‘มาร์ค-วรงค์-อลงกรณ์’ โชว์วิชั่นชิงหัวหน้า ปชป.

หมายเหตุ – นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรค ปชป. หมายเลข 1 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ผู้ลงสมัครชิงหัวหน้าพรรค ปชป. หมายเลข 2 และนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. ผู้ลงสมัครชิงหัวหน้าพรรค ปชป. หมายเลข 3 ให้ความเห็นถึงจุดยืนและวิสัยทัศน์ หลังสมัครเข้ารับการหยั่งเสียงเข้าชิงหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ ที่พรรค ปชป. เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม


 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรค ปชป. หมายเลข 1

การสมัครชิงหัวหน้าพรรคเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดีใจที่เห็นสมาชิกพรรคตื่นตัวแสดงออกให้เห็นถึงว่าเขาอยากเป็นเจ้าของพรรค หวังว่าจากนี้ไปจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน จะคึกคัก ร่วมกันกำหนดอนาคตของพรรค อีกทั้งหวังว่าการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นแบบอย่างให้พรรคการเมืองอื่นด้วย
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันก็ต้องมีกระทบกระทั่งกันบ้าง จะหลอกว่าไม่มีเลยเป็นไปไม่ได้ แต่เราต้องเป็นแบบอย่างว่ากระทบกระทั่งอย่างไรก็อยู่ในกติกาอย่างสร้างสรรค์ อย่ากลัว หากกลัวว่าแข่งขันแล้วมีปัญหา จะไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้ แต่ยืนยันว่าผมไม่ได้กระทบกระทั่งกับใคร ส่วนที่มีการพาดพิงถึงผมก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นนักประชาธิปไตย ขอให้อยู่ในขอบเขต แต่อย่าส่งผลกระทบต่อส่วนรวมและพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

จุดยืนของผมคือ พรรคจะต้องเป็นตัวของตัวเอง และต้องเป็นทางเลือกหลักของประเทศ อย่าปล่อยให้พรรคถูกใครกล่าวหาว่าต้องลากไปอยู่ข้างนั้น ข้างนี้ เพราะอุดมการณ์ของพรรคเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ให้ประเทศไทยได้ดีที่สุด ไม่ใช่อิงกับฝ่ายอื่น ซึ่งโครงสร้างทางการเมืองมีฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์จะไปขอประชาชนให้สนับสนุนเราเป็นรัฐบาลด้วยตัวเอง แต่ถ้าตัวเองเป็นรัฐบาลไม่ได้ก็ต้องเชิญชวนคนอื่นมาร่วมกับเรา โดยเป็นคนที่เชื่อในแนวทางและอุดมการณ์ของเรา

หากได้เป็นรัฐบาลต้องมั่นใจว่าสิ่งที่บอกกับประชาชนนั้นต้องทำได้ ผมไม่ต้องการนำพรรคไปเป็นรัฐบาลแล้วสุดท้ายทำอะไรไม่ได้เลย ไม่สามารถทำในสิ่งที่บอกกับประชาชนได้ หรือทำในสิ่งที่ขัดกับอุดมการณ์ความเชื่อของเราก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น ขอให้เวลากับเรา เพราะวันที่ 5 พฤศจิกายน กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคก็จบ และวันที่ 11 พฤศจิกายน ก็ได้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ จะมุ่งหน้าเป็นเส้นทางหลักในการเป็นพรรคการเมืองหลักของประเทศ

สำหรับในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ชัดอยู่แล้วว่า “มุ่งมั่นเรื่องอุดมการณ์ มุ่งหน้าเพื่ออนาคตของประเทศ” นี่คือสิ่งที่สำคัญ วันนี้ประชาชนต้องการพรรคการเมืองที่มีจุดยืนอุดมการณ์ที่ชัดเจน ประชาชนเบื่อการเมืองเพื่อผลประโยชน์ การเมืองเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ เขาต้องการการเมืองที่บอกว่าแนวคิดนำพาบ้านเมืองคืออะไร

Advertisement

หากผมได้เป็นหัวหน้าพรรคต่อก็จะทำเต็มที่ เพื่อให้พรรคได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดจนได้เป็นรัฐบาล และนำแนวคิดไปพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งเป็นเป้าหมายอันดับที่ 1 อยู่แล้ว และคิดว่าใครเป็นหัวหน้าพรรคต้องทำแบบนี้ ไม่ควรทำแบบอื่น

