ส่องกระแส ‘บิ๊กตู่’ แคนดิเดตนายกฯ ‘รทสช.’

ส่องกระแส‘บิ๊กตู่’ แคนดิเดตนายกฯ‘รทสช.’

หมายเหตุความเห็นนักการเมืองและนักวิชาการกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศตัวทางการเมือง เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) สู้ศึกการเลือกตั้ง ยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหากับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

Advertisement

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพื่อเป็นแคนดิเดตอันดับ 1 ก้าวสู่ผู้นำประเทศสมัยหน้า ถือเป็นความชัดเจนของครั้งแรกที่ได้ประกาศจุดยืนทางการเมือง หลังทำหน้าที่นายกฯมา 8 ปี สังเกตจาก พล.อ.ประยุทธ์ไปกราบลา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อไปร่วมทำงานกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้า รทสช. กับนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี สะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์พร้อมลงสนามเลือกตั้ง มีความมั่นใจกระแสประชาชนตอบรับ ทั้งท่อน้ำเลี้ยงและเครือข่ายที่สนับสนุนแบบเต็ม 100% ไม่จำเป็นต้องพึ่งอิทธิพล บารมี และเครือข่าย พล.อ.ประวิตรอีก เป็นการแยกทางจากกันด้วยดี

อีกมุมหนึ่ง การประกาศท่าทีชัดเจนเป็นการแสดงออกแบบตรงไปตรงมา ไม่ได้แทงข้างหลัง เพื่อไม่ให้ประชาชน และผู้สนับสนุนสับสน เพื่อก้าวสู่อำนาจอย่างชอบธรรม ไม่ต้องถูกตีความใดๆ อีก ที่สำคัญมี ส.ส.พปชร.และพรรคร่วมรัฐบาลหลายคนเดินตาม พล.อ.ประยุทธ์เข้า รทสช. เพื่อเป็นฐานการเมือง ซึ่ง รทสช.ตั้งเป้าได้ ส.ส.อย่างน้อย 35 คน เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าได้

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์มีความมั่นใจว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อย่างน้อย 175 คน จาก 250 คน สนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ที่เหลืออีก 75 เสียง อาจสนับสนุน พล.อ.ประวิตรเป็นผู้นำประเทศคนที่ 30 ได้ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงถือไพ่เหนือกว่า พล.อ.ประวิตรอย่างชัดเจน เนื่องจากมีแต้มต่อในรัฐสภาแล้ว

Advertisement

ขณะที่ พล.อ.ประวิตรมีโอกาสเป็นผู้นำประเทศน้อยลง เนื่องจาก ส.ส.พปชร.หนีไปอยู่กับ รทสช. และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มากขึ้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. ต่างประกาศเป็นแคนดิเดตนายกฯแล้ว ดังนั้น พล.อ.ประวิตรต้องประกาศตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯอย่างเป็นทางการ เปิดหน้าสู้แบบเต็มตัว พร้อมเปิดนโยบายพรรคได้แล้ว เปิดตัวช้ายิ่งเสียเปรียบ รทสช.และ ภท.ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเดินแซง พปชร.ไปหลายก้าวแล้ว

นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้รับผลกระทบจาก พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเป็นแคนดิเดตนายกฯของ รทสช.โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากฐานเสียงภาคใต้และกรุงเทพฯบางส่วน ส่งผลกระทบต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้า ปชป. ที่ประกาศเป็นแคนดิเดตนายกฯและพรรคโดยตรง เนื่องจากเป็นฐานเสียงเดียวกัน โอกาส ปชป.ตั้งเป้าได้ ส.ส. 50 ที่นั่ง คงเป็นเรื่องที่ยากและลำบากมากขึ้น อาจได้ ส.ส.เพียง 25-30 ที่นั่งเท่านั้น ส่งผลให้ ปชป.เป็นพรรคขนาดกลางแทน

