รายงานหน้า2 : พปชร.ชิงนำรื้อ13มาตรา ตอบโจทย์แก้รธน.?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลง พปชร.เตรียมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 มาตรา 5 ประเด็น

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการภาควิชาการรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี

การเสนอแก้ไขรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐมองว่าเป็นการเล่นเกมเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ทำให้เห็นว่าพรรคนี้ไม่ได้ยื้อ เพื่อไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้ถูกมองว่าพรรคมีส่วนในการยื้อ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ล่าสุดถือว่าเป็นการแก้เกมทำให้เห็นว่าพรรคไม่ได้คิดเช่นนั้น แต่ต้องการแก้ไขรายมาตรา ส่วนสาระสำคัญในการแก้ไขเป้าหมายเพื่อกระชับอำนาจของพรรคเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถทำให้สถานการณ์ความขัดแย้ง หรือปัญหาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญจบลง
เพราะข้อเสนอของอีกฝ่ายได้เสนอแก้ไขเพื่อร่างใหม่ ส่วนพรรคพลังประชารัฐเสนอแก้ไขการลงคะแนนจากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อกับ ส.ส.เขต ไม่ยกเลิกเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่ให้ ส.ส.มาร่วมตรวจสอบและ ส.ว.ยังมีอำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรี เป็นการแก้ไขเพื่อกระชับอำนาจของรัฐบาล ในสถานการณ์ที่เริ่มรู้สึกว่าปัญหาทางการเมืองในพรรคพลังประชารัฐเริ่มวิกฤต และมีกระแสพูดถึงการยุบสภา พรรคจึงช่วงชิงความได้เปรียบไว้ก่อน
พรรคพลังประชารัฐไม่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไกลกว่าเป้าหมายที่พรรควางไว้จึงช่วงชิงการนำก่อนการเคลื่อนไหวของพลังมวลชนที่ต้องการล้มรัฐบาล สำหรับพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยจะเดินเกมเดียวกัน เห็นด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะทั้ง 2 พรรคมีจุดยืนในการแก้ไข การเปิดทางแบบนี้เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยืนยันว่าไม่ได้โกหกหลอกลวง
แน่นอนว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ยอมให้ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยชิงออกตัวก่อน หาก 2 พรรคนี้ออกตัวแล้วไปร่วมกับฝ่ายค้านอาจจะไม่แก้ไขเฉพาะรายมาตรา แต่จะมีการร่างฉบับใหม่ อาจทำให้พรรคพลังประชารัฐสูญเสียความชอบธรรมและอาจทำให้แผนการกระชับอำนาจไม่เป็นตามเป้าหมาย และพรรคนี้ต้องออกมาชิงเกมก่อนอย่างน้อยเพื่อรักษาฐานมวลชนในกลุ่มอนุรักษนิยมไว้ให้มากที่สุด
สำหรับการแก้ไขรายมาตราเชื่อว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้คิดอะไรที่แตกต่าง เพราะเชื่อว่าจะต้องแสดงจุดยืนเพื่อรักษาพื้นที่ทางการเมืองเท่านั้น หลังจากผิดพลาดอย่างหนักที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับรัฐบาลนี้ ทำให้กระแสพรรคตกต่ำ จึงต้องยึดวาทกรรมด้วยเหตุผลหรือเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อหวังแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ไม่เข้าใจเจตจำนงที่แท้จริงว่ามีเป้าประสงค์อย่างไร และเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังเลือกเส้นทางนี้ต่อไปเพื่อรักษาฐานคะแนนนิยมจากประชาชนที่ศรัทธาในแนวอนุรักษนิยม ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก ต้องการมีรัฐธรรมนูญที่มี พล.อ.ประยุทธ์สามารถสืบทอดอำอาจต่อไปได้
