ ของพรรค ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ วารสารรายปักษ์-รายเดือนของพรรค การ์ตูนแอนิเมชั่น งานศิลปวัฒนธรรม เว็บไซต์ในรูปแบบทันสมัย ไม่โบราณเหมือนเว็บไซต์ราชการ ไม่ใช่เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ผู้บริหารพรรค ในเว็บไซต์มีหลายคอลัมน์ เช่น นโยบาย-นำเสนอตัวแบบเบื้องต้นของนโยบายด้านต่างๆ เปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็น ร่างกฎหมาย-ทุกๆ คนสามารถเสนอร่างกฎหมายได้ ติดตามสมาชิกของพรรคที่เป็น ส.ส.-ทุกคนสามารถติดตามงานที่สมาชิกที่เป็น ส.ส.แต่ละคนไปทำ เช่น การอภิปรายในสภา การตั้งกระทู้ การให้สัมภาษณ์สื่อ การอภิปรายในเวทีเสวนา ข้อเขียน มหาวิทยาลัยตลาดวิชา-ถ่ายทอดการบรรยาย เหตุการณ์ประจำวัน-ความคิดเห็นของพรรคต่อประเด็นที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ

6.พรรคการเมืองที่มีที่ทำการที่ทันสมัย ที่ทำการพรรคคือหน้าตาของพรรคการเมือง และแสดงออกถึงอัตลักษณ์ตัวตนของพรรค เราจะไม่ใช้ที่ทำการพรรคแบบตึกสูงๆ เข้าถึงยาก ไม่ใช้ที่ทำการพรรคแบบเก่าแก่ และดูอึมครึม ขลัง ไม่เป็นมิตร แบบที่พรรคการเมืองอื่นๆ เคยใช้ แต่เราจะมีที่ทำการพรรคแบบทันสมัย มีสีสัน คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย มีพื้นที่เปิดให้คนได้ใช้สอยร่วมกัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ มีพื้นที่ให้จัดกิจกรรมทางการเมืองและทางศิลปวัฒนธรรม เช่น จัดเสวนา จัดฉายภาพยนตร์ จัดงานแสดงศิลปะ จัดเวิร์กช็อป

Advertisement

7.พรรคการเมืองที่ติดต่อสัมพันธ์กับองค์กรอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

8.พรรคการเมืองที่รวมคนหลากหลาย สมาชิกพรรคมีความคิดและอุดมการณ์พื้นฐานร่วมกัน มาจากหลากหลายกลุ่ม ทุกเพศ ทุกรสนิยมทางเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ อัตลักษณ์ของพรรคคือความหลากหลาย ไม่ใช่สมาชิกทุกคนเหมือนๆ กันหมด แต่งกายเหมือนกันหมด ลีลาการพูดถอดแบบกันมาหมด

พรรคการเมืองแบบใหม่เช่นนี้ จะช่วยทำให้สังคมไทยที่มอง “การเมือง” และ “นักการเมือง” ในแง่ลบ ได้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ตราบใดที่ผู้คนยังมอง “การเมือง” และ “นักการเมือง” ในแง่ลบ ย่อมมีโอกาสที่เขาจะหันไปสนับสนุนอำนาจเผด็จการนอกระบบได้เสมอ

“การเมือง” และ “นักการเมือง” ไม่ใช่เรื่องสกปรก แต่ “การเมือง” และ “นักการเมือง” เป็นเรื่องของความคิด การผลักดันความคิด การลงมือ การสร้างสรรค์

การทำให้ความคิดของผู้คนที่มีต่อ “การเมือง” และ “นักการเมือง” เปลี่ยนไปในทางที่ดี ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางความคิด แย่งชิงการสถาปนาอำนาจนำ และอาจช่วยให้คนไม่หันหลังให้กับประชาธิปไตย และเลิกสนับสนุนรัฐทหาร รัฐราชการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image