ถอดรหัสการเมือง ดีลจับขั้วตั้งรัฐบาล

รายงานหน้า2 : ถอดรหัสการเมือง ดีลจับขั้วตั้งรัฐบาล

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อการส่งสัญญาณทางการเมืองล่าสุดของขั้วพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็น อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจพร้อมแกนนำกินข้าวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และการเข้ากอด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือว่าที่แคนดิเดตนายกฯของพรรครวมไทยสร้างชาติ

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

สิ่งที่น่าสนใจในช่วงนี้ เป็นการต่อสู้ที่เข้มข้น ต้องมีการวางยุทธศาสตร์ต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ประการหนึ่ง คือภาพของแกนนำพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่คุณอนุทิน ชาญวีรกูล เข้าไปพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทานข้าวร่วมกัน ก็มีภาพออกมาพร้อมทั้งมีคำพูดที่บอกว่าแบ่งกันคนละ 2 ปีด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ ณ วันนี้พรรค ภท.เองก็ประสบปัญหาฝ่ามรสุมทางการเมือง

Advertisement

พูดอย่างติดตลกหน่อย ก็คือ ภท.คราวนี้ล่องเรือออกไปเจอมรสุม เจออะไรต่างๆ ก็ต้องหลบจากทะเลเข้าไปสู่ป่าก็คือป่ารอยต่อฯของ พล.อ.ประวิตรนั่นเอง นี่คือยุทธศาสตร์การเมืองของพรรค ภท.ก่อนหน้านี้พรรค ภท.ถูกคาดหมายว่าจะต้องสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ขณะเดียวกันจะพบว่าเมื่อเกิดปัญหาต่อพรรค ภท. กรณี ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ ทำให้เกิดประเด็นต่อพรรค ภท.ขึ้นมา จึงต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ในลักษณะที่จะทำให้พรรคลื่นไหลไปได้ทุกขั้วทางการเมือง

ในขณะเดียวกันพรรค ภท.ก็ต้องสร้างราคา สร้างน้ำหนักให้เป็นตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญ จึงได้ยินคำพูดที่ว่าแบ่งกันเป็นนายกฯคนละครึ่งกับ พล.อ.ประวิตรเป็นสิ่งที่สะท้อนกลับไปสู่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

ทั้งนี้ คุณอนุทินเองก็ยังมีภาพเดิมที่ไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ออกมาเช่นเดียวกัน ยิ่งทำให้พรรค ภท.อยู่ในลักษณะของการพยายามสร้างให้ตัวเองเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง ไปร่วมกับใครก็ได้ และมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล กล่าวคือเป็นการกำหนดจุดยืนและวางยุทธศาสตร์ของพรรค ภท.หลังจากเจอมรสุมทางการเมือง แต่อย่าลืมว่า ภท.เป็นพรรคที่มีโอกาสได้ ส.ส.มากขึ้นกว่าเดิมด้วย จะเป็นตัวแปรสำคัญ และคาดหมายว่าจะเป็นพรรคที่ได้อันดับ 2 จากการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยซ้ำไป

Advertisement

ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ณ วันนี้ถูกตั้งคำถามเยอะ กระทั่งจากศิษย์เก่าอย่าง คุณจตุพร พรหมพันธุ์ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการตั้งคำถามถึงจุดยืนจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคไหน จะส่งผลต่อฐานคะแนนของ พท.และผู้สนับสนุน เพราะได้ประกาศเป้าหมายใหม่ของการแลนด์สไลด์ไปสู่ซุปเปอร์แลนด์สไลด์ 310 ที่นั่ง ยิ่งต้องชัดเจนว่า จุดยืนและขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองคืออะไร

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมือง สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่เรื่องนโยบายแล้ว พรรค พท.อาจจะประสบความสำเร็จในเรื่องการเมืองเชิงนโยบาย การเลือกตั้งปี 2544 ในนามของพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยกินได้ แต่ผ่านไป 20 ปี นี่คือทศวรรษที่ 2560 เรื่องนโยบายกลายเป็นลำดับรอง เรื่องหลักคือการเมืองในเชิงอุดมการณ์ ยิ่งเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางการแบ่งขั้วแบบนี้ จุดยืนแต่ละพรรคต้องชัดเจน จึงจะได้รับความนิยมและได้รับคะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชน

ระยะหลังจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ของพรรค พท.เดินอย่างเป็นยุทธศาสตร์ ทั้งการเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ หรือประกาศจุดยืน ก่อนหน้านี้พอมีกระแสเรื่องยุบสภาก็ได้ยินชื่อคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นคนแรก ในฐานะที่คุณเศรษฐาจะต้องทำความรู้จักผู้คนมากหน่อยเพราะไม่เคยสัมผัสการเมือง เมื่อยุบสภาแล้วก็กำหนดวันเลือกตั้ง อีกไม่นานหลังจากนี้จะได้ยินแคนดิเดตคนที่ 2 ของ พท.และแคนดิเดตคนที่ 3 ก็จะไปเปิดตัวในวันที่สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นี่คือการย่างก้าวอย่างเป็นยุทธศาสตร์ อย่าลืมว่า พท.มีประสบการณ์ทางการเมืองมากว่า 20 ปี ตั้งแต่เป็นไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ผ่านการรัฐประหารมา 2 ครั้ง ผ่านการถูกยุบพรรคมา 2 หน เจอม็อบมานับไม่ถ้วนในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นการประกาศจุดยืนของ พท.จึงต้องเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นยุทธศาสตร์ด้วย

ส่วนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ณ วันนี้ต้องประคับประคองต่อไป โอกาสจะเป็นพรรคอันดับ 1 ยังไม่ถึงเวลา แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าก็เป็นไปได้ เพราะครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คนในเจนเนอเรชั่น x เป็นตัวชี้วัดตัดสิน เนื่องจากมีถึง 16 ล้านเสียง มีคนที่เป็นผู้ใช้สิทธิครั้งแรกเข้ามาถึง 4 ล้านเสียง ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า คนเจน Y และ Z จะเป็นตัวชี้วัดตัดสิน เป็นพื้นที่ของพรรค ก.ก.

ผมคิดว่าการแสดงออกของแต่ละพรรคการเมืองคงมีผลต่อการจับขั้วอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือตัวเลขหลังการเลือกตั้งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะเป็นตัวชี้วัด พรรคไหนจะไปในทิศทางใด จะจับขั้วกับใคร ส.ว.จะเอาด้วยหรือไม่ จะผ่านด่าน ส.ว.อย่างไร คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังเห็นตัวเลขการเลือกตั้ง

แน่นอนว่ามีโอกาสพลิก เพราะแม้จะเป็นการแบ่งขั้วทางการเมือง แต่ละขั้วก็มีค่ายย่อยๆ อาจเกิดปรากฏการณ์ข้ามค่ายได้เช่นกัน เหมือนวาทะคลาสสิกที่ว่าการเมือง ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

ความเคลื่อนไหวพรรค นักการเมืองที่จับขั้วทางการเมืองหลังประกาศยุบสภาสะท้อนถึงความผูกพันที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน อีกมุมหนึ่งเป็นการปลุกขวัญกำลังใจฝ่ายอนุรักษนิยมเพื่อสู้กับฝ่ายค้านที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะพรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศขอชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือแลนด์สไลด์ 310 เสียง จำเป็นต้องแสดงศักยภาพเพื่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยหวั่นไหวได้

ขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โฟนอิน ระบุว่า พท.ไม่จับมือ พปชร.จัดตั้งรัฐบาล พร้อมโจมตี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่กล่าวหารับพรรคและอดีต ส.ส.ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วม พท.อีกครั้ง สะท้อนภาพการเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ได้ เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ซึ่งพรรคที่กลับมาร่วม พท.ส่วนใหญ่เคยเป็นศิษย์เก่าจึงไม่แปลกที่ศิษย์เก่าคืนสู่เหย้าภายใต้กระแสเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีโอกาสชนะเลือกตั้งสูงกว่าฝ่ายอนุรักษนิยม ทำให้การจับขั้วทางการเมืองต้องเปลี่ยนไปตามกระแสความต้องการประชาชนส่วนใหญ่ด้วย