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้เป็นเพียงการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค จะต้องมีการประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรค จึงจะไม่แบ่งกลุ่ม พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นหนึ่งเดียว หากผมได้เป็นหัวหน้าพรรคต่อก็จะให้ทุกคนทำงานตามความสามารถของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องแบ่งกลุ่ม แม้ผู้สมัครคนอื่นจะมีกลุ่มเพื่อนทั้งกลุ่มเพื่อนอลงกรณ์และกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ แต่ผมยืนยันว่าเป็นอาสาและตัวแทนของทั้งพรรค ไม่มีกลุ่ม

ในช่วงหาเสียงหัวหน้าพรรค ตั้งใจจะเดินทางไปพบสมาชิกให้มากที่สุด ส่วนจะได้เป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่นั้น อยู่ที่สมาชิกพรรค แต่ส่วนตัวก็มั่นใจว่าสมาชิกสนับสนุนเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อแข่งขันกันก็ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
ผู้ลงสมัครชิงหัวหน้าพรรค ปชป. หมายเลข 2

หลังจากนี้จะไปพบปะเพื่อนสมาชิกพรรคให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และจะไปพบปะกลุ่มอาชีพต่างๆ อย่างน้อยจะต้องให้รู้จักกับผมมากที่สุด ส่วนเรื่องนโยบายในการหาเสียงสนับสนุนที่คล้ายคลึงกับผู้สมัครอื่นนั้น ไม่เป็นไร เพราะว่าต่างฝ่ายต่างก็อยู่พรรคเดียวกัน ได้รับกระบวนการหล่อหลอมคล้ายๆ กัน ดังนั้น แนวทางในการแก้ไขปัญหาก็คล้ายๆ กัน บางอย่างก็ไม่คล้ายกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความกล้าในการตัดสินใจ เราพยายามสื่อสารกันว่า เราเป็นประชาธิปัตย์ด้วยกัน ในการต่อสู้ครั้งนี้ เป็นการต่อสู้เพื่อพรรค บรรยากาศแบบพี่ๆ น้องๆ ดังนั้น อะไรที่อะลุ่มอล่วยกันได้ อะไรที่ประนีประนอมกันได้ เราก็โอเค

ส่วนการพบปะกับ 2 ผู้สมัครคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายอลงกรณ์ พลบุตร นั้น ก็เป็นไปด้วยดี ผมได้สอบถามถึงการลงพื้นที่ของนายอภิสิทธิ์ ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และได้เล่าถึงการลงพื้นที่ของผมที่ จ.อุบลราชธานี

ส่วนโอกาสที่ผมจะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคนั้น บังเอิญเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา พระครูอมร ธรรมสโรช เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว ทักผมว่ามีโอกาสชนะ และช่วงนี้มีคนที่หวังดีกับผมเข้าไปดูดวงให้ ทุกคนก็ทักคล้ายๆ กันว่าผมมีโอกาสได้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ส่วนตัวผมเห็นว่าแค่เริ่มต้นก็ตกเป็นรองแล้ว ดังนั้น ต้องขยันให้มากๆ ขยันยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี และนับตั้งแต่ผมเปิดตัวมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ผมมีความขยันกว่าคู่แข่ง

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีคนเก่ง คนดีเยอะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในพรรคคือ การขาดคนกล้า ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันว่า เรากล้าหรือไม่ วันนี้ชัดเจนว่าในเมื่อเรากล้า ประชาชนต้องการตัวแทน เราก็กล้าที่จะเปลี่ยน การกล้าเปลี่ยนแปลงของพวกเราในวันนี้ จะนำไปสู่นโยบายดีๆ ในการพัฒนาประเทศ

แนวทางเราชัดเจนว่า เราต้องการต่อต้านการโกง เพราะเราเชื่อว่าการทุจริตหรือการโกงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และผมคิดว่าเรามีเป้าหมายชัดเจนในการนำพาประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำของโลก

ผมเชื่อว่าถ้าพวกเราได้เข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว การพัฒนาประเทศจะมีความชัดเจน และจะบอกประชาชนทุกระยะว่า ขณะนี้เราเริ่มต้น ในการนับหนึ่งใหม่ในการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ เพื่อให้ประชาชนคนไทยอีก 20 ปีข้างหน้า เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวโลกได้อย่างแท้จริง

หลังจากนี้ จะลงพื้นที่ภาคอีสานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ อ.พรเจริญ และ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผมเคยทำงาน และจะไปที่ภาคตะวันออก รวมทั้งจะลงพื้นที่จากภาคเหนือ ภาคใต้ และจะปิดท้ายที่กรุงเทพฯ

 

