สถานีคิด : เสียงที่ควรรับฟัง : โดย ปราปต์ บุนปาน

เสียงที่ควรรับฟัง

ต้องยอมรับว่ากระแสเรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งถูกนำไปจัดสร้างโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ หรือที่หลายส่วนตั้งฉายาให้ว่า “หมู่บ้านป่าแหว่ง” นั้น กำลังแผ่ขยายออกอย่างกว้างขวางและรวดเร็วเกินคาดคิดในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นเรื่อง

จากกระแสแอนตี้-ต่อต้านโครงการดังกล่าวและผู้เกี่ยวข้อง/สนับสนุนในวิถีชีวิตประจำวัน รวมถึงในโซเชียลมีเดีย ผ่านสัญลักษณ์ “ริบบิ้นเขียว”

Advertisement

การต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ค่อยๆ สร้างแนวร่วม จนเกิดเป็นการชุมนุม ณ ลานประตูท่าแพ ของคนจำนวนหลายพัน ซึ่งมิได้มาจากกลุ่มการเมืองค่ายใดค่ายหนึ่ง เพราะหากพิจารณารายชื่อแกนนำบางส่วน ก็จะพบว่าแต่ละคนเคยมีจุดยืนทางการเมืองที่หลากหลายแตกต่างกันไป

(และทั้งหมดก็ประกาศยืนยันในนามองค์กรเครือข่ายว่า พวกตนไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใด)

ที่ผ่านมา ตามความเห็นและความเชื่อของผู้คนจำนวนมากในสังคม อำนาจแห่งสถาบันตุลาการที่คอยอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกฝ่ายนั้น ย่อมมีสถานะเป็นอำนาจที่ “เป็นกลาง” และ “ศักดิ์สิทธิ์”

Advertisement

จึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจพึงขบคิดไม่น้อย เมื่อประชาชนผู้ออกมาทวงคืนพื้นที่ป่าจากโครงการปลูกสร้างบ้านพักตุลาการ ได้อ้างอิง/อธิบายความว่าดอยสุเทพเป็น “ภูเขา/พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ของเมืองเชียงใหม่-อาณาจักรล้านนา ถือเป็น “สมบัติร่วม” อันสูงค่าของชาวเมือง ซึ่งมีส่วนสานก่อขนบธรรมเนียม
จารีตประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 700 ปี

ก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่ที่ประตูท่าแพ เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้ออกมาบิณฑบาตขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพเช่นเดียวกัน

พร้อมชุดเหตุผลในแนวทางใกล้เคียงกับเหล่าฆราวาส โดยคณะสงฆ์กลุ่มนี้เห็นว่าพื้นที่ซึ่งถูกจัดสร้างเป็นบ้านพักข้าราชการตุลาการ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็น “ศรี” ของเมือง

นอกจากนั้น โครงการจัดสร้างฯ ยังอาจส่งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และการออกแบบเมือง

เท่ากับว่าท่ามกลางความขัดแย้งในเรื่องการจัดสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการบริเวณพื้นที่ป่าดอยสุเทพ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของจารีต/ความเชื่อ/ระบบนิเวศ “ท้องถิ่น” กำลังเผชิญหน้าอย่างตึงเครียดกับ “ความศักดิ์สิทธิ์” ขององค์กรอำนวยความยุติธรรม และระบบตรรกะ-ความชอบธรรมทางข้อกฎหมาย ที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง

หากไม่หลงเชื่อ-เหมารวมว่าผู้คัดค้านโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการในพื้นที่ดอยสุเทพ เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือเป็นผู้ต่อต้านอำนาจรัฐปัจจุบัน ที่ไม่น่าไว้วางใจและมีเบื้องหลังน่าเคลือบแคลงสงสัยไปเสียทั้งหมด

“เสียงคัดค้าน” เหล่านี้คือ “เสียงท้วงติง” จากประชาชน/ภาคประชาสังคมที่ควรรับฟังเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะเมื่อศาลยุติธรรมหรือองค์กรตุลาการถือเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับ (และต้องได้รับความเชื่อถือ-ยอมรับ-ไว้วางใจจาก) ประชาชนทุกคนอย่างลึกซึ้ง

สถาบันตุลาการและผู้มีอำนาจส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ยิ่งสมควรต้องรับฟังเสียงประชาชนในเรื่องนี้

แล้วพยายามแสวงหาทางออก “ที่ดีที่สุด” สำหรับทุกฝ่าย

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image