ขจัดจุดอ่อน-เสริมจุดแข็ง ขับเคลื่อน‘ประเทศไทยไปต่อ’

ขจัดจุดอ่อน-เสริมจุดแข็ง ขับเคลื่อน‘ประเทศไทยไปต่อ’

หมายเหตุ หนังสือพิมพ์มติชน จัดสัมมนา “ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ” มีนายสุพัฒนพษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิด และกล่าวปาฐกถาพิเศษ “พลิกโควิดเป็นโอกาส ประเทศไทยไปต่อ”นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย บรรยายพิเศษ “Next step ฟื้นประเทศไทย” และการเสวนาเรื่อง “ประเทศไทยจะไปต่อได้อย่างไร” โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีนายบัญชา ชุมชัยเวทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ที่แกรนฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินีโฮเทลแบงค็อก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

Advertisement

ปัจจุบันทั่วโลกพบปัญหาเดียวกันหมด ไทยไม่ได้ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจจากโควิด-19 เพียงประเทศเดียว ต้องขอบคุณคนไทยทุกคนและทุกภาคส่วนที่ร่วมกับรัฐบาลแก้ไข หรือเยียวยาสนับสนุนในยามยาก ก่อนหน้านี้ในปี 2563 ได้มาพูดในงานของมติชนครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีดังกล่าวเศรษฐกิจไทยจะไม่บอบช้ำมากเหมือนที่หลายฝ่ายได้พยากรณ์ไว้ เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวสูงกว่า 20% ดังนั้น ไทยลำบากแน่ เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยายวงมากขึ้น แต่เมื่อครบปี จีดีพีไทยติดลบ 6% ถือว่าน้อยกว่าที่มีการพยากรณ์ไว้ ที่คาดว่าจีดีพีไทย ปี 2563 จะอยู่ที่ ติดลบ 7-8% หรือติดลบมากกว่านั้น และบอบช้ำไม่มาก

ส่วนการจ้างงานถือว่ามีผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากพบการว่างงานเพียง 1.7% จึงอยากให้คนไทยภาคภูมิใจ เป็นภาพจำที่ได้ช่วยเหลือประเทศ ภาพเหล่านี้ต้องมีต่อไป เก็บไว้เล่าให้คนรุ่นหลังว่า ไทยร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างไร บางประเทศไม่สามารถมาประชุมร่วมกันอย่างนี้ได้ แม้ปัญหายังไม่จบ แต่ไทยพิสูจน์แล้วว่าจะกี่ครั้งก็แล้วแต่ ยกตัวอย่าง การระบาดระลอกใหม่เมื่อเดือนธันวาคม เป็นความท้าทาย หลายคนยังตกใจ เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อสูงกว่า 1 หมื่นคน เนื่องจากตรวจเชิงรุกจึงเจอผู้ติดเชื้อมากขึ้น และได้รับความมั่นใจจากสาธารณสุขว่าหากพบแต่เนิ่นๆ ก็จะรักษา ควบคุม และเยียวยาได้เร็ว ซึ่งได้ผลจริง ในครั้งนั้นสามารถรักษาผู้ติดเชื้อว่า 1 หมื่นราย ให้เหลือจำนวนหลักร้อยคนได้ใน 3 สัปดาห์

ขณะนี้ ไทยเริ่มรู้แล้วว่าการควบคุมดูแลการระบาดเป็นอย่างไร และทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ส่วนเรื่องวัคซีน แม้ปัจจุบันจะมีหลายประเทศฉีดก่อนไทย แต่รัฐบาลได้วางแผนนำเข้าวัคซีนทั้งหมด 63 ล้านโดส เพียงพอสำหรับคนไทยที่มีคุณสมบัติที่ฉีดได้ หรือคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ 2 โดส แต่หากไม่เพียงพอก็ยังมีงบประมาณที่สำรองไว้เพื่อดูและด้านสาธารณสุขประมาณ 5 หมื่นล้านบาทจึงเป็นรากฐานที่ทำให้เห็นว่า หากไม่มีการระบาดที่เกินคาด ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการโควิด-19 การฉีดวัคซีนที่เป็นระบบและเร่งรัดให้เร็วขึ้น

Advertisement

ตอนนี้น่าจะอยู่ในช่วงปลายของการระบาดโควิดแล้ว และเริ่มเข้าสู่การขยับขยายหรือเตรียมตัวเพื่อเดินหน้าต่อ เพราะฉะนั้นปีนี้จึงเป็นปีที่สำคัญมาก เป็นปีที่เกี่ยวข้องกับรอยต่อของโควิดและการบริหารรัฐกิจ (POSDCORB) มี 2 หน้าที่ ที่จะต้องทำคู่กันไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประคับประคองในระหว่างที่จบเรื่องโควิดไม่ได้ ภาครัฐได้ออกมาตรการต่างๆ อาทิ เราชนะ ม.33เรารักกัน เราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายก็จะได้รับการดูแล หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชน

ข้อมูลจากปี 2563 หลายอย่างแย่ลง แต่ตัวเลขการออมเงินของคนไทยสูงขึ้นกว่า 11% หรือประมาณ 1.5-1.6 แสนล้านบาท จึงอยากให้ออกมาใช้จ่ายเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ และเป็นการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้ผ่านวิกฤตช่วงนี้ไปได้ ทั้งนี้ เมื่อต้นปีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าจีดีพีไทยในปีนี้จะเติบโต 2.7% เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา แต่รัฐบาลได้วางเป้าหมายจีดีพีไว้ที่ 4% แต่จากการคาดการณ์จากหลายสำนักมองว่าปีนี้จีดีพีไทยจะโต 3% ยังขาด 1% หรือเป็นวงเงินประมาณ 1.6 แสนล้านบาท จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันและร่วมมือกับมาตรการของรัฐบาล ทั้งอุปโภค บริโภค เพื่อให้ความเชื่อมั่นกลับมาหลังไทยนำวัคซีนเข้ามาใช้ในประเทศ ทุกอย่างก็เริ่มเข้าสู่ช่วงที่จะพ้นโควิดไปแล้ว แต่ต้องระวังช่วงครึ่งปีหลัง และอยากให้ประชาชนช่วยเหลือกันให้เหมือนในปี 2563 ที่จีดีพีติดลบน้อยกว่าที่หลายหน่วยงานพยากรณ์ไว้

หากได้ฟังอภิปรายไม่ไว้วางใจมาอาจจะเคลิบเคลิ้มได้ว่า รัฐบาลชุดนี้มีหนี้สาธารณะสูงขึ้น และให้ฉายาว่าเป็นรัฐบาลเวรี่กู้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนโครงการใหญ่ๆ มีหนี้เพิ่มขึ้นมา 2.6 ล้านล้านบาท หักภาระที่เกี่ยวข้องกับโควิด ชดเชยโครงการจำนำข้าวในอดีต เมื่อหักส่วนนี้ไปแล้วเป็นหนี้จริงๆ ประมาณ 1.7-1.8 ล้านล้านบาท ส่วนโครงการที่ดำเนินการในขณะนี้มี 162 โครงการ เป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท เป็นเงินจากงบประมาณประจำปีมาเสริมด้วย ซึ่งหลายโครงการทยอยเสร็จแล้ว และโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างขีดความสามารถของประเทศไทย แต่โครงการส่วนใหญ่เป็นแนวนอน คนไทยจึงรู้สึกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่เหมือนการทำโครงการแนวตั้ง หรือเปรียบเหมือนการสร้างตึกก็จะเห็นการก่อสร้าง ส่วนโครงการแนวนอนคนเดินทางบ่อยๆ จึงจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบคมนาคมในประเทศ หากเดินทางทั่วกรุงเทพฯ จะเห็นว่ามีรถไฟฟ้าหลายสายกำลังสร้าง และรอวันเสร็จ ปีนี้รถไฟชานเมืองสายสีแดงจะเปิดให้บริการ ส่วนปีหน้ารถไฟฟ้าสีชมพู ภาครัฐเองก็พยายามผลักดันให้เสร็จไล่ๆ กันไปทุกปี รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างเมือง อาทิ การทำถนนเชื่อมกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งคาดว่าในปีนี้อาจเปิดให้ทดลองใช้บริการบางระยะทางได้แล้ว หรือถนนเชื่อมบางใหญ่-กาญจนบุรี เดินทางได้ภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จอีก 2 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังมีโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกหลายโครงการ สิ่งเหล่านี้คือความเชื่อมโยงของแต่ภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากเหนือลงใต้ จากลาวมาแหลมฉบัง เชื่อมต่อกับรถไฟของจีนที่มารอแล้ว และไทยกำลังสร้างรถไฟรางคู่กำลังสร้างจากอีสาน และกำลังขยับลงมาแยกออกไป เพื่อเข้าไปสู่เส้นตะวันตก และเข้าสู่พื้นที่ที่เตรียมไว้คือ จ.ระนอง เพื่อเชื่อมต่อกับฝั่งอันดามัน และในระยะยาวจะมีทวาย หากสถานการณ์การเมืองในเมียนมาสงบเรียบร้อย ขณะนี้รัฐบาลไทยได้เตรียมให้การสนับสนุนเงินกู้ โดยเตรียมงบสนับสนุนไว้ประมาณ 4 พันล้านบาทสิ่งเหล่านี้ประชาชนอาจมองไม่เห็นเพราะเป็นโครงการแนวนอน ส่วนฝั่งกัมพูชาก็มีงบประมาณจากจีนที่จะสร้างถนนขนาดใหญ่เชื่อมตัวเมือง ลาวก็มีแผนสร้างถนนเชื่อมปากเซที่จะเชื่อมสู่เวียดนามใต้ในอนาคต ทั้งหมดนี้เป็นความต้องการของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้จริงๆ ซึ่งเส้นทางเหล่านี้ไม่ได้เอื้อต่อรถยนต์อย่างเดียวเท่านั้น ยังเชื่อมกับสายส่งไฟฟ้าของประเทศไทยอีกด้วย