อลงกรณ์ พลบุตร
ผู้ลงสมัครชิงหัวหน้าพรรค ปชป. หมายเลข 3

ผมคือคนของพรรค ไม่ใช่คนของใคร ผมสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปลายปี 2534 ลงสมัครเป็น ส.ส.เพชรบุรี ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. 6 สมัย ได้เป็นรองหัวหน้าพรรคถึง 2 รอบ รวมทั้งเป็นรัฐมนตรี ไม่เคยสร้างกลุ่มสร้างพวกในพรรค เพราะไม่ชอบการเมืองแบบนั้น

ดังนั้น ตลอดเวลาผ่านมากว่า 20 ปีที่อยู่กับพรรค จึงไม่ได้เป็นคนของใครหรือกลุ่มใด โดยยึดถือมาตลอดว่าผมเป็นคนของพรรคเท่านั้น เมื่อตัดสินใจลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคในครั้งนี้จึงไม่คิดว่าจะต้องมีกลุ่มใดมาส่งเข้าแข่งขันแต่อย่างใด นอกจากสมาชิกพรรคที่เห็นในความตั้งใจของผมและเกิดศรัทธา

ผมอยากเห็นการเลือกตั้งหยั่งเสียงไพรมารีเป็นตัวอย่างต้นแบบที่ดีของทุกพรรค ซึ่งเป็นการริเริ่มที่น่าชื่นชมของท่านหัวหน้าพรรคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยสมาชิกพรรค ไม่ว่าอดีต ส.ส.หรือสมาชิกทั่วไปได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาด้วยตัวเองว่าใครเหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรค เมื่อเลือกตั้งเสร็จจะได้ไม่มีปัญหาภายหลังว่าคนนี้คนนั้นอยู่กลุ่มไหน เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน

วันเวลาของการปฏิรูปประเทศ ในยามที่บ้านเมืองเผชิญวิกฤตร้ายแรงจนเกิดการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 ผมสมัครเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยไม่มีใครชวน เพียงแต่คิดอยากแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศที่ต้นเหตุ เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และสมาชิก สปช.เลือกให้เป็นเลขานุการคณะกรรมการประสานงาน สปช. ซึ่งต้องวางตัวเป็นกลาง จึงได้ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 การลาออกครั้งนั้นไม่เกี่ยวกับปัญหาความเห็นต่างในกรณีการผลักดันให้มีการปฏิรูปพรรคในปี 2556 แต่อย่างใด

ระหว่างที่ผมทำหน้าที่เป็น สปช.ได้ลงมติตามความเชื่อมั่นบนจุดยืนของตัวเอง เช่น การลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญชุดอาจารย์บวรศักดิ์
อุวรรณโณ โดยไม่คิดว่าจะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และยิ่งไม่คิดว่าสภา สปท.จะเลือกให้ผมเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง

ตลอดเวลาที่ทำงานปฏิรูปประเทศก็ไม่เคยไปพบผู้นำรัฐบาล หรือ คสช.ไม่ว่าที่บ้านหรือในค่ายทหารแม้แต่ครั้งเดียวในช่วงเวลาที่ทำงานเกือบ 3 ปีในฐานะที่เป็นสมาชิก สปช.หรือเป็นรองประธาน สปท. จะพบแต่เฉพาะการประชุมอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ต่อมามีการตั้งกลุ่มตั้งพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ผมก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยจากการที่ผมเป็นนักการเมืองเพียงคนเดียวที่มีตำแหน่งสูงสุดในแม่น้ำ 5 สาย ถ้าอยากจะรับใช้ผู้มีอำนาจโดยหวังลาภ หวังยศ หวังตำแหน่ง คงจะมีชื่อผมไปร่วมเคลื่อนไหวข้องแวะด้วยแล้ว กลับตรงกันข้าม ผมได้กล่าวเตือนทั้งในสื่อสาธารณะและส่วนบุคคลว่า อย่าเดินหลงทาง การเมืองเก่าสร้างการเมืองใหม่ไม่ได้ หากจะเดินหน้าปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จตามที่ สปช.และ สปท.เสนอ

ผมขอให้ทุกท่านทำความเข้าใจในข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งพอจะบ่งชี้ได้ชัดว่าผมเป็นนอมินี คสช.หรือกลุ่มใดคณะใดหรือไม่ ผมไม่มีใครส่งเข้าประกวด แต่จะขอมีโอกาสและหวังจะให้สมาชิกพรรคช่วยเป็นผู้สนับสนุนผม เหตุการณ์ต่างๆ จาก วัน เวลา ผ่านมา 27 ปี คงจะช่วยพิสูจน์ได้ว่าผมเป็นคนเช่นไร และมีความรู้ประสบการณ์ ความสามารถ อุดมการณ์สมควรที่จะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image