โปรเจ็กต์ ‘ครม.สัญจรกระบี่’ ชงพัฒนา ‘จังหวัดอันดามัน’

โปรเจ็กต์‘ครม.สัญจรกระบี่’ ชงพัฒนา‘จว.อันดามัน’ หมายเหตุ - ข้อเสนอแนะ

โปรเจ็กต์ ‘ครม.สัญจรกระบี่’ ชงพัฒนา ‘จว.อันดามัน’

หมายเหตุข้อเสนอแนะภาคเอกชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จัดประชุม ครม.สัญจร และประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่ จ.กระบี่ ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายนนี้

—————————-

สลิล โตทับเที่ยง
ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

Advertisement

มีหลายเรื่องที่จะนำเสนอเป็นผลการสรุปจากการหารือในสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร สมาคมการท่องเที่ยว รวมทั้งประเด็นที่สอดคล้องกับแผนงานและข้อเสนอของหน่วยงานราชการในกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาผลกระทบการท่องเที่ยวจากสถานการณ์โควิด-19 ด้านการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน

การประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ จะมีข้อเสนอใหม่ๆในเชิงนโยบายต่อจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะต้องมีการฉีดวัคซีนให้มีความพร้อมรับการท่องเที่ยว แต่ถ้าหากจะให้นักท่องเที่ยวและประชาชนมีความมั่นใจ จะต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกมาก คราวนี้ขอเสนอโครงการอันดามัน เฮลธ์ โดยนำไปไว้ในโครงการภูเก็ต เฮลธ์ แซนด์บ็อกซ์ เน้นการยกระดับการให้บริการของสถานพยาบาลในภูเก็ต เพื่อดูว่าจะมีข้อจำกัดหรือติดขัดอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับก็จะเข้ามาช่วยเหลือ ถือเป็นเรื่องด่วนเชิงนโยบายที่จะขอรับการสนับสนุนจาก ครม. เพื่อขยายผลไปจังหวัดอื่นได้

นอกจากนั้น เรื่องเร่งด่วนจะขอเสนอตัวในการจัดงานเอ็กซ์โปขนาดย่อม กำหนดจัดในปี 2028 หรือ 2571 แต่ด้วยเงื่อนเวลาจะต้องเตรียมความพร้อมในการเสนอตัวและต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เพื่อยื่นเสนอตัวแข่งขันกับประเทศอื่นในเดือนธันวาคม 2564 สำหรับการวางแผนจัดงานนี้จะเน้นเรื่องการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ หรือเมดิคอลฮับในอนาคต หากได้รับความไว้วางใจให้จัดจะเป็นชื่อเสียงของกลุ่มอันดามันและประเทศไทย เนื่องจากมีการประเมินว่าจะมีผู้เข้าชมงานในช่วงเวลาที่จัดกิจกรรมกว่า 10 ล้านคน

Advertisement

สำหรับประเด็นอื่นที่นำเสนอจะเป็นการต่อยอดในโครงการที่ทำไปแล้ว เช่น การสร้างถนน การขนส่งทางเรือ การพัฒนาร่องน้ำเศรษฐกิจใน จ.สตูล การขุดร่องน้ำที่ตื้นเขินใน จ.ตรัง จะเสนอให้ดำเนินการ และประสบการณ์จากโควิด-19 ที่ผ่านมา และปัญหาหลังจากมีคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547ทำให้การท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่อ่อนไหว มีผลกระทบได้ง่าย หากเกิดปัญหาทำให้นักท่องเที่ยวลดลงทำให้เศรษฐกิจในกลุ่มจะไม่กระทบรุนแรง ดังนั้นจะต้องพึ่งพาเรื่องอื่นตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเพราะที่ผ่านมามีการพึ่งพาการท่องเที่ยวแต่ละเลยการเกษตร ทั้งที่การเกษตรสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ประชุม ครม.ครั้งก่อนเสนอให้ ครม.จัดโครงการเลี้ยงแพะแปลงใหญ่ เลี้ยงในสวนยาง สวนปาล์ม คราวนี้จะต่อยอดด้วยการเสนอแปรรูปแพะเป็นผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพื่อจัดจำหน่ายระดับสากล มีการเสนอการพัฒนาการทำประมง การยกระดับของสินค้า ควบคู่กับการรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อการทำอาชีพให้ยั่งยืน กลุ่มอันดามันจะเสนอให้ ครม.ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทางเลือกจากเศษวัสดุทางการเกษตร หากทำได้ก็จะมีการลงทุน เพื่อลดต้นทุนการผลิต สำหรับบางเรื่องที่เข้า ครม.หลายครั้งเพื่อผลักดันให้เกิดเมืองสปา โดยใช้โมเดลที่คลองท่อม จ.กระบี่ เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้ต่อเนื่องในหลายจังหวัดมีบ่อน้ำร้อนทั้งระนอง พังงา ตรัง สตูล ดังนั้นจะขอให้ ครม.สนับสนุนเพื่อพัฒนาบ่อน้ำร้อนแต่ละจังหวัดให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อกระจายรายได้ในชุมชน ขณะที่กลุ่มอันดามันจะเสนอเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ หากจัดได้ทั้ง 6 จังหวัดจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับ จ.ตรัง จะให้ความสำคัญกับการขุดลอกร่องน้ำกันตัง เพราะมีเรือขนส่งสินค้าตลอดเวลา แต่ร่องน้ำตื้นเขินไม่ได้ขุดลอกมานาน ช่วยผลักดันให้มีการทำพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ มทร.ศรีวิชัย เพื่อช่วยศึกษาสัตว์น้ำหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาสนามกีฬาให้มีมาตรฐาน เพื่อยกระดับตรังเป็นสปอร์ตซิตี้