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เชื่อว่าไม่เปลี่ยนแปลง เพราะผูกพันกันมานาน แต่บุคลิก พล.อ.อนุพงษ์เป็นคนเงียบ ไม่ทะเยอทะยาน ไม่สังกัดพรรคการเมือง ส่งผลให้อิทธิพล บารมี มีน้อยกว่ารุ่นพี่และไม่มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งสมัยหน้า แม้ดูแลส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น แต่ไม่สามารถสั่งการหรือชี้นำโดยตรงได้ ต้องวางตัวเป็นกลาง เนื่องจากมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กำกับดูแลเลือกตั้งโดยตรง

โอกาสที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีเพียง 4 พรรค คือ เพื่อไทย (พท.) ภท. รทสช. และ พปชร. ตามลำดับ ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นโพลหลายสำนัก พรรคที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า คือ พท. ภท. และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) มากกว่า รทสช.กับ พปชร. เนื่องจากประชาชนเบื่อหน่ายการบริหารประเทศของรัฐบาลที่แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ไม่ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และผู้นำประเทศคนใหม่ได้

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย (สร.)

หลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ทรัพยากรของรัฐ ต้องไม่เอื้อประโยชน์เพื่อการเลือกตั้ง ขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ขยันลงพื้นที่เป็นพิเศษทั้งที่พื้นที่นั้นไม่ได้ประสบปัญหา แต่เป็นการลงไปพบปะกับผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในนามของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ไม่ได้มีปัญหาน้ำท่วมเหมือน จ.สงขลา ข่าวออกมาได้เปิดโอกาสให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีแนวโน้มมาอยู่ รทสช.เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือ

เหตุนี้อาจเข้าข่ายการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งได้ เพราะนับจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในสายตาประชาชนว่าวางตัวเหมาะสมหรือไม่ หรือมีแนวโน้มใช้ทรัพยากรของรัฐ ตำแหน่งหน้าที่ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่

ช่วงปีใหม่สถานการณ์ยังคงปกติไม่มีอะไร นอกจากเป็นจังหวะที่พรรค รทสช.ใช้โอกาสนี้ขึ้นป้ายอวยพรปีใหม่โดยที่มีรูป พล.อ.ประยุทธ์อยู่ด้วย แต่ต้องย้ำเตือนว่า พล.อ.ประยุทธ์สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคแล้วหรือไม่ถ้ายังไม่ได้สมัครจะเอารูป พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นไม่ได้ ส่วนการตอบรับการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคควรจะต้องมีมติกรรมการบริหารพรรคก่อน

ความคึกคักอาจจะเกิดขึ้นช่วงหลังปีใหม่ 2566 ที่จะมี ส.ส.และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จำนวนหนึ่งไหลเข้าพรรค รทสช. แต่เท่าที่ดูท่าทีของคนที่เป็น ส.ส.ในสภา ก็ยังไม่มีใครกล้าที่จะลาออกมาเพื่อเข้าพรรค รทสช.อย่างเต็มตัว ไม่เหมือนกรณีของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มี ส.ส.ลาออกนับสิบคนและมาสมัครเข้าพรรค ภท. ขอใช้คำว่าใจถึงมากกว่า เพราะมีจุดยืนทางการเมืองชัดเจนและมั่นคงมากกว่า

ส่วนพรรค รทสช.ก็ยังไม่เห็นมี ส.ส.คนใดลาออกแล้วเข้ามาอยู่พรรคเลย ทำให้เห็นถึงความลังเลและความไม่มั่นใจว่าจะไปต่อกับพรรค รทสช. ยิ่งไปกว่านั้นการที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาแก้ตัวภายหลังประกาศตัวว่าเป็นแค่เพียงการแสดงเจตนาแสดงให้เห็นว่าตัวนายกฯเองก็ยังไม่ถึงที่สุด ดังนั้น ถ้าหากจะทำให้พรรคนี้เข้มแข็ง พล.อ.ประยุทธ์ต้องชัดเจนด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคและรับตำแหน่งภายในพรรค เพราะจะทำให้กระแสการไหลเข้ามาของ ส.ส.มีจำนวนมากยิ่งขึ้นและได้บุคคลที่สามารถได้ที่นั่ง ส.ส.ให้กับพรรคได้

รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หลุดออกจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาสักทีว่าจะไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แม้ในเชิงพฤตินัยจะมาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว การประกาศตัวชัดย่อมทำให้หลายอย่างชัด และการเฝ้ามองจับจ้องก็จะชัดขึ้นเพราะนี่คือนายกฯ ปัจจุบันที่มีสังกัดพรรคการเมือง การดำเนินนโยบาย และขับเคลื่อนพรรคเพื่อชิงความได้เปรียบหลังจากนี้ที่มีเวลาเพียง 3 เดือน และคำถามย่อยที่ก้องดังแรงที่สุดในหัว พล.อ.ประยุทธ์ คือจะได้ ส.ส.ครบ 25 คนหรือไม่

ต่อคำถามที่ว่าหลังจากนี้การเมืองจะเป็นอย่างไร สีสันเริ่มมีให้เห็นตั้งแต่วันแรก เพราะไทม์ไลน์ของการประกาศตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค และยังไม่ได้มีมติพรรคว่าจะเสนอใครเป็นนายกฯ ก็สร้างปัญหาทำให้ถูกมองและตีความอย่างกว้างว่าเป็นการครอบงำพรรคหรือไม่ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกหลังจากประกาศตัวที่สะดุดแข้งขาตัวเองอยู่พอสมควร จนต้องออกมาแก้ไขคำพูดตัวเองพัลวัน

ขณะที่พรรคการเมืองอื่นออกเดินนำไปหนึ่งก้าวด้วยการเปิดตัว ส.ส.และลงพื้นที่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์และ รทสช.ยังต้องคัดสรรผู้สมัคร ใช้พลังดูด ส.ส.หรือคนที่คาดว่าจะเป็นสะพานพาไปถึงดวงดาวได้ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เป็นวันสุดท้ายที่ ส.ส.จะย้ายพรรคได้ แน่นอนว่าย่อมเป็นช่วงเวลาที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อลบความกังวลหลักเรื่องจำนวน ส.ส. 25 คนให้ได้

ความคึกคักของการเมืองที่อาจเห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองมี 2 ขยัก คือ ไม่ใช่แค่ทำคะแนนต่อประชาชน แต่ขยักแรกเป็นการที่พรรคการเมืองทำคะแนนต่อเหล่าบรรดา ส.ส. หรือว่าที่ผู้สมัครที่มีโอกาสเข้าสู่สภาให้มาสังกัดพรรคของตนให้มากที่สุด เพื่อปูทางสู่นายกฯ ดังนั้น ก่อนถึง 7 กุมภาพันธ์ 2566 จึงอาจมีการแข่งขันกันพรรคไหนดูแลดีกว่า ลงทุนการเลือกตั้งให้มากกว่า หรือใครดูดเก่งกว่าใคร การลงทุนทางการเมืองในครั้งนี้ จึงเป็นการลงทุน 2 ชั้น หรือ 2 รอบ

วิถีทางจึงน่าจับตามองทั้งจากประชาชนและพรรคฝ่ายค้านที่ต้องมองไปยังนักการเมืองซีกรัฐบาลที่ต้องออกนโยบายซึ่งอาจเป็นการลดแลกแจกแถม อาจเป็นการแจกผ่านบัตรคนจน หรือโครงการประชานิยมอื่น ที่พ่วงชื่อพรรคการเมืองเข้าไปในโครงการด้วย เหมือนครั้งที่เราเคยเห็นร้านธงฟ้าประชารัฐ สำคัญที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ต้องเร็วตรงเป้าใหญ่ และระวังสายตาที่เฝ้ามองตรวจสอบ

ในเชิงภาพรวมของการเมืองไทยเราจะได้เห็นแต่ละพรรคประกาศว่าอะไรเป็นนโยบายหลัก อะไรเป็นนโยบายรอง อะไรพุ่งเป้าไปยังคนกลุ่มไหน พื้นที่ใด เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองในการสร้างแรงสนับสนุนจากประชาชน ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามก็จะใช้โอกาสนี้โจมตีนโยบายด้วยการยัดหรือตีตราคำว่าประชานิยม หรือวิพากษ์ว่าเป็นโครงการที่เลยขอบเขตของความเป็นไปได้ หรือสร้างภาระทางการคลังส่วนภูมิภาคหรือจังหวัดใหญ่ก็อาจได้เห็นบ้านใหญ่บ้านเล็กปรับกลยุทธ์เดินเกม ช่วงชิงปักธงในพื้นที่ซึ่งก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ให้มากที่สุด เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงอาจได้เห็นการหลบหลีกแข่งขันกันเองของ 2 กลุ่มใหญ่ทางการเมือง คือ ประชาธิปไตย กับอนุรักษนิยม

