ศึกซักฟอก ม.152 สะเทือนถึงเลือกตั้ง?

ศึกซักฟอก ม.152 สะเทือนถึงเลือกตั้ง?

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการ กรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 จะส่งผลอะไรต่อการเลือกตั้งหรือไม่ภาพที่ออกมาคาดว่าจะเกิดอะไรขึ้น หลังจากพรรคภูมิใจไทยเตรียมจะอภิปรายพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายแบบไม่ลงมติ คิดว่าอยู่ที่ฝ่ายค้านจะเล่นเกมการเมืองหรือเปล่าเท่านั้นเอง เพราะมองดูแล้วพรรคเพื่อไทยเล่นการเมืองแบบทำการเมืองให้เป็นการเมือง โดยการเอาใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถึงแม้ว่า พล.อ.ประวิตรมีภาพขัดแย้งกับลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะเล่นเกมเพื่อรักษาน้ำใจ พล.อ.ประวิตรมากกว่า เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจจะต้องพึ่งพาพรรคพลังประชารัฐ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจจะออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง หากพรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นจะต้องรักษาน้ำใจ พล.อ.ประวิตร และคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ โอกาสนี้ถือว่ามีความสำคัญจะถล่มรัฐบาล

มีหลายเรื่องที่จะทำให้รัฐบาลเสียภาพลักษณ์ต่อไปในการหาเสียง หรือหมดความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลสมัยหน้า เช่น ทุนจีนฝ่ายค้านไม่กล้าแตะมาตั้งแต่ต้นแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ปัญหาสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสื่อมศรัทธาจากประชาชน อยู่ในการกำกับของนายกรัฐมนตรี เรื่องการซื้อขายตำแหน่งในการตีพิมพ์วารสารของ อว. อยู่ในความรับผิดชอบของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหา คิดว่าเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเรื่องสำคัญมากหากฝ่ายค้านจริงใจกับประชาชน ไม่เล่นการเมือง และมีการอภิปรายในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เชื่อว่าสังคมสนใจและพัวพันไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าจะให้โอกาส พล.อ.ประยุทธ์กลับมาทำงานหรือไม่ เพราะเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดมีความสำคัญ เนื่องจากการปฏิรูปล้มเหลว ไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาทั้งคดีตู้ห่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผลงานทางด้านวิชาการ อย่างไรก็ตาม ต้องดูท่าทีของฝ่ายค้านว่าจะเล่นการเมืองเพื่อรักษาน้ำใจ พล.อ.ประวิตรหรือไม่

ส่วนจะโยงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ มองว่าทั้ง พล.อ.ประวิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และการบริหารงานในรัฐบาลชุดนี้ทั้ง 2 คน จะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน อาทิ ปัญหาทุนจีน เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ตำรวจเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตรด้วย จึงต้องวัดใจพรรคเพื่อไทยต้องการรักษาน้ำใจ พล.อ.ประวิตรหรือไม่ถ้ารักษาน้ำใจก็คงอภิปรายแบบพิธีกรรมเท่านั้น

Advertisement

แต่พรรคก้าวไกลก็ต้องฉวยโอกาสนี้อภิปรายอย่างหนัก เพื่อจะได้เป็นเงื่อนไขในการหาเสียงครั้งหน้า เพราะพรรคก้าวไกลอยู่ในภาวะจะต้องเก็บคะแนน เนื่องมาจากพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง ไปเล่นการเมืองแบบพรรคไทยรักไทย กวาดกลุ่มก๊วนทางการเมืองทั้งหมด มีคนในพรรคเพื่อไทยไม่พอใจ จึงเป็นโอกาสของพรรคก้าวไกล จะดึงคนไม่เห็นด้วยกลับมาอยู่พรรคก้าวไกล และบดขยี้รัฐบาลให้หนักมากขึ้น

ฟากของรัฐบาลมองดูแล้วไม่จำเป็นต้องชี้แจง เพราะที่กล่าวมามีผลกระทบต่อรัฐบาลผิดพลาดทางนโยบาย ไม่สามารถชี้แจงได้อยู่แล้ว ถ้าฝ่ายค้านกล้าเปิดประเด็นทั้งทุนจีน ความล้มเหลวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล และกล้าเปิดการทุจริตในทางวิชาการของ อว. รัฐบาลจะแก้ต่างไม่ได้ เพราะมีหลักฐานประจักษ์ชัด ทางออกของรัฐบาลอาจจะใช้วิธีการคือการทำให้สภาล่ม ไม่ต้องชี้แจงในสภาเพราะสภาล่มเอง