———————-

วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ
คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)
กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

เบื้องต้นแต่ละจังหวัดเสนอมาแบ่งได้ 8 ด้าน รวม 83 โครงการ ซึ่งที่ประชุมจะต้องมีการพิจารณาคัดเลือกกลั่นกรองกันอีกหลายครั้งก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป อาทิ 3 จังหวัดฝั่งอันดามัน ตรัง กระบี่ ภูเก็ต เสนอขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 (พ.ศ.2568 หรือ ค.ศ.2025) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และ จ.ภูเก็ต มีแผนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Speciatized Expo) ในปี พ.ศ.2571 (ค.ศ.2028) เพื่อส่งเสริมการเป็นเมืองจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

ด้านโครงสร้างพื้นฐานมี 32 ข้อเสนอ อาทิ 1.จ.กระบี่เสนอโครงการพัฒนาศักยภาพการรักษาความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวหลักด้วยระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรม งบประมาณ 250 ล้านบาท 2.จ.กระบี่เสนอพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท งบประมาณ 100 ล้านบาท 3.จ.กระบี่เสนอจัดตั้งศูนย์วิจัยและบริการวิชาการภูมิภาคอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ งบประมาณ 90 ล้านบาท 4.จ.กระบี่เสนอปรับปรุงท่าเทียบเรือโดยสาร-ท่องเที่ยวปากคลองจิหลาด จ.กระบี่ งบประมาณ 35 ล้านบาท 5.จ.กระบี่เสนอปรับปรุงผิวการจราจร ถนนกระบี่-ถนนวัชระ งบประมาณ 50 ล้านบาท 6.จ.กระบี่เสนอให้ศึกษาระบบเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ระบบราง และอากาศ เพื่อเชื่อมรถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต 7.จ.กระบี่เสนอโครงการศึกษา Krabi Sandbox Maritime Hub

8.จ.กระบี่เสนอโครงการศึกษาแพขนานยนต์เกาะลันตา 9.จ.กระบี่เร่งรัดโครงการทางเลี่ยงเมืองกระบี่ ระยะทาง 29 กม. 10.จ.กระบี่เร่งรัดโครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 4156 เขาพนม-ทุ่งใหญ่ ระยะทาง 40.475 กม. จาก 2เป็น 4 ช่องจราจร 11.จ.กระบี่เร่งรัดโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือท่าเลน 12.จ.กระบี่เร่งรัดโครงการศึกษาออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงท่าเทียบแพขนานยนต์ข้ามฟากเกาะลันตา 13.จ.กระบี่เร่งรัดโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (cruise) 14.จ.กระบี่เร่งรัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬา 15.จ.ตรังเสนอโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวบ้านเขาหลัก 16.จ.กระบี่เสนอโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง 17.จ.พังงาเร่งรัดโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติพังงา 18.จ.พังงาเสนอโครงการทางเลี่ยงเมืองโคกลอย, ท้ายเหมือง, บางม่วง19.จ.พังงาเสนอโครงการพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพประเภทเกาะ 20.จ.พังงาเสนอโครงการท่าเรือสำราญเกาะคอเขา 21.จ.พังงาเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟสายสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น 22.จ.ภูเก็ตเร่งรัดโครงการทางหลวงแนวใหม่สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว

23.จ.ภูเก็ตเร่งรัดโครงการรถไฟรางเบา ระยะทาง 42 กม. มูลค่า 3.45 หมื่นล้านบาท 24.จ.ภูเก็ตเร่งรัดโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคแก้ปัญหาภัยแล้งในพังงา-ภูเก็ต 25.จ.ภูเก็ตเร่งรัดโครงการขยายถนน 4 ช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 4027 สายท่าเรือ-เมืองใหม่ รวมปรับปรุงทางแยกสนามบิน 26.จ.ภูเก็ตเร่งรัดโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง งบประมาณ 14 ล้านบาท 27.จ.ระนองเสนอโครงการปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดระนอง 28.จ.สตูลเร่งรัดโครงการศึกษาออกแบบความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างสะพาน Andaman Gateway มูลค่า 60 ล้านบาท 29.จ.สตูลเสนอโครงการก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำนาทอน (แห่งใหม่) จ.สตูล 30.จ.สตูลเสนอโครงการก่อสร้าง ขุดลอก และบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำตำมะลัง งบประมาณ 150 ล้านบาท 31.จ.สตูลเสนอโครงการพัฒนาชุมชน สู่เศรษฐกิจ และสังคมแห่งอนาคต งบประมาณ 174 ล้านบาท 32.จ.สตูลเสนอโครงการท่าอากาศยานสตูล งบประมาณ 4,133 ล้านบาท

ด้านการค้า-การลงทุน มี 2 ข้อเสนอ ได้แก่ 1.จ.กระบี่เสนอพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลเคมิคอล หรือการผลิตสารสกัดธรรมชาติจากปาล์มน้ำมัน 2.จ.ตรังเสนอโครงการมหกรรมสินค้าและบริการเด่น Andaman Expo

ด้านการท่องเที่ยวมี 19 ข้อเสนอ ได้แก่ 1.จ.กระบี่เสนอโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอันดามัน จ.กระบี่ งบประมาณ 50 ล้านบาท 2.จ.กระบี่เสนอปรับปรุงระเบียบการบริหารจัดการและขอใช้พื้นที่โดยภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมโครงการเมืองสปาในกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน 3.จ.กระบี่เสนอการพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อน 4.จ.ตรังเสนอโครงการพัฒนาสนามกีฬาเทศบาลนครตรังสู่มาตรฐานสากล

5.จ.ตรังเสนอโครงการออกแบบวางผังพื้นที่การออกแบบสถาปัตยกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์วนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง งบประมาณ 21 ล้านบาท 6.จ.พังงาเสนอโครงการศูนย์รวมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมทางทะเลแห่งอันดามันงบประมาณ 232 ล้านบาท 7.จ.พังงาเสนอพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ตลาดน้ำคลองพังงา และ The Park Khao Lak งบประมาณ 120 ล้านบาท

8.จ.พังงาเสนอปรับปรุงจวนข้าหลวงเก่างบประมาณ 15 ล้านบาท 9.จ.พังงาเสนอโครงการเขาหลักเซิร์ฟทาวน์งบประมาณ 20 ล้านบาท 10.จ.พังงาเสนอโครงการพัฒนาบ่อน้ำพุร้อน อ.กะปง 11.จ.พังงาเสนอโครงการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์พื้นที่อุทยานพระนารายณ์ งบประมาณ 72 ล้านบาท 12.จ.ภูเก็ตเสนอให้ปรับระบบสัมปทานของการท่าอากาศยานภูเก็ตในการบริหาร การจัดการขนส่งมวลชนในสนามบินภูเก็ตให้เป็นมาตรฐาน 13.จ.ภูเก็ตเสนอพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต

14.จ.ภูเก็ตเสนอสร้างศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามวัฒนธรรมอันดามัน และพิพิธภัณฑ์อิสลามนานาชาติ งบประมาณ 254 ล้านบาท 15.จ.ระนองเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน งบประมาณ 400 ล้านบาท 16.จ.ระนองเสนออนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองเก่า 17.จ.สตูลเสนอโครงการก่อสร้างหอประชุมนานาชาติ จ.สตูล งบประมาณ 80 ล้านบาท 18.จ.สตูลเสนอโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ งบประมาณ 29 ล้านบาท 19.จ.สตูลเสนอโครงการจ้างออกแบบโครงการอาคารพิพิธภัณฑ์สตูล-ยูเนสโก โกลบอล จีโอพาร์คงบประมาณ 70 ล้านบาท

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต มี 14 ข้อเสนอ อาทิ จ.กระบี่เสนอโครงการศูนย์กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ จ.กระบี่เสนอโครงการสาธารณสุขเพื่อรองรับการท่องเที่ยว (พังงา ภูเก็ต กระบี่) งบประมาณ 411 ล้านบาท จ.ตรังเสนอการพัฒนาเมืองให้เป็น MICE City จ.ตรังเสนอพัฒนาสนามกีฬา จ.พังงาเสนอโครงการเพิ่มศักยภาพบริการทางการแพทย์และการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดพังงา งบประมาณ 247 ล้านบาท จ.พังงาเสนอโครงการศึกษาความเหมาะสม Phangnga Universal Healthcare ในการยกระดับมาตรฐาน รพ.ในจังหวัด และ จ.พังงา เสนอโครงการพังงา Smart City เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวการเดินทาง ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ การเกษตรเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image