รายงาน : พรรคการเมืองเปิดตัว‘นิวเจน’ สาระแก่นสารหรือเพียงสีสัน

หมายเหตุ – เป็นความเห็นของนักวิชาการต่อปรากฏการณ์บรรดาพรรคการเมืองแข่งกันเปิดตัวคนรุ่นใหม่และลูกหลานนักการเมือง มีเป้าหมายเพื่อเป็นกำลังสำคัญสานต่อการเมืองในอนาคตหรือเป็นเพียงสร้างสีสัน เพื่อดึงคะแนนเสียงจากกลุ่มคนรุ่นเดียวกัน

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

การที่พรรคการเมืองดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีเป้าหมาย 1.ถ้าพูดถึงหลักคิด พรรคการเมืองมีหน้าที่คัดสรรนักการเมืองหน้าใหม่เข้าสู่เวทีการเมือง เพื่อตอบสนองระบบการเมืองที่ต้องการนักการเมืองหน้าใหม่เข้ามา แม้จะไม่ลงสมัคร ส.ส.แต่ก็ต้องเข้ามาเรียนรู้ระบบการเมือง เพื่อจะเป็นกำลังสำคัญของพรรคการเมืองต่อไป เป็นธรรมชาติของพรรคการเมืองอยู่แล้วที่พรรคไหนก็ต้องทำ เช่น พรรคประชาธิปัตย์มีโครงการยุวประชาธิปัตย์ต่อเนื่องยาวนาน เป็นธรรมชาติที่ต้องมีนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามา

เป้าหมายที่ 2 เพื่อสีสันทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของพรรคการเมืองอีกเช่นกัน ที่จะมุ่งแสวงหาความนิยมจากสาธารณชน เมื่อเป็นเช่นนั้นการระดมคนรุ่นใหม่ หรือดึงคนที่มีชื่อเสียงที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมพรรค ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองดีขึ้น ทำให้พรรคดูเป็นพรรคที่มีการปรับตัว พยายามทำความเข้าใจกับความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่มากขึ้น อันเป็นฐานเสียงสำคัญกลุ่มหนึ่ง

นอกจากนี้ การดึงคนรุ่นใหม่เข้ามายังเป็นผลจากความพยายามในการแย่งชิงคะแนนเสียงกลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้จะบอกว่าประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่คนรุ่นใหม่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หรือย้อนไปถึงการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 จนถึงปี 2562 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่ไม่เคยใช้สิทธิจำนวนมาก คนกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายหนึ่งของพรรคการเมืองจะแสวงหาความนิยม ต้องไม่ลืมว่าเลือกตั้งที่จะถึงเป็นการวัดคะแนนเสียงที่ประหลาด เนื่องจากมีการแบ่งคะแนนเสียงให้กับพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางด้วย ดังนั้น การมีคนรุ่นใหม่จะเป็นอีกตัวอย่างของความพยายามของนักการเมืองจะแสวงหาความนิยม

Advertisement

การเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่คิดแบบคนรุ่นเก่า บางครั้งอาจใหม่แค่อายุ ความคิดอาจไม่ได้ใหม่ก็ได้ ดังนั้น การมีคนรุ่นใหม่จึงไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองจะคิดอะไรที่ใหม่จริงๆ เพราะแต่ละพรรคแต่ละกลุ่มก็มีเพดานบางอย่างอยู่แล้ว เช่น พรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดเรื่องการจัดการราคาข้าวในอนาคตต่างไปจากพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น ต่อให้คนรุ่นใหม่อยากจะทำอะไร เช่น รัฐสวัสดิการก็อาจเป็นไปแทบไม่ได้ หรือการทำโครงการที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลักคิดของพรรคก็คงจะยากเช่นกัน

คำว่า “ใหม่” จึงอาจเป็นเพียงเหล้าใหม่ในขวดเก่าที่ไม่ได้เปลี่ยนอะไรจากเดิม เพียงแค่เรียกคะแนนเสียงจากคนที่มองอะไรฉาบฉวย ซึ่งอาจได้คะแนนจากตรงนี้บ้าง

ฉะนั้น เวลาที่บอกว่ามีพรรคการเมืองใหม่ มีคนรุ่นใหม่ อันนี้ก็ใช่ ใหม่ด้วยอายุและหน้าตา แต่ว่าความคิดอาจจะไม่ได้ใหม่ อาจจะเป็น Young Conservative หรือว่า Young Ultra Conservative ก็ได้

