ส่องศึก เด็ดหัวทิ้งทวน เดิมพันสุดท้าย‘บิ๊กตู่’-ฝ่ายค้าน

ส่องศึก เด็ดหัวทิ้งทวน เดิมพันสุดท้าย ‘บิ๊กตู่’-ฝ่ายค้าน

ฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เรียบร้อยแล้วเมื่อ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ภายใต้ยุทธการ เด็ดหัว สอยนั่งร้าน ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อยื่นญัตติแล้ว ตามรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีจะยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติดังกล่าวออกจากวาระการประชุม

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรีครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 และเป็นครั้งสุดท้ายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงต้องเน้นหนักทั้งเนื้อหา สาระ และข้อมูลที่จะใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจ

โดยล็อกเป้าหมายตัวบุคคลที่จะเปิดอภิปราย ผ่านยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” ด้วยการมุ่งอภิปรายไปที่หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ของพรรคที่เป็นแกนนำในซีกรัฐบาลเป็นหลัก

ล้วนเป็นพรรคร่วมที่มีเสียง ส.ส. สนับสนุนให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่รอดมาจนถึงวันนี้

Advertisement

เบ็ดเสร็จเป้าหมายที่อยู่ในข่ายถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งสิ้น 11 คน จาก 3 พรรคร่วมรัฐบาล แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คือกลุ่ม 3 ป. ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะที่รัฐมนตรีของพรรค พปชร.คือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และเลขาธิการพรรค พปชร. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรค พปชร. และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และรองหัวหน้าพรรค พปชร.

ส่วนรายชื่อพรรคภูมิใจไทย (ภท.) คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. กับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค ภท.

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป. และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

Advertisement

เป้าหมายสูงสุดของพรรคร่วมฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย คือล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ให้พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ได้ผ่านข้อกล่าวหาทั้งหมด 5 ข้อ อาทิ ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน การทุจริตในการหาประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง ทำผิดกฎหมายขัดต่อจริยธรรม และนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภา ไม่ได้ทำหรือทำแล้วล้มเหลว

ทั้งนี้ หากจะย้อนดูสถิติผลการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตลอดการอภิปราย 3 ครั้งที่ผ่านมา โฟกัสในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ถือว่าเสียงข้างมากของพรรคร่วมรัฐบาล ยังลงมติโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้ทำหน้าที่นายกฯต่อไป โดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 49 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และครั้งที่ 3 เมื่่อวันที่ 4 กันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนไว้วางใจ 264 ไม่ไว้วางใจ 208 งดออกเสียง 3 ซึ่งคะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯ มีเพิ่มมากขึ้นทุกครั้งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ในทางการเมืองหากไม่มีอุบัติเหตุ หรือปฏิบัติการล้มเก้าอี้นายกฯกลางสภา หากนับเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ยังอยู่ในสถานะเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร หากคุยกันรู้เรื่อง ไม่มีการโหวตสวนมติพรรคร่วมรัฐบาล หรืองูเห่า ที่เกิดจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาลย่อมโหวตสนับสนุนให้นายกฯและรัฐมนตรี ทั้ง 11 คน ผ่านความไว้วางใจ จากที่ประชุมสภา

หากเช็กเสียงของ ส.ส.ทั้งสองฝ่ายในสภา ขณะนี้จะพบว่าเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีอยู่ 208 เสียง ห่างจากเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล 269 เสียง อยู่ที่ 61 เสียง หากโหวตกันแบบไม่แตกแถว เหมือนกับการโหวตรับหลักการช่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วาระแรก ที่มีเสียงรับหลักการ 278 เสียง ไม่รับหลักการ 194 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ซึ่งยังมีเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง พรรคเพื่อไทย (พท.) 7 คน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 4 คน และพรรคประชาชาติ (ปช.) 1 คน โหวตสวนมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน มาสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล

หากการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหมือนกับการลงมติการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 นายกฯและรัฐมนตรีรวม 11 คน ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ย่อมเบาใจได้ว่า อย่างไรเสียก็ได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯและรัฐมนตรีต่อได้อย่างไม่มีปัญหา

แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลายกลุ่มพรรคการเมืองที่อยู่ในกลุ่มสะวิงโหวต ทั้งพรรคเศรษฐกิจไทย และกลุ่ม 16 ได้ประกาศจุดยืนว่า จะขอฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งข้อมูลของฝ่ายค้าน กับการชี้แจงของฝ่ายรัฐบาล ก่อนลงมติชี้ขาดว่าจะเป็นไปในทิศทางใด คงจะยึดผลการลงมติเหมือนกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 คงไม่ได้

ฉะนั้น แม้ “บิ๊กตู่” และเหล่าบรรดารัฐมนตรีเคยหลุดพ้นคมหอกคมดาบฝ่ายค้าน

ผ่านฉลุยศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้วถึง 3 ครั้ง ก็ตาม

แต่ครั้งที่ 4 ซึ่งมีเดิมพันสูงด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ถึงแม้ว่าเมื่อดูจากจำนวนเสียงในมือของ 2 ฝั่ง อาจคาดการณ์ ทำนายผลที่จะเกิดขึ้นได้

แต่ขึ้นชื่อว่า การเมือง ก็ย่อมไม่มีอะไรแน่นอน

ดังคำกล่าวที่ว่า ความไม่แน่นอน คือความแน่นอนเสมอในทางการเมือง

ศึกซักฟอกครั้งนี้ ก็มิได้อยู่นอกเหนือนิยามความหมายนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image