ใน 3 ป. เองที่กระแสความนิยมไม่ดีนัก เพื่อการธำรงอยู่และการสืบทอด ก็อาจได้เห็นการปูทางด้วยการหลบเลี่ยงการแข่งขันกันเองในบางพื้นที่ เช่น ภาคใต้หรือ กทม.ในบางเขต เพื่อการหวนกลับคืนสู่อำนาจ ในขณะเดียวไม่ใช่ทุ่มไปกับสนาม ส.ส.อย่างเดียวต้องระวังหลังด้วย คือ ต้องหมั่นตรวจแถวเช็กชื่อเหล่า 250 ส.ว. ซึ่งเป็นทุนเดิมหรือแต้มต่ออันเป็นมรดกจาก คสช. ครั้งนี้ 250 ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯเป็นครั้งสุดท้าย อาจมีภาพการโหวตทิ้งทวนแตกแถวจากพลังอำนาจกล้วย หรือพลังดูด ที่อาจเข้ามาเจือจางทำให้น้ำจะเข้มกว่าเลือด

ทวิสันต์ โลณานุรักษ์
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศความชัดเจนจะไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และเตรียมสมัครสมาชิกพรรคนั้น มองว่า กติกาการเลือกตั้ง
ทั้ง กกต.และกฎหมายลูกก็พร้อมแล้ว การเลือกตั้งจะต้องมีขึ้น คาดว่าอาจจะราวเดือนกุมภาพันธ์ 2566 หรือก่อนหน้านั้น เมื่อกติกาพร้อม เวทีพร้อม ก็เหลือนักมวยที่จะขึ้นชกว่าจะเป็นใคร ผู้ท้าชิงส่วนใหญ่จะพร้อมแล้ว แต่แชมป์คนปัจจุบัน คือ บิ๊กตู่ เพิ่งประกาศลงสนามสู้เลือกตั้ง

เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์เตรียมการไว้แล้ว อย่างเช่น การแต่งตั้งพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในทางการเมืองมองว่าเป็นนายกฯน้อย เมื่อลงพื้นที่ไปจังหวัดต่างๆ ทางจังหวัดต้องมาต้อนรับเพื่อติดต่อประสานงานด้วย นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ และมีกลุ่ม ส.ส.ชลบุรี กับ กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ ที่ตัดสินใจมาร่วมงานทางการเมืองด้วย

การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งผลทั้งด้านบวกและลบ แม้จะเหลือเวลาแค่ 2 ปีก็ตาม ด้านบวก คือ ได้ประกาศจะลงสนามสู้เลือกตั้งอย่างแน่นอนแล้ว ทำให้หลายๆ อย่างเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ในแง่ลบต้องมองหลังจากเลือกตั้งแล้วว่า รทสช.จะคว้าเก้าอี้อย่างน้อย 25 ที่นั่งได้หรือไม่ หากไม่ได้จะไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ น่าจะเป็นผลพวงมาจากการเปิดตัวล่าช้าพรรคอื่นดึงตัวคนเก่งไปร่วมพรรคกันหมดแล้ว

ปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญอีกประการคือ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังไม่แน่ชัดว่าจะไปอยู่ฝั่งไหน จึงเหมือนนางโมราจะยื่นมีดให้ใคร จะส่งผลในแง่ลบทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะคณะรัฐมนตรีก็จะไม่ทำงาน ไม่สามัคคีกัน สั่งงานกันไม่ได้แล้ว จะมองกันในเชิงสมาชิกพรรคมากกว่าเป็นนายกฯ หรือเป็นรัฐมนตรี ถ้าหาก พล.อ.อนุพงษ์ เอนไปทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แล้ว นายกฯส่งนายพีระพันธุ์ไปติดตามราชการตามต่างจังหวัด อาจจะเจอปัญหาโดนบอยคอตได้