ปัจจุบันไทยขายไฟจากลาวไปที่มาเลเซีย ขณะนี้สิงคโปร์กำลังจะขอซื้อเพิ่มให้ต่อจากมาเลเซียไปถึงสิงคโปร์ ส่วนสายส่งไฟฟ้าตอนนี้ไปจอดอยู่ที่เมียนมา อีกไม่นานถ้ารัฐบาลเมียนมาเห็นชอบ ไทยก็พร้อมที่ช่วยเหลือเพื่อให้มีสายส่งไฟฟ้าเข้าสู่ย่างกุ้งหรือเมียวดีได้ ทั้งนี้ จะเป็นการสร้างฐานใหม่จากการที่รัฐบาลได้เตรียมการเรื่องเหลานี้ไว้ 5 ปีเต็ม จากงบประมาณเงินกู้ 1.7-1.8ล้านล้านบาท ทั้งหมดสิ่งที่รัฐบาลถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลเวรี่กู้ ตรงนี้อาจจะช้าเพราะทำแบบการสร้างเครือข่าย แต่จะทยอยเสร็จไปเรื่อยๆ นับจากปีนี้เป็นต้นไป

ในส่วนของการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีรวม 12 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เมดิคอล เกษตร เป็นต้น ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางของประเทศในยุคหลังโควิด หรือ Post Covid โดยใช้กลยุทธ์ 4 Ds ได้แก่ Digitalization, De-cabonization, Decentralization และ De-regulation ในการเปลี่ยนผ่าน โดย Digitalization ไทยมีความพร้อมในระบบสาธารณูปโภคเอไอดาต้าเซ็นเตอร์ De-cabonization การพัฒนาอุตสาหกรรมตามเป้าหมายที่จะต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไทยมีการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มการผลิตให้ได้ 30% ในปี 2030 ควบคู่กับการส่งเสริมดีมานด์การใช้ในประเทศ โดยในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 จะมีประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมตามที่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ให้ไปศึกษาแนวทางการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าตามเป้าหมายว่า ต้องมีนโยบายอย่างไร ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตของ 2 อุตสาหกรรมอยู่แล้ว

ส่วน Decentralization ต่อไปฐานการผลิตทั่วโลกจะกระจายไปยังประเทศต่างๆ ไม่กระจุกอยู่ที่เดียวอีกต่อไปแล้ว อย่างน้อยจะต้องมี 2-3 ฐานการผลิตในประเทศต่างๆ ประเทศไทยก็คือประเทศเป้าหมายในการลงทุน ขณะเดียวกันจะมีการส่งเสริมการเชื่อมโยงความเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และการท่องเที่ยว ถ้าเปิดประเทศได้เร็วขึ้นกว่าเป้าหมายที่ต้องการในเดือนตุลาคม 2564 ก็จะมีส่วนช่วยส่งเสริมจีดีพีให้เติบโตได้ 4% ตามเป้าหมาย ส่วน De-regulation เป็นการตอกย้ำว่าต้องมีที่พำนักที่ 2 เพื่อย้ายในกรณีที่พำนักเดิมไม่แน่นอนหรือไม่ปลอดภัย ซึ่งทุกประเทศจะมองหาประเทศที่พร้อมเรื่องอาหารและมีระบบสาธารณสุขที่ดี ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีครบอย่างที่หลายประเทศต้องการ