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าระยะเวลา 4-5 ปีที่การเมืองชะงัก คนรุ่นใหม่ซึ่งอยู่ในรอยต่อจากการว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน เป็นกลุ่มคนที่ตื่นตัวเป็นพิเศษ ดูได้จากช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ โดยรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่กลายเป็นกลุ่มที่แสดงความเห็นทางการเมืองมากที่สุด ดังนั้น การที่พรรคการเมืองดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการ หวังผลให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นตัวแปรทางการเมือง เพราะจากคำนวณพบว่ามีคนรุ่นใหม่เกือบ 10 ล้านคน หากคนกลุ่มนี้แสดงออกทางการเมือง นั่นหมายถึงการชี้ขาดผลแพ้ชนะ

การดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีลักษณะการใช้เครือข่ายการเมืองเดิม ใช้การเป็นลูกหลานนักการเมืองสร้างสีสัน โดยผู้ที่มีหน้าตาดี หล่อ สวย ขอตั้งข้อสังเกตว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่สืบทอดธุรกิจทางการเมืองต่อจากพ่อแม่ แต่ไม่รู้ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองจะมีความมุ่งมั่นขนาดไหนที่จะทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่สนใจการเมืองจริงๆ แต่คนกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสในสนามการเมือง เนื่องจากหน้าตาไม่ดี ไม่มีต้นทุนทางสังคม ไม่ได้เป็นลูกหลานนักการเมือง ดังนั้น ต้องมองคนรุ่นใหม่หลายมิติพอสมควร หนึ่งคือ ในมิติที่เป็นลูกหลานนักการเมืองที่มีต้นทุนดี มีหน้าตาดี มีการศึกษา กลุ่มนี้อาจพบได้ในพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย หรือพรรคที่ชื่อคล้ายๆ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น พรรคสามัญชน พรรคอนาคตใหม่ คนกลุ่มนี้อาจมีต้นทุนน้อยกว่าพรรคข้างต้น แต่เป็นคนที่ผมคิดว่ามีประสบการณ์ทางการเมืองจริง มีอุดมการณ์ มีความฝันที่อยากเห็นบ้านเมืองก้าวไปในมุมของคนรุ่นใหม่ได้

การเมืองก่อนการรัฐประหารเป็นการเมืองที่ถูกตั้งข้อครหาและถูกสังคมตั้งคำถามมาก ว่าเป็นการเมืองของนักแบ่งผลประโยชน์ จำเป็นต้องสร้างการเมืองใหม่ที่เป็นของคนรุ่นใหม่ แต่ปัญหาของคนรุ่นใหม่คือ ไม่มั่นใจว่ามีอุดมการณ์หรือความใฝ่ฝันทางการเมืองที่ตรงกับประชาชนจริงหรือไม่ หากมองโดยรวม กลุ่มคนรุ่นใหม่คือกลุ่มที่อยากเห็นบ้านเมืองเป็นไปตามความใฝ่ฝันของตนเอง ที่รู้สึกว่าการเมืองแบบเก่ายังมีข้อจำกัด มีอุปสรรคและปัญหาต่อกระบวนการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ และประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญแค่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานนักการเมือง ซึ่งการมีหน้าตาดีอย่างเดียวไม่พอ ประเทศไม่สามารถไปได้เพียงแค่หน้าตาคนและลูกหลานนักการเมือง ประเทศต้องมีคนรุ่นใหม่ที่มีความใฝ่ฝันและอุดมการณ์เพื่อสังคมจริงๆ

กระแสลูกหลานนักการเมืองที่หน้าตาและฐานะดี ควรต้องระวัง สังคมอย่าติดหล่มกับสิ่งนี้ เพราะเป็นจิตวิทยาเบื้องต้นที่โน้มน้าวคนได้ส่วนหนึ่งที่ชอบความหล่อ ความสวย อย่าลืมว่าประเทศมีความซับซ้อนกว่านั้น ต้องพยายามหาคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์จริง รู้ปัญหาจริง เคลื่อนไหวกับมวลชนจริง และมีอุดมการณ์ทางการเมืองโดยแท้จริงเข้ามาทำงานมากกว่านี้


ผศ.ดร.ณพงศ์ นพเกตุ

อดีต ผอ.นิด้าโพล-สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

สําหรับผมคนรุ่นใหม่ไม่ได้อยู่ที่อายุอย่างเดียว อายุเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง แต่อยู่ที่ความคิดความกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง อันนี้คือคนรุ่นใหม่ ส่วนเรื่องที่ว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อการเมืองหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ตัวเขาเองว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองจริงไหม ประสงค์จะทำอะไรในการเมืองและอยู่ที่พรรคด้วยว่าพรรคใคร เป็นแค่เครื่องมือในการเรียกเรตติ้งหรือให้โอกาสในการขับเคลื่อนนโยบายจริงๆ ตรงนี้สำคัญมาก ส่วนเรื่องหน้าตาคิดว่าไม่ใช่ตัวตัดสินว่าคนจะเลือกหรือไม่เลือก หน้าตาเป็นตัวดึงดูดความสนใจเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เป็นแค่ปัจจัยรอง

หากดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นเเค่สีสัน เป็นแค่เรื่องชั่วคราว สุดท้ายแล้วเขาจะอยู่กับพรรคหรือไม่ แล้วเรตติ้งที่เกิดขึ้นจะแปรเป็นคะเเนนเสียงที่ประชาชนมั่นใจว่าคนเหล่านี้จะเเก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า

ต้องยอมรับว่าขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงสำคัญเพราะกำลังอยู่ในกรอบของดิจิทัลดิสรัปชั่นหรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางข้อมูล ผู้ใหญ่อาจไม่สามารถหลุดกรอบที่เรียกว่าตัวตนของตัวเองได้ง่าย แต่คนรุ่นใหม่แสดงทัศนคติหรือใช้เครื่องมือทางการสื่อสารเสรี ฉะนั้น คุณรุ่นใหม่จะมีอิทธิพลต่อความคิดของสังคมเยอะ รวมถึงกลุ่มคนที่ยังไม่เคยเลือกตั้งเลยหรือกลุ่มรอเลือกตั้ง ซึ่งเขามีความรู้สึกว่าจะไปเลือกตั้งแน่ๆ

ดังนั้นตรงนี้เป็นพื้นที่สำคัญที่ต้องมีการช่วงชิง แต่คนรุ่นเก่ายังเป็นคนคุมเกม หรือพูดง่ายๆ คือเป็นผู้กำกับ


ธนกิจ เทียมชัยบุญทวี

คนรุ่นใหม่และสมาชิกพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ถูกให้ความสำคัญมาโดยตลอด แต่ที่ถูกให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีจำนวนมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ส่วนที่ผู้ใหญ่อาจมองว่าคนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจการเมืองเท่ากับคนรุ่นก่อน คงต้องถามว่า คนรุ่นก่อนที่ว่านั้นคือสมัยไหน ถ้าย้อนกลับไปในยุคแรกของประชาธิปไตยไทย คนรุ่นใหม่คือกลุ่มคนที่ผลักดันประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศเรา อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าคนรุ่นใหม่จะออกมาใช้เสียงกันเยอะหรือไม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ผมขอเชิญชวน อยากให้คนรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธิกันเยอะๆ และผมเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นแน่นอน

สำหรับพรรคภูมิใจไทย คนรุ่นใหม่ไม่ได้มีแค่ผมคนเดียว แต่ยังมีผู้ใหญ่ที่มีความคิดเป็นคนรุ่นใหม่ เช่น พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรค และถ้าถามว่าจุดเด่นหรือความแตกต่างของคนรุ่นใหม่ในพรรคภูมิใจไทยคืออะไร ผมขอพูดแทนตัวเองว่า อย่างแรก เมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่ในพรรคอื่น ผมไม่ได้เข้ามาเพื่อสืบทอดอำนาจจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ เพราะที่บ้านไม่เคยทำงานการเมือง ผมไม่ต้องออกมาพูดแล้วต้องปิดนามสกุล ผมอยากโชว์ด้วยซ้ำว่านามสกุลของผมก็อยากทำประโยชน์ให้กับประเทศนี้เหมือนกัน จุดเด่นที่สอง คือเราเปิดรับฟังความคิดเห็นและให้โอกาสคนทุกกลุ่ม

และจุดเด่นที่สาม คือ ที่ผ่านมาผมโดนคำถามบ่อยมากว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ ทำไมจึงเลือกมาอยู่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเหตุผลของผมคือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกสำหรับการเมืองคือ Political Stability หรือเสถียรภาพทางการเมือง ผมเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์ จึงไม่สนใจว่าฝ่ายไหนจะชนะ แต่สิ่งที่อยากได้คือเสถียรภาพ ไม่ต้องการให้พลิกไปพลิกมาแล้วเกิดความขัดแย้ง ซึ่งผมมองว่าภูมิใจไทยเป็นพรรคเดียวที่สามารถทำให้การเมืองของประเทศไทยสงบได้ เวลาผมถูกถามว่าคุณอยู่ข้างใคร ทุกคนอาจจะลืมไปว่าคนที่เราควรจะอยู่ข้าง ไม่ใช่ฝ่ายที่จะเอาหรือไม่เอาประชาธิปไตย แต่เราควรอยู่ข้างประชาชน ซึ่งผมคิดว่าภูมิใจไทยเป็นพรรคแรกที่ให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนอุดมการณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image