ฟังเสียง‘เอกชน’ ศบค.ปรับโซนสี-ดริงก์3ทุ่มใน8จว.

ฟังเสียง‘เอกชน’ ศบค.ปรับโซนสี-ดริงก์3ทุ่มใน8จว. หมายเหตุ - ความเห็น

หมายเหตุความเห็นของผู้ประกอบการภาคเอกชน กรณีที่ประชุมของ ศบค. เมื่อวันที่7 มกราคม 2565 ให้เพิ่มพื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่สีส้มเป็น 69 จังหวัด โดยเลื่อนเปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ ออกไปไม่มีกำหนด แต่ให้ปรับเปลี่ยนมาเปิดในรูปแบบร้านอาหารได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. และให้พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดสีฟ้า เปิดบริโภคสุราภายในร้านอาหารได้ไม่เกิน 21.00 น. นั้น

ธนากร คุปตจิตต์
เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย

มติ ศบค. เมื่อวันที่ 7 มกราคม พบว่า การแบ่งพื้นที่ยังคงอยู่ในระดับพื้นที่ควบคุม (พื้นที่สีส้ม) 69 จังหวัด ที่เหลือเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) 8 จังหวัด ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่มีคำสั่งเรื่องของการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม การยกระดับพื้นที่พบว่าส่งผลกระทบแน่นอน แต่เข้าใจได้ว่าเป็นการป้องกันในระดับหนึ่ง

Advertisement

ทั้งนี้ การปรับระดับพื้นที่ อยากขอให้ ศบค.พิจารณาอย่างใกล้ชิดว่าหากจำนวนของการติดเชื้อมีมากขึ้นตามคาดการณ์ของ ศบค. และเกิดจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทางการแพทย์มองว่าเป็นการติดเชื้อไม่รุนแรง ดังนั้น ภายในช่วงวันที่ 15-20 มกราคม ถ้าแนวโน้มการติดเชื้อไม่รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต รัฐบาลควรพิจารณามาตรการผ่อนคลาย โดยเฉพาะร้านอาหาร ควรอนุญาตให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข (SHA Plus) และควรไปเข้มงวดกับร้านที่แอบเปิดให้บริการเสมือนสถานบันเทิง ผับ บาร์ ด้วยให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นแหล่งแพร่เชื้อ

ส่วนผลกระทบจากการเลื่อนพิจารณาเปิดสถานบันเทิงในวันที่ 15 มกราคม 2565 นั้น มีแน่นอน แต่ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง ขอแค่อย่าสั่งล็อกดาวน์ก็พอ ทั้งนี้ประเทศไทยอยู่กับโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปี 2563 รวมแล้ว 2 ปี น่าจะทำให้ได้เรียนรู้ บริหารจัดการกับโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่งแล้ว รวมทั้งสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้รุนแรง แต่มีการแพร่กระจายเร็ว อาจจะส่งผลด้านสาธารณสุขในเรื่องการรองรับจำนวนผู้ป่วย จำนวนเตียงโรงพยาบาลบ้าง หรือถ้าอาการไม่หนักก็ให้รักษาตัวที่บ้านจะทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก

ขอย้ำว่ารัฐบาลและ ศบค.ควรทบทวนมาตรการควบคุมโควิดอย่างใกล้ชิด รัฐบาลมีอาวุธสำคัญอยู่แล้ว คือ พระราชกำหนดฉุกเฉินฯ ที่ใช้ได้ตลอดอยู่แล้ว เรื่องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ ภาคเอกชนไม่เคยเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งนี้ ถ้าไม่รุนแรงขอให้ทบทวนผ่อนคลายมาตรการควบคุม และมาตรการเทสต์แอนด์โกก็สำคัญ ที่ควรมีการพิจารณาด้วย เพราะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว ที่ภาคธุรกิจคาดหวังไว้