ต่อไปเป้าหมายการท่องเที่ยวของไทยจะไม่ใช่แค่มุ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน แต่ยังมีช่องทางที่จะดึงดูดผู้สูงอายุที่เกษียณจากตะวันตกมาอยู่ในประเทศไทย คนกลุ่มนี้นอกจากจะมีเงินบำนาญเดือนละ 60,000 บาทแล้ว ยังมีออนท็อปเป็นเงินช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งไทยจะเชื่อมโยงทวิภาคีหลายประเทศ ไม่ต้องดึงดูดถึง 40 ล้านคน ขอแค่ 1 ล้านคน กลุ่มนี้เข้ามาก็ได้เงินแล้ว 2 ล้านล้านบาทแล้ว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยแก้ไขกฎระเบียบอำนวยความสะดวก เช่น เรื่องเวิร์กเพอร์มิตวีซ่าที่คนเกษียณอายุสูงวัยจะต้องมารายงานตัว 90 วัน ต้องแก้และผ่อนคลายไปเรื่อยๆ โดยจะมีการประชุมการประกอบธุรกิจให้สะดวกขึ้น ในวันที่ 26 มีนาคมนี้

ปีนี้เป็นปีที่สำคัญที่สุดเป็นปีที่ต้องช่วยกัน เพราะรัฐบาลจะยืนยันคงเป้าหมายจีดีพี 4% จากที่หลายสำนักคาดการณ์ว่าจีดีพีโตแค่ 2-3% ยังเหลือส่วนต่างอีก 1% ประมาณ 1.5-1.6 แสนล้านบาท ต้องช่วยกันประคับประคอง ปีก่อนติดลบ 6% ถ้าปีนี้ได้ 4% ปีหน้าอีก 2% ก็จะกลับมา ถ้าการท่องเที่ยวกลับมาแล้ว หรือเป็นการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพก็จะดีขึ้น แต่ 4% ในปีนี้เป็นสัญญาณว่าคนไทยในยามยากลำบาก มีความเข้าใจ และมีทรัพยากรหรือเงินออมเพียงพอที่จะนำออกมาช่วยรัฐบาลในมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นการย้ำว่าประเทศไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร เมื่อส่งสัญญาณออกไปเพื่อเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการดึงดูดเชิญชวน ต้อนรับนักท่องเที่ยว และนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

มองว่าปี 2565 จะเป็นปีของการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมใหม่ และสร้างอนาคตให้คนรุ่นถัดไปเข้มแข็ง และต้องไม่ลืมภาพจำที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนรุ่นหลังว่าไทยสามารถผ่านวิกฤตนี้มาได้อย่างไร

ผยง ศรีวณิช
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

การระบาดโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปรับลดลงกว่า 6.1% ส่วนในปี 2564 เริ่มเห็นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ทั้งจากการคุมไวรัสได้ดีขึ้นการฉีดวัคซีนต้านไวรัส และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะที่ได้รับการเติมเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่องจากเม็ดเงินของรัฐและสภาพคล่องจากรัฐบาลกลาง ทำให้ต้องมีการปรับราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น และก้าวเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ ภาคธุรกิจจึงยังเผชิญความท้าทายใหม่ๆ จากการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่นที่มาเร็วกว่าคาดการณ์ไว้ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง เกิดความปกติวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล ที่ผ่านมามีการประเมินว่า ประเทศไทยต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะกลับมาสู่จุดเดิมก่อนเกิดเกิดการระบาดไวรัส-19 หรือเทียบเท่าปี 2562 ซึ่งมองว่าเป็นสมมุติฐานที่ตั้งอยู่บนความประมาทไม่น้อย เพราะความจริงอาจไม่สามารถกลับไปสู่จุดเดิมก็ได้ หากไม่มีการร่วมกันแก้ปัญหา

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจเติบโตได้เพียง 1.5-3.5% แต่เนื่องจากมีปัจจัยบวกมากขึ้น จึงมองว่าอาจเสนอให้ กกร. ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้โตขึ้นเป็น 2-4% ในการประชุมเดือนเมษายนนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ถึง 4% แต่ก็ยังต่ำกว่าเศรษฐกิจโลกที่อาจโตได้ถึง 5.6% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าเศรษฐกิจโลก สาเหตุเพราะเศรษฐกิจไทยอยู่ภายใต้พายุที่สมบูรณ์แบบ (Perfect Storm) เนื่องจากการเข้ามาของโควิด-19 ทำให้เห็นความเปราะบางต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ อาทิ ไทยพึ่งพารายได้จากต่างประเทศสูงถึงกว่า 80% ของจีดีพีรวม แบ่งเป็นการส่งออก 60-70% และรายได้จากการท่องเที่ยวอีก 10-15% ขณะที่กำลังซื้อในประเทศถูกจำกัดด้วยหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 86.7% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากที่เคยอยู่ที่ 78% ก่อนเกิดโควิด-19