กรณีพลังประชารัฐชิงออกตัวเชื่อว่า 2 พรรคขนาดกลางที่ร่วมรัฐบาลคงไม่ทราบล่วงหน้า แต่ยืนยันว่าเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพลังประชารัฐ ก่อนที่ทั้ง 2 พรรคขนาดกลางจะออกมาถือธงนำ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไกลกว่านี้ เพราะอาจเสนอแก้มาตรา 256 และมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.แม้ว่าจะทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ และพรรคพลังประชารัฐได้ชิงการนำก่อนที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นัดแกนนำประกาศจะออกมาชุมนุมในวันที่ 4 เมษายน 2564 เพื่อไล่รัฐบาลและเสนอแนวทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ที่สำคัญหลังจากกฎหมายประชามติออกมาบังคับใช้ ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะเรียกร้องให้มีการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหลังจากนี้จะมีการออกมารณรงค์ขององค์กรภาคประชาชนหลายภาคส่วน จะเป็นคู่ขนานระหว่างการเสนอแก้ไขรายมาตรา และแก้ไขโดยร่างใหม่ทั้งฉบับที่มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นกระแสความขัดแย้ง
สำหรับข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐเชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านไม่เล่นด้วยแม้ว่าจะแก้ไขเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน แต่การเสนอแนวทางนี้ทำให้ฝ่ายค้านเสียจุดยืน หรือข้อเสนอบางอย่างทางการเมือง ที่ทำให้พรรคพวกตัวเองมีเส้นทางเดินภายใต้เกมของพรรครัฐบาล แม้ว่าการเสนอแก้ไข 13 มาตรามีโอกาสทำได้ตามไทม์ไลน์ที่พลังประชารัฐประกาศไว้ เพราะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว.หรือประเมินว่าอาจจะมี ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านที่ไม่โหวตลงคะแนนเห็นด้วยกับญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในครั้งก่อนมาร่วมยกมือโหวตด้วย และหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านแล้วจะยุบสภาหรือไม่ก็ต้องดูเสถียรภาพของรัฐบาล ปัญหาในพรรคพลังประชารัฐที่เริ่มมีความขัดแย้ง และปัญหาจากภาคประชาสังคมที่ออกมาขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในหลายประเด็น

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

ดูจังหวะเวลาแล้วน่าจะเป็นยุทธวิธีเพื่อลดกระแสกดดันจากสังคมและยื้อเวลาออกไปอีก สำหรับการแก้ไขให้บัตรเลือกตั้งกลับไปมี 2 ใบเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 เชื่อว่าไม่ตอบโจทย์ใดๆ
ขณะที่ส่วนตัวและนักวิชาการจำนวนมากเห็นว่าระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 เอื้อให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่แปลกใจว่าพรรคพลังประชารัฐที่เสนอแนวทางนี้ก็ไม่น่าจะชอบ เพราะหากใช้กติกานี้พรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบมากที่สุด และที่ผ่านมายังมีข้อเสนอในการเลือกตั้งที่ดีกว่านี้ออกมาเป็นระยะอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นการเสนอแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นการเสนอย้อนกลับไปโดยไม่คิดอะไรเหมือนเป็นการตัดแปะความคิด
สำหรับการพิจารณาการใช้อำนาจของ ส.ว.และระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะถือเป็นการกำหนดที่มาของผู้บริหารประเทศ หากไม่แก้ไขด้วยการขุดรากเหง้าของแนวคิดที่จะสืบทอดอำนาจหรือทำในสิ่งที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดท้าทายไว้ หากต้องการลดการสืบทอดอำนาจให้ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เชื่อว่าถึงที่สุด ส.ว.คงไม่โหวตให้ตัวเองถูกยกเลิกก่อนสิ้นสุดวาระในบทเฉพาะกาล แต่แก้ไขเพื่อยกเลิกอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีเชื่อว่ายังทำได้และเป็นสิ่งที่จำเป็น หากพรรคพลังประชารัฐต้องการคงอำนาจนี้ไว้ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร
ส่วนการแก้ไขให้ ส.ส.มาร่วมตรวจสอบยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่ตอบโจทย์เพราะ 2 ปีที่ผ่านมายุทธศาสตร์ชาติไทยไม่ได้ทำหน้าที่อะไร ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณมากกว่า ประเมินว่ายุทธศาสตร์มีไว้ เจตนาเดิมก็คงเอาไว้ตรวจสอบรัฐบาลที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ชอบ
ในแง่การเมืองหากพรรคพลังประชารัฐเสนอแก้ไขรายมาตราแล้วพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ชาติพัฒนาเห็นด้วยก็น่าแปลกใจ ถือเป็นการวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่น่าประหลาดใจ แต่ขณะนี้ทราบว่าทั้ง 3 พรรคที่ร่วมรัฐบาลต้องการเสนอปิดสวิตช์ ส.ว.เหมือนกันทั้งหมด เนื่องจากไปสอบถามความเห็นในภาพรวมแล้วประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน ส่วนข้อเสนอแก้ไขรายมาตรา ไม่แตะอำนาจ ส.ว.ของพลังประชารัฐที่พยายามเล่นบทชิงธงนำแสดงความจริงใจ แต่ถ้าหาก 3 พรรคร่วมไม่เอาด้วยไม่แน่ใจว่าจะแตกหักหรือไม่ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์ในขณะนั้นจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้ยังไม่แตกหักเพราะเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่พร้อมที่จะออกไปเลือกตั้งใหม่
ขณะนี้ยอมรับว่าวิธีคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับน่าจะเป็นเรื่องยาก แม้ว่าจะมีข้อเสนอให้ไปถามประชาชนหลังมี พ.ร.บ.ประชามติออกมาประกาศใช้
แต่ยังไม่มีองค์กรใดเสนอตัวออกมาเป็นเจ้าภาพ แต่ในภาพรวมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้จะมี 4 แนวทาง 1.มีภาคประชาสังคมเป็นเจ้าภาพ เมื่อมีกฎหมายประชามติออกมาก็ไปถามประชาชนว่าจะแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ 2.แนวทางของพรรคพลังประชารัฐเสนอแก้ไขรายมาตรา แต่ไม่ได้แก้แก่นแท้ที่มาในการเข้าสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรี และต้องการชูธงนำเพื่อทำให้เห็นว่าทำแล้ว 3.พรรคการเมืองต่างๆ จะเสนอร่างแก้ไขเป็นรายมาตราในประเด็นที่พรรคเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย ทำให้ประชาชนเห็นว่าอะไรเป็นเรื่องจำเป็น 4.กรณีกลุ่มก้าวหน้าจะล่า 1 ล้านรายชื่อ เสนอรื้อโครงสร้างทั้งหมดอาจจะไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร เพราะถือว่ารื้อ
มากเกินไป
ปัญหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากจะดูถึงการยุบสภาก็น่ามีความเป็นไปได้ แต่คงไม่ใช่ปัญหาจากการแก้รัฐธรรมนูญเป็นหลัก หากประเมินจาก 4 แนวทางถือเป็นการกระตุ้นความสนใจของประชาชนหรือสร้างบรรยากาศของรัฐธรรมนูญให้กลับมาอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าหากยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อาจทำให้ประเทศล่มจมแน่นอน
ดังนั้น การสร้างบรรยากาศในการแก้ไขเป็นเรื่องที่ดีแต่จะนำไปสู่การยุบสภาหรือไม่ หากจะยุบจริงน่าจะเป็นความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลจากการแย่งเก้าอี้หรือผลประโยชน์
ส่วนพลังกดดันภายนอกสภา เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีประเด็นอื่นเข้ามาประกอบ เช่น มีการผูกโยงกับความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลที่มาจากระบบเลือกตั้งและการโหวตของ ส.ว.สรรหา แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ หรือปัญหาอื่นที่อาจจะกลับมาอีกช่วงกลางปี 2564 โดยที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการได้ จุดเปลี่ยนจะอยู่ตรงนั้น
ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ได้อยู่ในความสนใจของประชาชน หากจะจุดติดหรือไม่ ต้องมีเรื่องอื่นเข้ามาเสริมและต้องมีการผูกโยงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ดีจะทำประชาชนมีโอกาสได้รัฐบาลที่ดีมากกว่านี้ได้อย่างไร

