นักวิชาการส่องสังคมไทย ผ่านกรณี ‘ลุงศักดิ์ VS พี่ศรี’

นักวิชาการส่องสังคมไทย ผ่านกรณี ‘ลุงศักดิ์ VS พี่ศรี’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการถึงกรณีนายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล หรือ “ลุงศักดิ์” บุกชกนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย หรือ “พี่ศรี” ขณะไปยื่นฟ้องโน้ส-อุดม แต้พานิช นักทอล์กโชว์ชื่อดัง ที่วิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการแสดง “เดี่ยว 13” เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ขณะนี้สังคมกำลังก้าวไปสู่ความรุนแรง เห็นได้จากกรณี “เดี่ยว 13” ของโน้ส-อุดม พบว่ามีปัญหาในการแก้ไขปัญหาทางด้านการเมือง สังคมมองว่าจนตรอกและตีบตัน ไม่สามารถจัดการปัญหาแบบสันติวิธีได้ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการยอมรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยหลักการแล้วไม่สมควรจะสนับสนุนให้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแต่ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย ไม่มีความอดกลั้น พร้อมใช้ความรุนแรงกับคนที่เห็นต่างอย่างชัดเจน

Advertisement

เรื่องนี้ในความเป็นจริงจะต้องประณาม และไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว แต่ปรากฏว่ามีคนจำนวนมากเห็นด้วย พร้อมโอนเงินช่วยเหลือทำให้มองว่าเป็นการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงถึงแม้ว่าจะเกิดความสาแก่ใจก็ตาม สังคมประชาธิปไตยต้องมีความอดทนอดกลั้น

นี่คือสัญญาณอันตราย คาดว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่านี้ และยกระดับไปเรื่อยๆ เพราะในเมื่อสังคมไม่มีทางแก้ไขปัญหา และมีการใช้ความรุนแรง ประกอบกับสังคมยอมรับ ต่อไปอาจยกระดับการทำร้ายคนระดับนักการเมือง ผู้นำทางการเมือง หัวหน้าพรรคการเมือง หรือนายกฯ อาจถูกต่อย ถูกกระทืบได้เหมือนกัน เพราะมีการยอมรับความรุนแรงไปแล้วนี่คือความล้มเหลวในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย

ถือว่าตลกร้ายมาก ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย แต่นิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหากับคนเห็นต่าง ทั้งที่ในความเป็นจริงทั้ง 2 ฝั่งต้องไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

Advertisement

ส่วนการนำกฎหมายเข้ามาบังคับใช้ เกี่ยวกับคดีการเมืองพบว่ามีความล่าช้า ไม่ทันใจ ต้องใช้ศาลเตี้ย กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ส่วนหนึ่งมาจากระบบราชการ ระบบการใช้กฎหมายที่ช้า จึงต้องใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา เหมือนการประท้วงต่อระบบที่มีอยู่

ประการต่อมาเรื่องการลงโทษ หลายคนมองว่าการทะเลาะวิวาทตบกันตีกันปรับ 500 บาท หรือ 1,000 บาท ประเมินแล้วการลงโทษไม่รุนแรง จึงตัดสินใจก่อเหตุ

รัฐบาลจะปฏิเสธไม่ได้ เพราะเหตุที่เกิดขึ้นมาจากเรื่องการเมือง ที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนก่อให้เกิดความรุนแรงในความเห็นต่าง เห็นได้จากกรณีเดี่ยว 13 ของโน้ส-อุดม คนของรัฐบาลไม่เห็นด้วย ทั้งที่เป็นสิทธิในการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายศรีสุวรรณ จะต้องแสดงให้เห็นว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ไขปัญหาแบบนี้ ในกรณีที่มีความเห็นต่างทางการเมือง รวมทั้งกลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มความเคลื่อนไหวทางการเมือง จะต้องแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงเหมือนกัน

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

กรณีนายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล หรือลุงศักดิ์ต่อยนายศรีสุวรรณ จรรยา หรือพี่ศรี คิดว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายมากกว่าการใช้คำว่าใช้ความรุนแรง เพราะการใช้ความรุนแรงควรจะเป็นสถานการณ์ที่มากกว่าชกต่อย กรณีนี้เป็นเพียงการชกต่อย ซึ่งเด็กๆ วัยรุ่นชกต่อยกันก็ถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายกันมากกว่า ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง

แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ลุงศักดิ์ทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะในทางกฎหมาย การใช้กำลังประทุษร้าย ถือเป็นความผิดทางอาญา การตัดสินความไม่พอใจของสังคม ควรจะเป็นการตั้งโต๊ะเจรจา คุยกัน ปรับความเข้าใจให้ตรงกัน แต่เมื่อทางสังคมใช้กำลังในการแก้ปัญหาแบบนี้เราต้องดูว่า สาเหตุเกิดจากอะไร เกิดจากภาพใหญ่ของสังคมหรือปัจเจกของบุคคลนั้นๆ สาเหตุที่แท้จริงคือไม่มีกระบวนการ ไม่มีช่องทางที่จะแก้ทางสังคมหรือไม่ หรือมี แต่ไม่ใช้ หรือมี แต่ไม่เป็นช่องทางที่ถูกต้องทางสังคมหรือไม่ ถ้ามองในมิติทางสังคม เหตุการณ์นี้จะสะท้อนออกมาอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าเรามองเรื่องของผลที่เกิดขึ้นกับการสนองตอบของสังคม คือส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนที่เห็นด้วย มองว่า สมควรที่จะโดนบ้าง ได้รับบทเรียนบ้าง ถ้าคนที่เห็นด้วยคิดแบบนี้ น่าเป็นห่วง เพราะถือว่าสังคมไม่ได้เกิดการพัฒนา ในเรื่องการที่มีความเห็นต่างกัน

แต่ถ้ามองในฝั่งที่ไม่เห็นด้วย เขามองว่าสิ่งที่ทำเป็นช่องทางที่อารยประเทศไม่ใช้กัน ประเทศที่มีอารยะในเรื่องรับฟังความเห็นต่าง จะไม่ใช้กำลังประทุษร้ายกัน

ส่วนเรื่องการเลียนแบบถือเป็นพฤติกรรมต่อเนื่อง จากการทำผิดในครั้งนี้ ยิ่งหากในมุมของเยาวชน ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดการเลียนแบบขึ้น

ส่วนประเด็นทางการเมือง ที่อาจจะมองว่านายศรีสุวรรณ ไปร้องเรียนโน้ส อุดม กรณีวิจารณ์นายกฯ ผมมองว่าไม่ใช่ ถือเป็นประเด็นปลีกย่อยมากกว่า เพราะนายกฯเมื่อเป็นบุคคลสาธารณะก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่วิจารณ์เกินหรือไม่ ผู้ฟัง ผู้ชมใช้ดุลพินิจเอง แต่ประเด็นลุงศักดิ์ไปชกต่อยนายศรีสุวรรณ เป็นประเด็นความไม่พอใจที่สะสมมานานแล้ว ไม่น่าจะรุนแรงมากขึ้น การเสนอข่าวของสื่อมวลชนเองก็ควรต้องแยกแยะให้สังคมเห็นด้วยว่าสิ่งที่ลุงศักดิ์ทำนั้นไม่ถูก รวมถึงที่มาของเหตุที่เกิดขึ้นด้วย

ส่วนทางออกของปัญหาที่เกิดจากกรณีลุงศักดิ์นั้น เรามีกระบวนการ มีช่องทางที่ถูกต้องอยู่แล้ว เป็นกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ การที่นายศรีสุวรรณจะใช้สิทธิทำอะไร ฟ้องร้อง ร้องเรียนใคร แต่ถ้ากระทบกับคนที่ถูกร้องจนทำให้เขาเดือดร้อน อะไรต่างๆ ผู้นั้นก็มีสิทธิที่จะฟ้องกลับนายศรีสุวรรณได้อยู่แล้ว ทุกอย่างถูกออกแบบให้ใช้สิทธิของแต่ละคนอยู่แล้ว

การที่นายศรีสุวรรณไปร้องเรียน ฟ้องร้อง เป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ คนที่ถูกร้องกระทบกับประวัติในอนาคต หรือกระทบต่อความเจริญในหน้าที่การงาน ก็สามารถฟ้อง ร้องเรียนกลับได้

ดังนั้น หากไม่มีการพูดคุย ไม่มีคนกลางในการเจรจา การเดินตามกรอบกฎหมาย ให้กฎหมายตัดสิน น่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ

กรณีดังกล่าวสะท้อนความแตกแยกในสังคม เหมือนภูเขาไฟใกล้ระเบิดของคนที่อัดอั้น ถูกเก็บกดมานาน สาเหตุมาจากการสะสมความไม่ยุติธรรมในสังคม เพราะฝ่ายหนึ่งถูก อีกฝ่ายผิดตลอด หวังพึ่งระบบยุติธรรมไม่ได้ ทำให้ลุงศักดิ์ใช้ความรุนแรง เพื่อระบายความรู้สึกดังกล่าวต่อหน้าคนทั้งประเทศ

ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกสังคมออนไลน์ ซึ่งเอนเอียงไปทางสะใจ สมน้ำหน้าสมควรโดน เพราะมีคนหมั่นไส้พี่ศรีเยอะ อยากให้มีคนสอนบทเรียนว่าการร้องไปทุกเรื่อง โดยเฉพาะการแสดงเดี่ยว 13 ของโน้ส-อุดม แต้พานิช นักทอล์กโชว์ชื่อดัง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แม้เป็นการแสดงล้อเลียน เสียดสี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แต่ไม่ได้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เสียหายและไม่ได้มีผลกระทบทางการเมือง ซึ่ง พล.อ.ประวิตรยังออกมายอมรับว่าเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิง พร้อมมุขตลกที่สร้างความสุขและเสียงหัวเราะให้ผู้ชม ไม่น่านำมาเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร

ที่ลุงศักดิ์ บุกชกพี่ศรี ไม่น่าเกิดการเลียนแบบ หรือก่อให้เกิดความรุนแรงในวงกว้าง เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งลุงศักดิ์ออกมายอมรับว่ากระทำคนเดียว ไม่มีใครจ้างหรือมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ดังนั้นประชาชนสามารถแยกแยะ วิเคราะห์ อย่างมีเหตุผลได้

ส่วนพี่ศรีที่ไปแจ้งความดำเนินคดีลุงศักดิ์ ข้อหาทำร้ายร่างกายนั้นก็เป็นสิทธิ ซึ่งตำรวจกองปราบจับกุมลุงศักดิ์ มาดำเนินคดีแล้ว ดังนั้นคนที่คิดเลียนแบบต้องคิดให้ดี ไม่ใช่หวังแต่ชื่อเสียง หรือเงินโอน เพราะต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกับลุงศักดิ์ ทำให้เสียประวัติ อาจส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัวได้ เนื่องมาจากผลแห่งการกระทำดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การบุกชกหรือทำร้ายพี่ศรี หรือนักการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามอาจเกิดขึ้นได้อีก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ จังหวะ โอกาส แต่ไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะเป้าหมายระมัดระวังตัว ไม่ประมาท เนื่องจากมีบทเรียนหลายครั้งแล้ว

ดังนั้นการใช้ความรุนแรง ไม่ใช่ทางออกการแก้ปัญหา แต่ควรใช้หลักพูดคุย เจรจา ประนีประนอม มีเวทีแสดงออกเพื่อรับฟังความคิดเห็น หรือความรู้สึก เพื่อระบายความอัดอั้นที่ถูกเก็บกดมานาน เป็นทางออกอย่างสันติวิธี ไม่นำไปสู่สถานการณ์บานปลาย และขยายวงกว้างอีก ที่สำคัญความยุติธรรมต้องเกิดขึ้น ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งผิดตลอด อีกฝ่ายถูกตลอด

จากเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลต้องมีความจริงใจแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะการเมืองที่เห็นต่างกัน ไม่ใช่ปล่อยผ่านไปวันๆ อาจส่งผลนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น ดังนั้นต้องหาทางดับชนวน เพื่อป้องกันเกิดเหตุดังกล่าวอีก ไม่ใช่ใช้กระบวนการทางกฎหมาย ส่งเจ้าหน้าที่ไปไล่จับคนเห็นต่างเพื่อดำเนินคดีอีก ยิ่งทำให้เกิดการชุมนุมประท้วง ต่อต้านมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องแก้ที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ ตามหลักคำสอนพุทธศาสนาภายใต้หลักยุติธรรม ธรรมาภิบาลพร้อมปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคด้วย

ส่วนผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล ไม่ควรใช้กำลังหรือความรุนแรงใดๆ รอการเลือกตั้ง ส.ส.ในปีหน้า เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร อยู่ในช่วงขาลง และเวลารัฐบาลได้นับถอยหลังแล้ว แต่ก็มีบางคนอาจกังวลเรื่องการคว่ำกระดาน เพื่อล้มเลือกตั้ง ถ้าแนวโน้มรัฐบาลพ่ายแพ้ต่อฝ่ายค้าน

ดังนั้นผู้ที่เห็นต่างควรช่วยกันประคองให้เกิดการเลือกตั้งดีกว่า เพื่อใช้อำนาจประชาชน ตัดสินชะตากรรมประเทศว่าควรเดินไปทิศทางใด และประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image