โควิด-19 ทำให้เห็นว่าสังคมไทยมีกลุ่มที่เปราะบางและอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจซบเซาเป็นจำนวนมาก สะท้อนได้จากผู้มาลงทะเบียนของรับสิทธิในโครงการเราชนะในกลุ่มเปราะบางที่มีถึง 1.9 ล้านคน

ในระยะถัดไป ประเทศไทยมี 4 ความท้าทายหลักที่ต้องเผชิญหน้า ได้แก่ 1.นิวนอร์มอลที่ทำให้กุญแจสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจและธุรกิจเปลี่ยนไป 2.กฎเกณฑ์ใหม่ (New Rule) อาทิ การที่โลกให้ความสำคัญกับเรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มจะนำไปสู่กฎเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติม 3.แรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายภาครัฐ เพราะหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 41.2% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 51.8% ณ สิ้นปี 2563 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และ 4.ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในบางมิติ อาทิ จากการจัดอันดับความสามารถด้านนวัตกรรม (Global innovation index) ปี 2563 ของ World Intellectual Property Organization (WIPO) พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 44 จาก 131 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียอยู่ที่อันดับ 33 ส่วนเวียดนามอยู่อันดับที่ 42 เมื่อมีโจทย์เหล่านี้เกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นสูงมากที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ

ด้านการดำเนินนโยบายภาครัฐ ขณะนี้ความท้าทายในระยะข้างหน้า คือการบริหารจัดการและกระจายสวัสดิการอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อภาครัฐเผชิญแรงกดดันด้านภาระทางการคลังมากขึ้น โดยประชาชนมีความคาดหวังกับการสนับสนุนจากภาครัฐสูงขึ้น เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ยังมีอยู่สูง และในหลากหลายมิติ ทั้งด้านรายได้ การเข้าถึงระบบการศึกษา สาธารณสุข และเทคโนโลยี ทำให้ภาครัฐต้องดูแลสวัสดิการสังคม อาทิ การจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลสังคมผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามการก้าวสู่สังคมสูงวัยที่เข้มข้นขึ้น

จากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบว่างบประมาณรายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 6.98 แสนล้านบาท หรือ 15.8% ของวงเงินงบประมาณรวม ภายในปี 2567 จากที่เคยอยู่ที่ประมาณ 10.5% ในปี 2559 โดยรัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่ในด้านรายได้กลับมีข้อจำกัดมากขึ้น ในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่การอุปโภคบริโภคที่ต้องเสียภาษีก็ลดลง เพราะประชากรวัยทำงานลดลง รวมถึงภาครัฐต้องรักษาวินัยทางการคลัง หลังระดับหนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้น ทางออกของเรื่องนี้มีอยู่ทางเดียว คือการลดต้นทุนในการดำเนินนโยบายภาครัฐหรือลด “Cost to serve” ผ่านการเพิ่มเครื่องมือในด้านดิจิทัลและข้อมูล

โครงการของรัฐบาลที่ผ่านมาสะท้อนการจัดทำข้อมูลมากขึ้น ซึ่งถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ทำให้ทราบพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้ อาทิ โครงการเราชนะดำเนินการผ่านไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ถุงเงิน และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้สามารถคัดกรองกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 32.4 ล้านคน ในจำนวนนี้มีกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียง) กว่า 2 ล้านคน ขณะเดียวกันก็มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการประมาณ 1.2 ล้านร้านค้า โดยรัฐบาลสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปสู่ความสามารถในการดำเนินนโยบายได้ตรงจุด รวดเร็ว โปร่งใส ลดการทุจริต และป้องกันเม็ดเงินรั่วไหลได้ แต่ต้องมีความมั่นใจว่าการพัฒนาไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ต้องทำให้เกิดประโยชน์ในการนำมาใช้สูงสุด และไม่ควรเกิดการพัฒนาซ้ำซ้อนหลายแพลตฟอร์ม เพราะจะเป็นการเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ หากรัฐทำได้ เชื่อว่าภาคประชาสังคมก็อาจมอบความไว้วางใจให้รัฐมีบทบาทมากขึ้นในการจัดสรรทรัพยากร