หากพรรคภูมิใจไทยจะเล่นด้วย รวมทั้งฝั่งของฝ่ายค้านมองดูแล้ว พล.อ.ประยุทธ์อาจจะไปต่อยาก เพราะเป็นการส่งสัญญาณหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูว่าการอภิปรายจะพุ่งเป้าไปที่ใคร เช่น อาจจะอภิปรายรุนแรงแต่เว้นระยะห่าง พล.อ.ประวิตร แต่โจมตี พล.อ.ประยุทธ์ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์โดนเต็มๆ อว.อยู่ในความดูแลของ ดร.เอนก แต่สายสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังมีกันอยู่ ทุนจีนอาจจะอภิปรายเบาบางในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประวิตร เพราะรู้ดีว่าหากพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ไม่ได้ แต่ต้องการสร้างโอกาสจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน อาจจะประกอบไปด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย

การอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่ลงมติในครั้งนี้ คิดว่าแนวทางหลักๆ พรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้านควรถล่มรัฐบาล จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถแก้ต่างได้เลยและจำนนด้วยหลักฐาน เอาให้ถึงที่สุดเพื่อสร้างโอกาสในการสร้างกระแสต่อในเรื่องความล้มเหลวของรัฐบาลในครั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีความชอบธรรมในการเป็นฝ่ายบริหารในรัฐบาลสมัยหน้า ประการต่อมาอาจจะมีการประนีประนอมเพราะรู้ดีว่าจะต้องร่วมมือกันในรัฐบาลสมัยหน้า ก็จะทำเป็นพิธีเพื่อเล่นเกมการเมือง มุ่งโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อดีดออกจากสมการการเมือง แต่รักษาน้ำใจ พล.อ.ประวิตร และประการสุดท้ายช่วงอภิปรายรัฐบาล อาจจะทำให้สภาล่ม จนทำให้การอภิปรายประเด็นสำคัญๆ ไม่ได้

ส่วนพรรคก้าวไกลเชื่อว่าเกมนี้จะเล่นหนัก เพราะเป็นโอกาสของพรรคก้าวไกล ขณะนี้แฟนคลับศรัทธาพรรคเพื่อไทยจำนวนมาก กำลังผิดหวังกับท่าทีของพรรคเพื่อไทย กำลังเทใจให้กับพรรคก้าวไกล หากพรรคก้าวไกลทำงานให้ดีกว่าพรรคเพื่อไทย แฟนคลับของพรรคเพื่อไทย ก็จะหันมาอยู่กับพรรคก้าวไกล หากทำคะแนนได้ดีมากจากการอภิปรายในครั้งนี้ ส่วนพรรคภูมิใจไทยมองดูแล้วคงจะสงวนท่าที พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลคงไม่มีบทบาทอะไรมาก ความเคลื่อนไหวในการอภิปรายในครั้งนี้คงมีบทบาทเพียง 3 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย รัฐบาล และพรรคก้าวไกล ประเด็นเกี่ยวกับกัญชาของพรรคภูมิใจไทย ก็ต้องดูว่ากฎหมายผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านเชื่อว่าสมาชิกพรรคภูมิใจไทยคงอภิปรายในประเด็นนี้ด้วยแน่นอน

ทวิสันต์ โลณานุรักษ์
อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และอาจารย์พิเศษคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ก ารอภิปรายแบบไม่ลงมติ แม้ว่าจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่จะเป็นการเปิดข้อมูล เปิดแผล ขยายแผลของฝั่งรัฐบาล จะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้าการขยายแผลชัดเจน เช่น กรณีตู้ห่าว เครือข่ายทุนจีนสีเทา กรณีประชาชนถูกต้มตุ๋นหลอกลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์ จริงๆ รัฐบาลควรจะเข้ามาร่วมรับผิดชอบให้ชัดเจนกว่านี้ รวมไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ข้าวของแพง ควบคุมราคาไม่ค่อยได้ ทำให้รายรับน้อยกว่ารายจ่ายและยังมีประเด็นการทุจริตของข้าราชการ ระดับอธิบดี การตั้งด่านขูดรีด การอดอาหารเรียกร้องสิทธิของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ล้วนส่งแรงกระเพื่อมให้กับรัฐบาลได้มาก

