นับถอยหลังเลือกตั้ง66 จับตา‘ยุบสภา-ดีลตั้งรัฐบาล’

นับถอยหลังเลือกตั้ง66 จับตา‘ยุบสภา-ดีลตั้งรัฐบาล’

หมายเหตุนักวิชาการประเมินสถานการณ์การเมืองไทยที่เริ่มนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ ซึ่งรัฐบาลสามารถประกาศยุบสภา หรืออยู่จนครบวาระ 4 ปี ไปจนถึงวันที่ 23 มีนาคม โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีระยะเวลาในการเตรียมการเพื่อจัดการเลือกตั้ง 45 วัน

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

ภ ายหลังที่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ เข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มตัวแล้ว ในเรื่องของการยุบสภาคิดว่ามีโอกาสเกิดขึ้น แต่จะช่วงเวลาไหนเท่านั้น ซึ่งการมีกฎหมาย 2 ตัวนี้ออกมา อาจจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งคงเกิดขึ้นแน่นอน แต่คำวิจารณ์ยุบสภา ณ วันนี้ผมไม่คิดว่าจะส่งผลหรือมีนัยสำคัญอะไรกับการที่เร่งยุบตอนนี้ หรือไปเร่งยุบก่อนที่จะครบวาระในเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาถึงความพร้อมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งมีโอกาสแน่นอนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์เปิดตัวในฐานะแคนดิเดตของพรรคนี้ ต้องบอกว่ายังไม่พร้อมเท่าไหร่ จึงไม่คิดว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นเร็ว โอกาสคือน่าจะก่อนครบวาระเพียงไม่กี่วันเท่านั้น แต่จะเกิดแน่นอน เป็นการยุบในเชิงเทคนิค ประการแรกจะทำให้ระยะเวลาในการเลือกตั้งถูกยืดขยายออกไป ถ้าครบวาระคือ 45 วัน ถ้ายุบสภาก็ยืดขยายออกไป 45 วัน ไม่เกิน 60 วัน

อีกประการหนึ่งที่สำคัญมากคือ เรื่อง ส.ส.ย้ายพรรค ที่จะต้องสังกัดพรรคภายใน 90 วัน เพื่อลงสมัคร แต่ถ้ายุบสภาจะย่นย่อเหลือแค่ 30 วัน และอย่าลืมว่า ส.ส.ที่ย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติค่อนข้างเยอะมาก ฉะนั้น การมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อ ส.ส.เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญจำเป็น แต่อย่างไรก็ดีเชื่อว่าการยุบสภาจะไปเกิดก่อนครบวาระไม่กี่วันเท่านั้น

Advertisement

คงขึ้นอยู่กับความพร้อมของ พล.อ.ประยุทธ์และพรรค รทสช.เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตั้งสาขาพรรค ตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด หรือการคัดสรรบุคลากรของพรรคให้เรียบร้อย ตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นการยุบอันเนื่องมาจากแรงกดดันทางการเมือง แต่ยุบในเชิงเทคนิค ปกติการยุบสภาต้องเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมีความขัดแย้งกัน หรือไม่ก็อยู่ในสภาวะที่ฝ่ายบริหารมีความได้เปรียบ วันนี้โดยหลักการ 2 ข้อนี้ไม่ใช่สถานการณ์นั้นเลย ดังนั้นการยุบสภาเชิงเทคนิคจึงต้องดูความพร้อมเป็นหลัก

ส่วนกฎหมาย 2 ฉบับนี้ มีสาระสำคัญอยู่ไม่มากนักฉบับแรกที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตรงนี้คือการเปลี่ยนเรื่องระบบการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ท้ายที่สุดแล้วจะเคาะออกมาว่า ส.ส.ในส่วนบัญชีรายชื่อ จะใช้สูตรหาร 100 คราวนี้พรรคการเมืองใหญ่จะได้เปรียบ อย่างกรณีเพื่อไทยจะได้เปรียบในการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และพรรคขนาดกลางอาจได้มาบ้าง ในขณะที่พรรคขนาดเล็กและพรรคจิ๋วไม่ได้ประโยชน์อะไรจากกติกาในการเลือกตั้งแบบนี้