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การแก้ไขรายมาตราตามที่นายไพบูลย์นำเสนอ 5 ประเด็นไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าหากมีการแก้ไขก็ไม่ควรมี ส.ว.ในบทเฉพาะกาล หรือมีการเสนอตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนการเสนอแก้ไขเรื่องการปฏิรูปประเทศจะแก้ไขหมวด 16 ให้ ส.ส.ไปร่วมตรวจสอบ เชื่อว่าจะทำให้ ส.ส.ไปเสริมการใช้อำนาจของ ส.ว.ให้มากขึ้น เพราะเดิมการมีกฎหมายการปฏิรูปก็เหมือนการตัดอำนาจของ ส.ส.ขณะที่ ส.ว.ควรมีอำนาจเพียงกลั่นกรองกฎหมายหลังจากผ่าน ส.ส.มาแล้ว ดังนั้น ส.ว.ไม่ควรมีอำนาจมากเกินไปเหมือนปัจจุบัน แต่ขณะนี้กลายเป็นว่าเรื่องอะไรที่เป็นกฎหมายปฏิรูป เช่น กฎหมายประชามติก็จะมี ส.ว.มาร่วมพิจารณาด้วย
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือการยกเลิก ส.ว. หากยกเลิกไม่ได้ก็ต้องปิดสวิตช์ไม่ให้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี กฎหมายที่เกี่ยวกับปฏิรูปก็ต้องยกเลิกเพื่อให้ ส.ว.เอามาเป็นข้ออ้างในการครอบงำรัฐสภา และการเสนอให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบถ้าทำได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ส่วนตัวไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้จริง หรืออาจเป็นการสร้างภาพหลอกลวงให้ประชาชนตายใจ จากการทำให้เห็นว่ารัฐบาลนี้จริงใจไม่ปิดกั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเมื่อเอาจริงก็เกรงว่าจะเป็นเหมือนครั้งที่แล้ว เพราะฉะนั้นหากจะทำจริงต้องแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดช่องให้แก้ไขมาตราอื่น
ส่วนตัวมองว่าการเสนอแก้ไขรายมาตราเป็นการหลอกล่อ ไม่ได้มีเจตนาจะแก้ไขจริง แต่ถ้าหากแก้ไขได้จริงก็เป็นการเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.และการเลือกตั้งแม้ว่ามีบัตร 2 ใบ แต่ถ้ายังมี ส.ว. 250 คน เหมือนเป็นร่างทรงของรัฐบาลถามว่าจะมีประโยชน์อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อให้ ส.ว.ครอบงำรัฐสภา
สำหรับพรรคพลังประชารัฐรีบเสนอแก้ไขก็แค่ต้องการแก้ภาพพจน์เพราะครั้งที่เสนอญัตติร่างแก้ไขแล้วตีตกในวาระ 3 ล่าสุดจึงสร้างภาพให้ดูดีว่าเป็นฝ่ายเริ่มต้นออกมาโยนหินถามทางสร้างกระแสให้น่าสนใจ
แล้วถ้าพรรคประชาธิปัตย์หรือภูมิใจไทยไม่เอาแนวทางนี้ก็เชื่อว่าพลังประชารัฐคงไม่สนใจ เพราะจะแก้ไขได้หรือไม่อยู่ที่การโหวตของ ส.ว.มากกว่า และเชื่อว่าประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยก็คงเอาด้วย เนื่องจาก 2 พรรคนี้จะเกาะแน่นไม่ทิ้งจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แล้วสุดท้ายก็คงมีวาทกรรมข้ออ้าง และหากพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยต่อรองให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล
ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเคยหาเสียงไม่เอาการสืบทอดอำนาจ หากมีความจริงใจกับประชาชนก็ควรใช้โอกาสนี้ปลุกกระแสแก้ไขมาตรา 256 ให้ได้เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.และพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนักกฎหมายชั้นนำ ถ้าอ่านเกมการเมืองออกคงทราบว่าแก้ไขรายมาตราประชาชนไม่ได้ประโยชน์ และทุกอย่างจะเป็นไปตามความต้องการของพรรคการเมืองที่ร่วมมือกับ ส.ว.เสนอให้แก้ไข โดยมีเป้าหมายผนึกกำลังให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
หรือหากประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย มองถึงการเมืองในอนาคต มองถึงปลายทางของความขัดแย้ง หรือเห็นว่าตัวเองไม่อยากเป็นเบี้ยล่าง หากร่วมกันเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 โยงถึงมาตรา 272 ก็ต้องขอแสดงความยินดีล่วงหน้า และถือว่ามีเจตนาบริสุทธิ์ไม่มีอะไรแอบแฝง ต้องการเสนอเพื่อประโยชน์ของประชาชน ให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image