หัวใจที่แท้จริงของการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และศักยภาพการเติบโตของจีดีพีให้ดีกว่าระดับ 3-4% ในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่รัฐหรือเอกชนทำเองไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันผลักดัน สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ เรื่องการวิจัยและการพัฒนาหรือการสร้างนวัตกรรม (อาร์แอนด์ดี) ที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเร่งลงทุนในอาร์แอนด์ดี เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และยกระดับการแข่งขันของประเทศ เพราะปัจจุบันนี้ค่าใช้จ่ายอาร์แอนด์ดีของไทยคิดเป็นเพียง 1.1% ของจีดีพี ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ระดับ 2.3% และยังห่างไกลประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่มีการลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีมากถึง 3-5% ของจีดีพีรวม โดยที่ผ่านมาภาครัฐก็ตระหนักถึงปัญหานี้ สะท้อนผ่านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ตั้งเป้าเพิ่มค่าใช้จ่ายอาร์แอนด์ดีของประเทศเป็น 2% ของจีดีพีภายในปี 2570 พร้อมเร่งพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนอาร์แอนด์ดีจากภาครัฐเป็น 30% จากเดิมอยู่ที่ 20% ทั้งยังต้องสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในอาร์แอนด์ดี และการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์และบริการสู่ตลาดจริง

อุปสรรคสำคัญของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัลและและดิจิทัลไลเซชั่นคือ ปัญหาด้านแรงงาน โจทย์ท้าทายสำคัญคือ จะต้องทำการอัพสกิลและรีสกิลแรงงานอย่างไรให้เพียงพอกับอุตสาหกรรมในประเทศ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าไทยมีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในสาขาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จำนวน 5.7 แสนคนต่อปี แต่ทำงานตรงสายงานแค่เพียง 15% เท่านั้น และในแต่ละปีประเทศไทยสามารถผลิตบัณฑิตด้านไอทีที่มีคุณสมบัติเพียงพอกับความต้องการของภาคธุรกิจได้ไม่เกิน 5,000 คน

สะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคของการเปลี่ยนผ่านนอกเหนือจากเรื่องของเงินทุน ทำให้การเร่งปั้นบุคลากร เสริมและปรับทักษะใหม่ๆ เพื่อสร้างศูนย์รวมคนเก่ง ที่เป็นโจทย์ใหญ่ของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ต้องทะลวงให้ได้ เพราะถึงเวลาแล้วที่ต้องร่วมกันหันกลับไปมองว่า ระบบค่าตอบแทนแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนสำหรับวุฒิปริญญาตรีอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ตอบโจทย์การทำงานอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่

ดึงคนรุ่นใหม่ สร้างพลังขับเคลื่อน ศก.

ฐาปน สิริวัฒนภักดี
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ทุกวิกฤตจะมีโอกาสอยู่เสมอ ตอนนี้โลกทั้งใบกำลังเอียงมาอยู่ทางทิศตะวันออกคือทวีปเอเชีย ประชากรโลก 7,800 ล้านคน ประชากรในทวีปเอเชียมีประมาณ 4,600 ล้านคน หรือ 60% ของประชากรโลก ประมาณ 10-15 ปีก่อนต้องไปลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพ ประเทศที่ใหญ่ ที่เคยได้ยินกลุ่มประเทศบริค (BRICS) ที่มีบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ ไม่จำเป็นต้องมองไปไกลถึงขนาดนั้น แต่การที่ยืนอยู่ในประเทศไทยมีโอกาสรอบตัวมหาศาล เพียงแต่จะทำความเข้าใจได้มากน้อยขนาดไหน เห็นโอกาส และพร้อมที่จะมีทักษะในการนำโอกาสมาเป็นประโยชน์ในด้านธุรกิจ องค์กร หรือประเทศชาติ