ในขณะเดียวกัน อีกหนึ่งคือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง จะเปลี่ยนแปลงในส่วนสำคัญเรื่องของ ไพรมารีโหวต (Primary Vote) หรือระบบเลือกตั้งขั้นต้น คิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองได้ประโยชน์หมด เพราะก่อนหน้านี้มีความพยายามในการทดลองทำไพรมารีโหวต ของพรรคการเมืองต่างๆ และในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคการเมืองต่างๆ ก็สะท้อนเป็นปัญหาของไพรมารีโหวต ว่าทำไม่ได้ หรือมีปัญหา เช่น เรื่องจำนวนสมาชิกพรรค หรือแม้กระทั่งเรื่องของการบล็อกโหวตต่างๆ จึงเป็นที่มาของคำสั่งตามมาตรา 44 ในการผ่อนคลายเรื่องไพรมารีโหวตในเวลานั้น แต่ ณ วันนี้ไม่มีคำสั่งตามมาตรา 44 แล้ว ฉะนั้น การแก้กฎหมายฉบับนี้เป็นที่ได้รับประโยชน์กันถ้วนทั่ว ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ ค่าสมาชิกพรรค ที่ลดลง ตรงนี้เป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองเช่นเดียวกัน เพราะจะทำให้เกิดการขยายฐานสมาชิก และเป็นประโยชน์กับทุกพรรค

สำหรับ สูตรในการตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง คิดว่ามี 3 สูตรใหญ่ สูตรที่ 1 คือพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันอาจจะจับกันแบบหลวมๆ และอาจจะมีบวก-ลบบ้างเล็กน้อย อาจจะเติมพรรคการเมืองตั้งใหม่ อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าไป และอาจมีพรรคเล็กพรรคจิ๋วที่หายไปโดยกติกาการเลือกตั้ง ในขณะที่สูตรที่ 2 คงจะเป็นพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันที่จับมือกันในระดับหนึ่ง สูตรตรงนี้พรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นแกนหลักสำคัญในการเลือกตั้งรัฐบาล คงต้องหาเสียงสนับสนุนจากพรรคที่เห็นด้วยในการที่จะทำให้ได้รับการโหวตในสภา และบวกกับเสียงสนุนของ ส.ว. เพราะอย่าลืมว่ากลไกตามมาตรา 172 ในการให้ ส.ว.มาร่วมโหวตเลือกนายกฯในช่วง 5 ปีแรก จำเป็นที่จะต้องได้เสียง 376 ขึ้นไปจาก 750 คือ ส.ส.บวก ส.ว.นั่นเอง ฉะนั้น สูตรนี้ยากพอสมควร ในขณะที่สูตรที่ 3 เป็นสูตรในการข้ามขั้วทางการเมือง วันนี้ได้ยินถึง ‘ดีลพิเศษ’ การพูดคุยข้ามขั้วกัน การที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประกาศเป็นนายกฯก้าวข้ามความขัดแย้งเรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น เรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว จึงเป็นไปได้ จริงอยู่ว่า ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมืองในสังคม แต่อย่าลืมว่าในแต่ละขั้วนั้นมีค่ายย่อยๆ ซึ่งในแต่ละค่ายไม่ได้เห็นตรงกันในประเด็นรายละเอียดต่างๆ จึงอาจจะต้องดูตัวเลข จำนวนที่นั่ง หลังการเลือกตั้งด้วย

ส่วนเรื่องที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์เลขาธิการพรรค ตกลงกลับมาร่วมงานกับพรรค พปชร. จะสามารถช่วยดึงคะแนนเสียงได้มากน้อยแค่ไหนนั้น เรื่องนี้ส่วนตัวมองว่าไม่ได้ช่วยอะไรได้มาก แต่ ณ วันนี้พรรค พปชร.และทาง 4 กุมารของ พรรค สอท.เป็นลักษณะของน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่ากันมากกว่า เพราะตอนนี้พรรค พปชร.เองก็ประสบปัญหาเรื่องของเลือดไหลไปสู่พรรคอื่นๆ โดยเฉพาะไปสู่ รวมไทยสร้างชาติ ในขณะเดียวกันพรรค พปชร.ต้องการบุคลากรทางการเมืองเข้ามาเสริม และสิ่งสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเปิดตัวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แต่ปรากฏมีกระแสข่าวว่านายมิ่งขวัญได้ออกจากพรรคไปแล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องได้ทีมเศรษฐกิจเข้ามา ในขณะเดียวกันทาง 4 กุมาร วันนี้คือพรรค สอท.เป็นเทคโนแครต เป็นทีมที่ก่อตั้งพรรค พปชร. แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมว่าความเป็นเทคโนแครตของ 4 กุมาร หรือพรรค สอท. สิ่งที่ขาดคือ เรื่องการเมือง จะเห็นได้ว่าการเดินออกจากพรรค พปชร.ของ 4 กุมาร เกิดขึ้นเพราะว่าในเวลานั้นไม่มีฐานสนับสนุนทางการเมือง และไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อพรรค พปชร.ด้วยซ้ำไป ทำให้วันนี้ 4 กุมารกลับมาไม่มีผลบวก-ลบอะไรมากมายนักในทางการเมือง แต่มีภาพของความเป็นทีมเศรษฐกิจ ทีมเทคโนแครตที่เข้ามาเสริมพรรคเท่านั้น โดย 4 กุมารเองไม่ได้มีทางเลือกทางการเมืองที่มากกว่านี้ ถ้าจะลงสนามเลือกตั้งในนามพรรค สอท.อาจจะเป็นเรื่องที่ยาก หรือก่อนหน้านี้ที่ไปดีลกับพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ดูเหมือนจะไม่ลงตัว ฉะนั้น การหันมาดีลกับพรรคเก่าอย่างพรรค พปชร.น่าจะง่ายกว่า