ส่วนตัวมอง พท.อาจไม่แลนด์สไลด์ถึง 310 เสียง น่าจะได้เพียง 250 เสียง หากรวมพรรคก้าวไกล (ก.ก.) 70 เสียง และพันธมิตรฝ่ายค้าน สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยม พปชร.ตั้งเป้า ส.ส. 150 เสียง ภท. 100 เสียง รทสช.อีก 50 เสียง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับประชาชนแสดงพลังให้โอกาสพรรคไหนมากกว่ากัน นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล

ภายหลังยุบสภาทุกพรรคเริ่มออกแคมเปญหาเสียงภายใต้กฎกติกา และระเบียบข้อห้าม 27 ข้อเพื่อหลีกเลี่ยงหรือเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าว ทุกพรรคต้องหาจุดยืนให้เจอเพื่อตอบโจทย์ประชาชน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด

การเลือกตั้งครั้งนี้ มี 2 พรรคที่น่าห่วงคือ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังหาจุดยืนตัวเองไม่เจอ ประกอบกับแกนนำและอดีต ส.ส.ย้ายสังกัดพรรคใหม่จำนวนมาก จำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อลบภาพอนุรักษนิยมที่สนับสนุนเผด็จการ เป็นอนุรักษนิยมแบบก้าวหน้ามากขึ้น ส่วนพรรค ภท.ยังถูกชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขุดคุ้ยทุจริต ทำให้สองพรรคตกที่นั่งลำบากมากขึ้น

สุดท้ายการเคลื่อนไหวพรรคและนักการเมือง เป็นการส่งสัญญาณพันธมิตรทางการเมืองแบบไม่เป็นทางการ หรือกึ่งทางการ ทุกความเคลื่อนไหวต้องอยู่ในกระแสความสนใจประชาชน เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างแนวร่วม และเครือข่ายทางการเมือง เพื่อใช้ต่อรองแบ่งปันอำนาจผลประโยชน์มากที่สุดทุกการลงทุนต้องได้ผลตอบแทน หรือผลกำไรกลับคืนไม่สูญเปล่า

ศิริวรรธน์ พัชรนิวัฒนากุล
นักวิชาการอิสระ

ความเคลื่อนไหวของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ก่อนหน้า พร้อมแกนนำ ภท.ร่วมวงกินข้าวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ล่าสุดยังโชว์การสวมกอด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มองดูแล้วเป็นเรื่องธรรมดาของนักการเมือง เหมือนเราไปกินข้าวกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง อาจจะไม่มีนัยทางการเมืองก็ได้ หรือในมุมของการเมือง อาจจะมีการดีลกันไว้ หากได้ ส.ส.ตามเป้าหมายที่วางไว้ก็มาจับมือกัน

ถ้ามองจากความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย (พท.) จะไปจับมือกับ ภท.คงยาก แต่ถ้าพรรค พท.ต้องการดึงพรรค ภท.ร่วมรัฐบาล คงจะพิจารณาเป็นพรรคสุดท้าย มองลึกๆ แล้ว พรรคของ พล.อ.ประวิตรจะเข้าร่วมกับพรรค พท.ได้ หาก พท.ไม่สามารถชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

มีข่าวออกมาว่า ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ เคยร่วมงานกับพรรค พท.และลาออกมาก็มีสาเหตุมาจากพรรค พท.ไม่ยอมเปิดอภิปรายไม่วางใจ พล.อ.ประวิตร ผมมองว่าแกนนำในพรรค พท.มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.อ.ประวิตร ส่วนการที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะร่วมมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หรือไม่ ดูแล้วความสัมพันธ์น่าจะเสื่อมคลาย เพราะการเมืองไม่มีพี่ ไม่มีน้อง ไม่มีเพื่อน มีแต่ผลประโยชน์ เมื่อโอกาสจะร่วมรัฐบาลมาถึงความเป็นพี่น้องเพื่อนฝูงไม่มีแล้ว ที่สำคัญไม่ใช่พี่น้องคลานตามกันมา