Advertisement

ถ้าสถานการณ์โควิดควบคุมได้ วันที่ 15 มกราคม ต้องอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงได้ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ แต่หากกรณีควบคุมไม่ได้จริงๆ ต้องยอมรับเรื่องการเลื่อนออกไปก่อน สำหรับร้านอาหารต้องพิจารณาให้ดี อย่าไปห้ามไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย ยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก

ธนิต ชุมแสง
นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่

ก่อนหน้านี้สมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ได้ยื่นหนังสือผ่านจังหวัดเชียงใหม่ ขอเปิดร้านอาหารและสถานบันเทิงในช่วงเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว จังหวัดก็ได้ผ่อนผันให้เปิดบริการแล้ว แต่มีผู้ประกอบการบางส่วน 20-30 ราย ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองโควิด-19 ทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่บางแห่งมีผู้ติดเชื้อโควิดกว่า 140-150 คน เนื่องจากเป็นตึกแถว 2 คูหา จำกัดการรับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการได้เพียง 50-60 คนเท่านั้น แต่พอมีนักเที่ยวเข้ามามากจนทำให้เกิดความแออัด และไม่เว้นระยะห่าง ส่งผลให้เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดมากขึ้น

ปัจจุบันในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีร้านอาหารและสถานบันเทิง 7,000-8,000 แห่ง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่า 90% ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน คัดกรองอย่างเข้มงวด แต่มีผู้ประกอบการที่ทำตัวเป็นแกะดำ ไม่ยอมให้ความร่วมมือเพียง 10% และไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมแต่อย่างใดขณะที่ร้านอาหารบางแห่งยอมลดโต๊ะบริการ จาก 20-30 โต๊ะ เหลือเพียง 10 โต๊ะ รองรับได้ 40-50 คนเพื่อเว้นระยะห่างและเปิดขายได้ แต่น่าเสียดายที่ผู้ประกอบการบางรายที่เห็นแก่ตัว ฉวยโอกาสรับลูกค้ามากเกินไป ทำให้ได้รับผลกระทบในระยะยาวด้วย

หลังจากนี้สมาคมมีแผนร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ อบรมผู้ประกอบการด้านสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบปลอดภัย หรือได้รับป้ายมาตรฐาน SHA Plus มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ แต่ไม่ผลักดันหรือขอให้รัฐบาลและจังหวัดทบทวนเรื่องนโยบายควบคุมโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอีกแล้ว เพราะได้ทำไปหมดแล้ว ผู้ประกอบการต้องยอมรับผลที่ตามมา หลังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามนโยบาย ถ้าให้ความร่วมมือ เชื่อว่าช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวมากขึ้น

ลำพึง แฮมิลตัน
ประธานชมรมผู้ประกอบการจอมเทียน พัทยา

สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดหนักในพื้นที่พัทยา อ.บางละมุง เนื่องมาจากสถานประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ได้เร่งระดมตรวจหาเชื้อไวรัสตามนโยบายของสำนักงานสาธารณสุข จ.ชลบุรี จึงพบว่ามีการแพร่ระบาดจำนวนมาก เชื่อว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง พบว่ามีผู้ติดเชื้อยังไม่ทันไปรักษาปรากฏว่าหายแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้เกิดแพร่ระบาดอย่างรุนแรง เพราะจะเกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา

ยอมรับว่าผู้ประกอบการร้านอาหารที่ปรับปรุงรูปแบบมาจากผับบาร์ถือว่าเป็นเด็กดีในสังคม เมื่อภาครัฐขอความร่วมมือตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่างดำเนินการทุกอย่างตามที่ภาครัฐร้องขอ ผลที่ตามมาพบมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก อยากให้ภาครัฐให้ความสนใจผู้ประกอบการในเมืองพัทยาด้วย โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อยากให้ทางเมืองพัทยา รวมทั้งสำนักงานสาธารณสุข จ.ชลบุรี ช่วยอนุเคราะห์ที่ตรวจ ATK ให้ด้วย

เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างจริงจัง สำนักงานสาธารณสุข จ.ชลบุรี ควรตั้งจุดตรวจ ATK ในจุดที่มีการแพร่ระบาด 2-3 วันครั้ง ในพื้นที่พัทยาและนาจอมเทียน ให้เกิดผลจริงจังในการป้องกันการแพร่ระบาด ยังพบว่ามาตรฐาน SHA Plus สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พัทยามีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการทำงาน สมาชิกชมรมผู้ประกอบการจอมเทียน พัทยา มีมากกว่า 500 แห่ง ยังขอ SHA Plus ได้ไม่ถึง 100 แห่ง ทำให้ผู้ประกอบการผับบาร์เบียร์ไม่สามารถเปิดร้านได้ ส่งผลกระทบทั้งผู้ประกอบการ พนักงาน และลูกจ้าง

อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเป็นการด่วน ผู้ประกอบการทุกรายยืนยันแล้วว่าจะปฏิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ประภัสสร รังสิโรจน์
นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด

ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารเบื้องต้นยังไม่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวของ ศบค. แม้จะไม่ได้ขยายเวลาให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติม เนื่องจากการไม่ใช่รายได้หลัก แต่ช่วยเพิ่มบรรยากาศในการรับประทานอาหารเท่านั้น รวมถึงร้านอาหารยังเปิดและปิดให้บริการตามที่แต่ละร้านกำหนดได้ตามปกติ ส่วนการเลื่อนวันเปิดสถานบันเทิงไปก่อนนั้น ผู้ประกอบการย่อมได้รับผลกระทบ เพราะในบางรายได้เตรียมความพร้อมเปิดให้บริการในวันดังกล่าวไว้แล้ว ดังนั้น รัฐบาลต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือด้วย

สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ทางผู้ประกอบการร้านอาหารยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยว ช่วยกันปฏิบัติตามด้วย แม้ว่าโอมิครอนจะยังไม่ได้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจอาหารมากนัก แต่จากการสำรวจยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้าน อาทิ ด้านวัตถุดิบ ด้านราคาพลังงานที่เตรียมปรับขึ้นราคาในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และเรื่องราคาวัตถุดิบที่ปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ในช่วงนี้แม้รัฐบาลจะคลายมาตรการมากขึ้นแล้วแต่รายได้ก็ยังไม่กลับมาเท่าที่ควร

จากปัจจัยลบดังกล่าว อยากเสนอให้รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นราคาด้านพลังงาน อาทิ ก๊าซและค่าไฟ เป็นต้น เนื่องจากเรื่องเหล่านี้เป็นรายจ่ายสำคัญที่ทำให้ร้านอาหารหรือผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น หลังจากนี้ก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อหรือไม่ เพราะจากการสำรวจร้านอาหารหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ บางร้านเริ่มเงียบเหงาแล้ว คาดว่ากำลังซื้อจะกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 แต่ในช่วง 2 เดือนหลังจากนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์) ไม่มีโครงการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก อยากให้รัฐบาลพิจารณา หรือชะลอเรื่องการปรับขึ้นราคาต้นทุนพื้นฐานเหล่านี้ออกไปก่อน เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินกิจการในระยะนี้ก่อน

นอกจากนี้ จากวิกฤตโควิด-19 ยังไม่มีที่สิ้นสุด แม้ผู้ประกอบการกลับมาเปิดให้บริการได้แต่ยังไม่กลับมามีกำไร ตอนนี้ผู้ประกอบการหวังแต่ให้ผ่านช่วงวิกฤตไปโดยเร็ว ดังนั้น รัฐบาลควรออกมากระตุ้นเศรษฐกิจหรือมีกลยุทธ์ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเร็วกว่านี้ และช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ที่ปล่อยว่าง รัฐบาลควรจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา จะเป็นมาตรการระยะสั้น ก่อนเติมเงินเข้าระบบคนละครึ่งอีกครั้งก็ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจการซื้อให้กับประชาชน ช่วยประคองธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมไม่ให้ล้มหายเพิ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image