ปัญหาอยู่ที่ว่า วันนี้พรรค พปชร.ที่มีหัวหน้าพรรคชื่อ พล.อ.ประวิตร และกรรมการบริหารพรรคก็คือชุดที่คล้ายคลึงกับตอนที่มีการเข้ามาแทนที่ 4 กุมาร เมื่อ 2-3 ปีก่อน คราวนี้ยังจะสามารถทำงานกันต่อได้หรือไม่ ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องจับตาดู ว่าจะเดินหน้าทางการเมืองไปได้หรือไม่ ถ้าเคยมีประเด็น มีโจทย์กันมาก่อนหน้านี้

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

เ มื่อมีความชัดเจนในเรื่องกฎหมายการเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว ความชัดเจนประการต่อมาคือ ทุกพรรคการเมืองจะต้องเริ่มเตรียมพร้อมมากขึ้น เป็นไปได้ที่อาจจะมีการประกาศยุบสภา ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องมีการประชุมเรื่องเตรียมความพร้อมว่าด้วยเรื่องของประกาศต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของการแบ่งเขตการเลือกตั้ง 400 เขตสอดคล้องกับกฎหมายลูกที่ออกมาที่กำหนดให้มี ส.ส. 500 คน แบ่งเขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คนเป็นจุดหนึ่งที่ต้องติดตามต่อไปว่าการแบ่งเขตของ กกต.มีความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน และเมื่อพรรคการเมืองได้เห็นการแบ่งเขตจะได้เตรียมความพร้อมในการส่งรายชื่อผู้สมัครประจำเขตต่างๆ ที่จะลงชิงชัยกันในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ส่วนตัวคิดว่ากฎหมายลูกมีส่วนเร่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาเร็วขึ้น แต่ไม่ถึงกับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด คิดว่าปัจจัยที่จะส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา น่าจะเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติของตนเองได้เปรียบหรือไม่ หากวิเคราะห์สถานการณ์ว่าไม่มีความได้เปรียบก็จะไม่ยุบสภา โดยจะยืดระยะเวลาไปเรื่อยๆ อาจจะมีการออกนโยบายในส่วนของภาครัฐเพื่อจะเรียกคะแนนนิยมมากขึ้น ตรงนั้นน่าจะเป็นจุดที่กำหนดเรื่องของการยุบหรือไม่ยุบสภา

ส่วนเรื่องความได้เปรียบหรือเสียเปรียบ พรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่มีความได้เปรียบ เมื่อกฎหมายลูกออกมาก็เป็นไปตามที่มีการวิเคราะห์กันไว้ว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย จะมีความได้เปรียบมาก และมีแนวโน้มสูงที่จะมีจำนวน ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนพรรคที่มีขนาดหรือจำนวน ส.ส.รองลงมาจะมีความได้เปรียบด้วย แต่พรรคขนาดเล็กจะเสียเปรียบและอาจจะเข้าข่ายไม่ได้รับการเลือกตั้งเลยก็เป็นได้ จึงมีปรากฏการณ์ควบรวมพรรคการเมือง และยังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของกฎหมายลูก แม้กระทั่งกรณีของนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค สอท. และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค สอท. ที่จะกลับมาพรรค พปชร. ก็มีส่วนในการที่จะเพิ่มคะแนนให้กับพรรค พปชร. เราจะเห็นว่าพรรค พปชร.ก่อนหน้านี้มีลักษณะที่อ่อนล้าและอ่อนกำลังลงมาก แต่เมื่อผ่านไปช่วงหลังจะเห็นว่ามีกิจกรรมและวิธีการดำเนินการที่น่าสนใจมาก และทำให้แนวโน้มของจำนวนผู้สมัครของพรรค พปชร.ที่ได้รับการเลือกตั้งมีสูงขึ้น คะแนนนิยมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็มากขึ้นมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เพราะประสบการณ์ทางการเมืองยังไม่ค่อยมี ผมเชื่อว่ามีคนไทยหลายคนที่ยังคงให้ความนิยมในแนวทางหรือแนวนโยบายของ สอท.ตรงนี้อาจจะมาเสริมความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจของพรรค พปชร.ให้ได้รับคะแนนความนิยมมากขึ้น