อีกเรื่องที่สำคัญคือรัฐบาลไม่มีเอกภาพ ต่างคนต่างไป พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ไปกันคนละทาง มีการแข่งขันดึงตัว ส.ส.กันรุนแรง รัฐบาลจึงมีเอกภาพน้อยมาก ต้องมาดูกันว่าครั้งนี้สภาจะล่มอีกหรือไม่ เพราะล่มมาแล้ว 32 ครั้ง สิ้นเปลืองงบประมาณมาก ประมาณครั้งละ 10 ล้านบาท ถ้าล่ม 32 ครั้ง เสียหายไปแล้ว 320 ล้านบาท ถ้าเปิดประชุมอภิปรายแล้วรัฐบาลเห็นว่าเสียเปรียบ ยิ่งถ้าพรรคร่วมรัฐบาลคุยกันไม่รู้เรื่อง มาขอเข้าอภิปรายร่วมกับฝ่ายค้าน เปอร์เซ็นต์จะไม่เปิดประชุมอภิปรายจะยิ่งสูง

การอภิปรายครั้งนี้จะส่งผลกระทบรัฐบาลมาก เพราะบริหารมาหลายปี ย่อมมีข้อบกพร่องเยอะ มีแผลมาก ที่สำคัญตอนนี้หัวหน้ารัฐบาลทั้งนายกฯและรองนายกฯ ลงพื้นที่หาเสียงแข่งกัน ใช้เวลาราชการไปหาเสียงหรือไม่ เป็นเรื่องเปราะบาง ส่วน กกต.ยังทำอะไรหลายอย่างไม่เรียบร้อย โดยเฉพาะการแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่น่าจะยากไม่น่าจะแบ่งแล้วดูสับสนแบบนี้ ปัจจัยเหล่านี้จะเปิดแผลการทำงานของรัฐบาล ทำให้ประชาชนเห็นข้อบกพร่องมากขึ้น ทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเลือกหรือไม่เลือก

ดังนั้น เมื่อการเปิดอภิปรายตามมาตรา 152 ทำให้รัฐบาลเสียเปรียบ ก็ย่อมเป็นไปได้ว่ารัฐบาลคงจะไม่อยากให้เปิดสภา เพราะรัฐบาลไม่มีเอกภาพ คนที่ทำงานร่วมแตกคอกัน แข่งขันกันเอง คงไม่มีใครมาพูดเข้าข้างใคร จึงไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายรัฐบาลส่วนกรณีของลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา หลายคนวิเคราะห์ว่าไม่ได้ทะเลาะกัน แต่เป็นการสร้างดาวคนละดวง และเมื่อจบเกมแล้ว ทั้งสองคนน่าจะคุยกันได้ ฉะนั้น การโจมตีใครหรือไม่โจมตีใคร ก็ล้วนส่งผลกระทบกับ 3 ป. ทั้งสิ้น กรณีลุงป้อม แม้ว่าจะสามารถเชื่อมโยงกับพรรคฝ่ายค้านได้ แต่สมาชิกหลายคนของพรรคลุงป้อม ก็มีประเด็นกันอยู่กับ ส.ส.ฝ่ายค้านการประสานเชื่อมโยงจึงไม่ง่ายอย่างที่คิด ฉะนั้น ลุงป้อมจึงหนีไม่พ้นจะต้องถูกอภิปราย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม และยิ่งถ้าประเมินว่าพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคภูมิใจไทย อาจจะไปร่วมแจมกับฝ่ายค้านอภิปรายรัฐบาลด้วย ก็จะยิ่งสุ่มเสี่ยงสูง ดังนั้น ถ้าเป็นเกมการเมือง รัฐบาลก็อาจใช้วิธีไม่เปิดสภาอาจอ้างเหตุองค์ประชุมไม่ครบ และอาจเป็นไปได้ว่าจะประกาศยุบสภาไปในคราวเดียวกัน เพราะรัฐบาลร่อแร่อยู่แล้ว ไม่มีแนวร่วม ทำให้ประชาชนเสียเงินภาษีไปฟรีๆ อีก 10 ล้านบาท โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา

ดังนั้น ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ควรจะมาประชุมให้ครบองค์ประชุมเพื่อร่วมอภิปรายและรับฟังกัน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศในการจะตัดสินใจเลือกใครเข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลอาจจะใช้เวทีนี้ชี้แจง หาเสียงไปในตัวก็ได้ ถ้าฝ่ายค้านแย้งติงก็ชี้แจงกันไป โดยเฉพาะเรื่องน้องตะวันและน้องแบม และกรณีของพิ้งกี้ดาราสาวได้รับการปล่อยตัวออกมา ก็เป็นประเด็นที่เกิดข้อเปรียบเทียบและสังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง จึงเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะได้ชี้แจงประชาชน เพราะถ้าไม่เปิดประชุม ไม่ชี้แจง ย่อมจะส่งผลจนอาจถึงขั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องประเมินข้อมูลความพร้อมของตนเอง และประเมินสถานการณ์ให้ดีก่อน ว่าจะตัดสินใจเปิดประชุมสภาดีหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image