หากมองในแง่รัฐศาสตร์การเมืองแล้ว การเมืองมีเรื่องผลประโยชน์เมื่อผลประโยชน์ลงตัวก็คือความสำเร็จ เพราะเมื่อลงสนามเลือกตั้งก็ฟาดฟันกันอย่างเต็มที่แสดงบทบาทให้ประชาชนเห็น แต่เลือกตั้งเสร็จแล้ว หรือลงจากสภาก็เป็นพวกกันทั้งหมดเหมือนเล่นปาหี่ให้ดู นักการเมืองที่ทำอะไรแล้วไม่สมประโยชน์ของตัวเองก็จะไม่ทำ ยอมแม้กระทั่งเสียสัตย์เสียหน้าเสียตา

ส่วนกรณีทักษิณ ชินวัตร เคยโฟนอินไม่ต้องการร่วมกับพรรค พปชร.มองว่าเป็นลูกเล่นมากกว่า ถึงเวลาก็จะมีเหตุผลที่จะเอา พล.อ.ประวิตรมาร่วมรัฐบาล ดูแล้วพรรค พท.น่าจะได้ ส.ส.มากที่สุด แต่อาจไม่แลนด์สไลด์ถึง 310 เสียง อย่าลืมกลุ่มประชาธิปไตยที่เคยอยู่กับพรรค พท.ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รวมทั้งพรรคก้าวไกลที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเป็นพิเศษและยังเป็นฐานคะแนนที่สำคัญอีกด้วย ส่งผลให้พรรค พท.ขาดโอกาสแลนด์สไลด์ได้

ดังนั้นพรรค พท.จะต้องหาพรรคการเมืองมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล เป็นพรรคที่เคยมีความสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ไปในทิศทางเดียวกันได้ และต้องการเอา ส.ส.มาเติมเต็มให้กับพรรค พท.มองดูพรรคลุงป้อมเท่านั้นร่วมกับพรรค พท.ได้

ส่วนกระแสการเมืองในพื้นที่ จ.ชลบุรี ถือว่ารุนแรงมาก แต่ไม่เท่าในอดีตที่เอาชีวิตกัน หากมองการปราศรัยของนายสนธยา คุณปลื้ม ล่าสุด ก็พูดกันตรงๆ ส่วนจะเท็จหรือจะจริงไม่มีใครรู้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งควรนำไปคิดต่อและคิดว่าเลือกตั้ง
ส.ส.ชลบุรีครั้งนี้สนุกมาก ส่วนการที่ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งแล้วนักการเมืองก็หนักใจ โดยเฉพาะกรุงเทพฯบางคนอยู่ในเขตแต่ไม่สามารถเลือกตั้ง ส.ส.ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะไปอยู่อีกเขตหนึ่ง ทั้งที่ลงพื้นที่หาเสียงมายาวนาน โดยเฉพาะนักการเมืองเก่าๆ

ส่วนการจับขั้วของพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ขณะนี้ยังไม่สามารถพูดอะไรได้ พูดตอนนี้ พรุ่งนี้อาจจะเปลี่ยนก็ได้ ส่วนการปราศรัยของพรรคการเมืองตามจังหวัดต่างๆ ถือว่ามีผลต่อการเลือกตั้งเหมือนกัน ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะมาด้วยใจมาเอง หรือซื้อตัวมาจะเกิดประโยชน์กับประชาชนจะได้ฟังนโยบายจากผู้สมัครและหัวหน้าพรรคการเมือง หากจะกาบัตรเลือกตั้ง ส.ส.หรือพรรคการเมืองใด ก็ควรพิจารณาให้ดีว่านโยบายที่พรรคการเมืองอ้างมาแล้วจะทำได้หรือไม่

ในการจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าอาจจะมองได้ว่าพรรค พท.ได้คะแนนเสียง ส.ส.มากที่สุด แต่คงไม่แลนด์สไลด์ มั่นใจว่าจะมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค พปชร. ส่วนจะเอาพรรค ก.ก.มาร่วมก็ไม่ได้เพราะอุดมการณ์ต่างกัน ส่วนการที่พรรค ภท.จะมาร่วมรัฐบาลโอกาสก็มีสูงเช่นกัน เพราะไม่ชอบเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องดูว่าผลประโยชน์ลงตัวหรือเปล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image