ตอนนี้พรรคใหญ่ล้วนมีความชัดเจน พร้อมจะลงแข่ง ฉะนั้น คนที่จะลงสนามสู้กันแต่ต้องอยู่ใน ครม.เดียวกัน ลองคิดดูว่า จะพูดคุยอะไรกัน ยิ่ง “บิ๊กตู่” ดึงนายพีระพันธุ์เข้าไปใน ครม.ด้วย ทำให้เกิดสุญญากาศทางการบริหารบ้านเมือง ปล่อยนานไปบ้านเมืองจะยิ่งแย่

ปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นอีกประการ ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปพรรค รทสช.เพียงคนเดียว แต่นำทีมงานไปด้วย อาจจะไปขบกับทีมเก่าของ รทสช.จนเกิดปัญหา ตำแหน่งต่างๆ ที่แต่งตั้งจะขัดแย้งกันหรือไม่ ถ้าคนเก่าที่เคยทำงาน ถูกคนใหม่มาเบียด ไม่ได้ตำแหน่งก็อาจจะเกิดปัญหา จนอาจถึงขั้นทำให้พรรคแตกได้ง่ายๆ

ด้านลบสุดท้ายก็คือ มุมในทางกฎหมาย การที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาอยู่พรรคนี้และมีอำนาจรัฐติดตัวมาด้วย กกต.ก็คงจะต้องมาตีความว่า สามารถทำได้หรือไม่ได้ ฝ่ายค้านก็จะเล่นในมุมนี้ด้วย และอีกประเด็น พปชร.กับ รทสช.ต่างมีทหารกล้า เมื่อ 2 ป. “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” แยกกันชัดเจนแล้ว ก็เชื่อว่า ทหารกล้าของทั้งสองฝ่ายจะมุ่งโจมตีกัน จะทำให้ 2 ป. มองหน้ากันไม่ติด เริ่มส่อแววให้เห็นบ้างแล้ว ถือเป็นการบ้านหนักของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะต้องแก้ไขหรือทำยังไงให้แง่ลบกลายมาเป็นแง่บวก ยิ่งถ้า 3 ป. มีปัญหากัน ก็จะเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้าม เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย เข้ามาเสียบได้ง่ายๆ

กรณีหลายคนมองว่า การที่บิ๊กตู่และบิ๊กป้อมแยกกันน่าจะเป็นผลดีต่อการสืบทอดอำนาจ ประชาชนมองออก เพราะมีการติดตามข่าวสารกันตลอด เขาย่อมดูออก การจะส่งนักมวยเข้าแข่งขัน กลับให้นักมวยเป็นกรรมการด้วย เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม แม้จะอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจทำได้ก็จริง แต่ประชาชนก็จะมองว่าขัดกับหลักความเป็นจริงที่ควรจะเป็น ถ้าถูกประชาชนสะท้อนออกมามากๆ ก็จะทำให้เสียเปรียบ การสืบทอดอำนาจตามที่คาดหวังไว้ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ และการสืบทอดอำนาจต่ออีก 2 ปี ก็จะยิ่งเป็นข้อจำกัด และเป็นข้อด้อยที่หลายคนมองว่า นายกฯควรจะทำงานได้ครบวาระ 4 ปี มีหลายคนที่สามารถเข้ามาทำงานได้ 4 ปีเต็ม ดังนั้น ขึ้นอยู่ว่า แต่ละพรรคจะเอาจุดเด่นของตนเอง หรือจะเอาข้อด้อยของฝ่ายตรงข้ามมาหาเสียง หากสังคมยอมรับก็จะยิ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์พลิกสถานการณ์ได้ยาก

ฉะนั้น ปัจจัยการเจรจาต่อรองทางการเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญว่า จะพูดคุยตกลงกันได้ลงตัวหรือไม่ ถ้าหัวหน้าได้แต่ลูกน้องไม่ได้ ลูกน้องเสียเปรียบ ก็ย่อมจะเกิดปัญหาลูกน้องไม่ยอม ทำให้เสถียรภาพในพรรคไม่มีตามมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image