มีคำกล่าวโบราณเอาไว้ว่า โอกาสผ่านหน้าตัวเองอยู่เสมอ เพียงแค่มีความรู้ความเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือโอกาสหรือเปล่า แต่ในขณะที่มีความรู้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือโอกาส ลองถามตัวเองว่ามีทักษะความสามารถจะหยิบเอาโอกาสเหล่านั้นมาเป็นประโยชน์มากน้อยขนาดไหน ทั้งสองเรื่องคือ ความรู้กับทักษะ มองไปในรูปแบบของโอกาสของภาคพื้นเอเชีย กลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยมีจำนวนประชากร 68-69 ล้านคน ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก ทำไมจึงพูดว่าประชากรมีส่วนสำคัญในการขยายตัวธุรกิจ เป็นเพราะเมื่อออกเรือไปจับปลาต้องไปดูที่ที่ปลาอยู่ ผู้บริโภคก็คือประชาชนนั่นเอง แต่การที่โอกาสเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย และกำลังถูกสั่นคลอนด้วยสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน อย่างเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็จะโยงกลับมาในเรื่องของเทคโนโลยี เชื่อว่าวันนี้ทุกๆ คนเรียกได้ว่าเป็นสมาร์ทคอนซูมเมอร์ (Smart Consumer) มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีเก่งกว่าเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีก่อน แต่ก่อนกดสั่งของไม่ค่อยเป็น แต่ตอนนี้เก่งมาก ไม่ใช่แค่กดสั่งอย่างเดียวแล้ว ยังเทียบโปรโมชั่น
ว่าของใครแรงกว่ากัน แสดงว่าทักษะของคนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ถ้ามองถึงเรื่องของโอกาส ซึ่งแน่นอนในภาคธุรกิจต้องวางในเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ คิดในเชิงของกลยุทธ์ รู้เขารู้เรา เรื่องนี้สิ่งที่สำคัญคือมองโลกและมองตัวเอง อยู่ที่ว่าจะมีโอกาสบริหารจัดการตัวเองได้ดีขนาดไหน ขอพูดอยู่ 4 คำ มองโลก มองเรา จัดการตัวเรา เขย่าโลก

ความมั่นใจของภาคเอกชนมีอยู่แล้ว เพราะบ่อยครั้งที่ไปลงทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร ก็รู้สึกว่าทำไมเราไม่มีโอกาสใช้เม็ดเงินลงทุนในบ้านเราเอง บางทีโอกาสก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ภาครัฐก็เป็นส่วนหนึ่ง เสียงของประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่ง พอภาครัฐจะให้เอกชนทำอะไรบางอย่าง เสียงประชาชนก็จะบอกว่า ทำไมต้องเป็นคนนั้น ทำไมต้องคนนี้ มุมมองทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าจะเปรียบประเทศไทยเหมือนกับครอบครัว การที่คนในครอบครัวจะมีทัศนคติที่ดีต่อกัน มีความเข้าใจต่อกัน มีความรัก ความสามัคคี ประโยชน์ที่จะให้กันและกัน นั่นคือพลัง ลองคิดดูว่าถ้าประเทศอื่นรวมตัวกันได้แน่นกว่า เขาก็ได้เปรียบกว่า

หลังจากสถานการณ์โควิดได้นำเอาเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาใช้ประโยชน์ แต่ต้องรู้ว่าจะเอามาใช้อย่างไร ต้องมีการวางแผนกันก่อน ก่อนที่จะไปเรื่องเอไออาจจะมองเรื่องของไอเอก่อน คือ Information Architecture ว่ารูปแบบจะใช้อย่างไร เอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม มีการประเมินว่างานเดิมจะหายไปเมื่อไร ต้องมีการรีสกิลใหม่เมื่อไร กลุ่มไทยเบฟได้มองไปถึงปี 2593 เพื่อเตรียมความพร้อมใช้แรงงานหุ่นยนต์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ปี 2583 เชื่อหรือไม่ว่าต้องปรับเวิร์กฟอร์ซใหม่ทั้งหมด ยิ่งในระบบโลจิสติกส์ที่ปัจจุบันมีอยู่หมื่นคนก็จะเหลือไม่ถึงพันคน แสดงว่าหายไปเกือบ 70% ถ้ามองในภาพรวมก็น่าคิด เราเป็นบริษัทเอกชนที่ช่วยเหลือเศรษฐกิจภาพรวมของรัฐบาล ต้องสามารถสร้างการเติบโต เพิ่มรายได้ให้คนของเรา พวกเราต้องช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นฟันเฟืองเล็กๆ

ต้องเตรียมพร้อมรีสกิล อัพสกิล รันโปรแกรม เตือนความคิดอย่าประมาทกับสถานการณ์โดยรวม นึกภาพการแข่งขันที่มีการวิ่งกำลังเข้าโค้ง มีการลดความเร็ว การค้าลดลง พอหลังโควิดใครเข้าโค้งได้ดีกว่ากัน แล้วก็มีกำลังขาพร้อมที่จะออกแรง สำหรับในทางตรงได้ดีกว่ากันผมกำลังประเมินว่าใครประคองได้ดี มีทักษะมีความเข้าใจถึงศักยภาพหน่วยงานองค์กรของตัวเอง ภายหลังปี 2565 น่าจะมีโอกาส 5-8 ปี แบบสบายๆ ถ้าใครที่อยู่ท้ายเข้าโค้งช้ากว่าคนอื่น อยู่ในภาวะที่ต้องปรับตัวอย่างแรง

