รายงาน : ตรวจแถว แนวรบ ก่อนเลือก นายกรัฐมนตรี จับตา ประชาธิปัตย์

เหมือนกับการแถลงร่วมจัดตั้งรัฐบาลระหว่าง 1 พรรคพลังประชารัฐ 2 พรรครวมพลังประชาชาติไทย 3 พรรคชาติพัฒนา 4 พรรคพลังท้องถิ่นไทย 5 พรรครักป่าประเทศไทย 6 พรรคประชาชนปฏิรูป

จะเป็น “ไม้เด็ด” จาก “คสช.”

แต่ภายในไม้เด็ดนี้สิ่งที่ขาดหายไปอย่างสำคัญ คือ ไม่มี 1.พรรคประชาธิปัตย์ 2.ไม่มีพรรคภูมิใจไทย และ 3.ไม่มีพรรคชาติไทยพัฒนา

แม้จะเคยส่ง “ขันหมาก” ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม

Advertisement

เท่ากับยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐต้องการจัดตั้งรัฐบาล “เสียงข้างน้อย” อย่างแน่นอน เพราะแม้จะมีเพียง 130 แต่เมื่อผนวกเข้ากับ 250 ส.ว.

ตัวเลขก็จะออกมา 380 มากกว่า 376 ถึง 4 เสียง

นี่คือ “กลยุทธ์” ในโค้งสุดท้ายของ คสช.และพรรคพลังประชารัฐในการชิงความได้เปรียบเหนือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

Advertisement

ความหมายก็คือ สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็น “นายกรัฐมนตรี”

เป้าของ คสช.และพรรคพลังประชารัฐก็คือ จะทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินไปในเส้นทางเดียวกันกับของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2523

นั่นก็คือ อาศัยความเป็น “นายกรัฐมนตรี” สำแดง “พลานุภาพ”

ภาพฝังจำก็คือ การเดินเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช การเดินเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ
พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร และการเดินเข้าบ้านสี่เสาของ พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์

เรียบร้อยโรงเรียน “ป๋า”

การแถลงร่วมจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรครักป่าประเทศไทย พรรคประชาชนปฏิรูป

คือ สัญญาณก่อนการประชุมรัฐสภา

จะมีพลังเหมือนมนต์เรียกเนื้อเรียกปลาให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา สยบยอมหรือไม่

มือที่จะยกชูให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคือ “คำตอบ”

การเมืองจึงเข้ามาสู่จุดตัดอย่างมีนัยยะสำคัญ ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างแหลมคมยิ่ง ไม่ว่าก่อนและหลังการเลือกตั้ง

คำถามก็คือ อำนาจของ “คสช.”

สถานะของ คสช. ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ยิ่งใหญ่แข็งแกร่งเหมือนภายหลังรัฐประหาร
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 หรือไม่

โดยรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่

ไม่ว่าจะโดยการสรุปที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” ไม่ว่าโดยการสรุปที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาล”

แต่คำถามที่ตามมาก็คือ สามารถเป็นได้โดยราบรื่นหรือไม่

ปฏิกิริยาอันมาจาก 7 พรรคต่อต้านการสืบทอดอำนาจเห็นได้ชัด ปฏิกิริยาอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์เห็นชัด

เห็นชัดว่าอำนาจของ “คสช.” ยังอยู่ แต่ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

มีความเชื่อมั่นในทางสังคมค่อนข้างเป็นเอกภาพว่า ในที่สุดแล้วพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา คงจะเอนไปทางพรรคพลังประชารัฐ

แต่เป็นการเอนที่อาจกลายเป็นประเด็น

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกตัวค่อนข้าง “แรง” โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่เคยโอบกอดกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อทำงานร่วมกัน

การเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่เบาตัวเหมือนเมื่อปี 2557

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image