ด้านสูตรในการจัดตั้งรัฐบาลคือ ฉากทัศน์แรกจะต้องได้จำนวนเสียงมากกว่า 376 เสียง มาจากพรรคการเมืองล้วน ซึ่งยากแต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย สมมุติว่าพรรค เพื่อไทย (พท.) มีคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งและสามารถที่จะรวมกับพรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) หรือพรรคเล็กอื่นๆ รวมกันแล้วได้มากกว่า 376 เสียง ก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคะแนนเสียงของ ส.ว. ซึ่งถ้าต้องการจะปิดประตูคู่อำนาจเดิม หรือ 3 ป. ก็ต้องคาดหวังว่าจะได้ ส.ส.จากพรรคการเมืองและเป็นแนวร่วมที่คุยกันลงตัว

ฉากทัศน์ที่ 2 คือเสียงของ ส.ว.จะเข้ามามีผล ผมคิดว่ากรณีของพรรค พปชร.จะมีแต้มต่อตรงนี้อยู่ ด้วยความเชื่อมโยงของ พล.อ.ประยุทธ์และสายสัมพันธ์ของ ส.ว. ทำให้พรรค พท.ก็น่าจะพูดคุยกันอยู่พอสมควร ที่ผ่านมาตามที่ได้ยินข่าวเรื่องดีลลับกับ พล.อ.ประวิตร ว่าถ้าหากได้เป็นรัฐบาลจะชู พล.อ.ประวิตรให้ได้เป็นนายกฯก่อน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็น 4 ปีรวดหรือ 2 ปีแบ่งกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตรหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

ส่วนฉากทัศน์ที่ 3 คือ พล.อ.ประยุทธ์จากพรรค รทสช.ขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งจะต้องได้รับคะแนนนิยมจากพรรคตัวเองค่อนข้างมาก โดยในขณะนี้ยังไม่เห็นความโดดเด่นอะไรมากนักของพรรค รทสช. คิดว่าแนวโน้มเข้าข่ายฉากทัศน์ที่ 2 มากกว่า คือเป็นการพูดคุยกันระหว่างพรรค พท.กับพรรค พปชร.ตกลงกันว่าจะรวมกัน และชูแคนดิเดตจากพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นนายกฯ ด้านพรรค ภท.มีความเป็นไปได้ที่จะได้เป็นแคนดิเดต แต่พรรค ภท.ไม่ได้มีฐานเสียงของ ส.ว. ตรงนี้คือความเสียเปรียบของพรรค ภท. ถึงแม้ว่าอาจจะสร้างปรากฏการณ์ที่จะได้จำนวน ส.ส.ในอีสานใต้ และใน กทม.มากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าเขามีศักยภาพตรงนั้นอยู่ แต่การเพิ่มมากขึ้นนั้น ไม่ได้มีนัยสำคัญที่จะมากไปกว่าพรรค พท. อาจจะได้คะแนนอันดับหนึ่ง ตนยังให้น้ำหนักไปตรงที่การสานสัมพันธ์กับ ส.ว. เพราะครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่ ส.ว.จะเข้ามาร่วมยกมือโหวตผู้ที่จะเป็นนายกฯ ฉะนั้นเสียง ส.ว.จะเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งพรรค ภท.ค่อนข้างที่จะขาดความสัมพันธ์ตรงนี้

ถ้าถามถึงแนวโน้มที่ ภท.ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะได้จัดตั้งรัฐบาล ถ้าหากจะมีโอกาส ต้องคิดเป็นฉากทัศน์ที่ 4 คือพรรค ภท.ต้องได้คะแนนเสียงมากตามตั้งไว้คือ 120 เสียงขึ้นไป แต่สุดท้ายก็เหมือนที่วิเคราะห์ไปว่า ถ้ามีการให้ ส.ว.เข้ามาร่วมโหวตนายกฯ พรรค ภท.มีโอกาสน้อยที่จะดันนายอนุทินเป็นนายกฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image