สิ่งที่อยากเห็นไม่ใช่แค่ภาคเอกชน แต่รวมไปถึงเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาสร้างพลังใหม่ๆ พลังของเด็กรุ่นใหม่พร้อมที่จะขับเคลื่อน แล้วก็เติมเต็มโอกาสของเศรษฐกิจไทย

พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ได้มีโอกาสทำงานกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตด้านรายได้ของคนระดับล่าง ถ้าเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยแล้วเพิ่มจีดีพีในภาพรวม 1% ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท สินค้าโอท็อปในปี 2559 มีมูลค่า 1.09 แสนล้านบาท ส่วนในปี 2563 มีมูลค่า 2.57 แสนล้านบาท นับรวมแล้วอาจไม่ถึง 2% ของจีดีพีภาพรวม แต่ถ้าช่วยอันอุดหนุนสินค้าโอท็อป ก็จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ในวิสาหกิจชุมชนหันกลับมาสนใจพร้อมนำเทคโนโลยีมาปรับใช้

โครงการผ้าขาวม้าที่เด็กรุ่นใหม่ได้เข้ามาเปิดเพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ก็สามารถขายของ ส่งสินค้า ตกลงราคากัน ผ้าขาวม้าเป็นผ้าอเนกประสงค์ที่ไว้นุ่งห่ม มาเช็ดตัว ไกวเปล แต่เราไม่เคยประยุกต์ใช้ เปรียบเหมือนกับสมาร์ทโฟนที่ไม่ได้โหลดแอพพลิเคชั่น ผ้าขาวม้าไม่ได้มาประยุกต์ใช้ ประโยชน์ก็จะน้อยลง ซึ่งได้ร่วมกับสถาบันการศึกษามาร่วมกันประยุกต์ เป็นประโยชน์กับชุมชน ให้ลงมือทำ ให้มีทักษะ เรียนรู้ เอกชนจะช่วยมาขับเคลื่อน รัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุน

การเสริมทักษะอาชีพ ได้ประธานที่ปรึกษาคือ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ซึ่งได้น้อมนำพระบรมราโชบายของในหลวงมาสร้างทัศนคติที่ดี สร้างทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และเสริมในเรื่องจริยธรรมการเป็นคนดีของสังคม ช่วยประเทศชาติบ้านเมือง เน้นทักษะอาชีพในเรื่องของการค้าขาย ทำบัญชีครัวเรือน เป็นประโยชน์ที่ดีที่เขาจะได้เห็นศักยภาพทางการเงินในระดับครัวเรือน ที่อยากให้สนใจอีกอย่างคือบัญชีค้าขาย ซื้อมาขายไป

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้มองไปถึงเศรษฐกิจฐานราก เป็นแกนที่วัดระหว่างประสิทธิภาพการผลิตกับปัจจัยขั้นพื้นฐานทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน อยากจะให้พี่น้องในชุมชนระดับตำบลมาสนใจสร้างผลผลิต ค้าขายเป็นผลิตภัณฑ์ อาจจะยังไม่ต้องทำทั้งหมด แบ่งไร่การปลูกข้าวเจาะตลาดคนเฉพาะกลุ่ม สู่การทำเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวโดยชุมชน อยากให้คนต่างพื้นที่ช่วยไปอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของแต่ละพื้นที่

วันนี้เราก็แค่เป็นฟันเฟืองส่วนเล็กๆ ที่ทำงานขับเคลื่อนเชื่อมโยงกัน และก็ถือว่าเป็นความร่วมไม้ร่วมมือ เพราะผนึกกำลังกัน ต่างคนต่างไปลงแรงหรือว่ามีความถนัด และนำไปสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในสิ่งที่ภาคเอกชนทำ เรามีความมุ่งมั่นอยู่แล้วที่จะเสริมศักยภาพ ถ้าถามว่าประเทศไทยไปต่อได้ไหม มั่นใจว่าไปต่อแน่นอน ถ้าเป็นคนไทยแล้วยังไม่ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคม แล้วโอกาสการเติบโตของบ้านเราก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่มาเติมพลังแฝงในทักษะใหม่ๆ ในสิ่งที่เราไม่ถนัดอย่างดิจิทัล จุดเริ่มต้นของการค้าไร้พรมแดนอย่างแท้จริง ของที่ขายอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม แสดงว่าขายที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่แค่ตลาดในเมืองไทยที่ไม่ถึง 70 ล้านคน ขยายไปตลาดภูมิภาคอาเซียน อาเซียนบวกๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิก หรือระดับโลกก็ตาม ขอขอบคุณที่พวกเราได้รวมพลังกันได้ร่วมไม้ร่วมมือในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image