ถอดบทเรียนรัฐประหาร ปิดทางยึดอำนาจ

หมายเหตุ – ความเห็นและข้อเสนอแนะของนักวิชาการในการถอดบทเรียนการทำรัฐประหารในประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ 9 ปี การทำรัฐประหารรัฐบาล  เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

กระแสข่าวรัฐประหารในขณะนี้ มองดูแล้วเกิดขึ้นยากแต่อาจจะมีการตั้งรัฐบาลซ้อนกันขึ้นมามากกว่า ในกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ เชื่อว่าการตั้งรัฐบาลซ้อนเป็นการฝืนกระแสสังคม คิดว่าจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากไม่ได้รับแรงสนับสนุน และพรรคที่มีโอกาสสูงที่จะฝ่ามติคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะฝืนกระแสนิยม และอาจจะเป็นการทำลายพรรคเพื่อไทยระยะยาว สถานการณ์ในขณะนี้ คิดว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีทางเลือกนอกจากต้องยอมเป็นนั่งร้านให้กับพรรคก้าวไกล ในการจัดตั้งรัฐบาล จนกว่าพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผ่านจริงๆ ซึ่งชั้นเชิงในการวางการเมืองในเที่ยวนี้ยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยหาเสียงเพื่อให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เพราะพรรคเพื่อไทยวางแผนล้มเหลวผิดพลาดไปหมดเลย ทำให้ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ต่อไป แม้ว่านายทักษิณ ชินวัตร พยายามดิ้นรนก็ตาม เพราะกระแสสังคมของพรรคก้าวไกลมาสูงมาก

Advertisement

กรณีที่พรรคเพื่อไทยอ้างเหตุไม่ร่วมรัฐบาล เพราะไม่ยกเลิก หรือแก้ไข ม.112 คิดว่าช่วงนี้คงไม่กล้าทำ แต่จะทำหลังจากผ่าน 2 เดือน หรือ 60 วันไปแล้ว เมื่อเห็นตัวเลขที่แน่นอนของ ส.ส.ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือให้กระบวนการสภาเลือก จนกระทั่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เสร็จสิ้นแล้ว แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ก็จะต้องเป็นหน้าที่ของพรรคอันดับ 2 ในจุดนี้พรรคเพื่อไทยจะมีความชอบธรรม และอาจจะไม่เสนอเรื่อง ม.112 อาจจะมีแรงสนับสนุนจาก ส.ว.ท่วมท้น และหาบรรดา ส.ส.ปีกฝ่ายค้านเดิมช่วยกันยกมือโหวตให้ และเชื่อว่าเมื่อถึงจุดนั้น อาจจะไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจจะมีแค่พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยไม่มี 2 ป. อยู่ในเงื่อนไขแล้ว

การพูดถึงการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม มองว่ามีการปลุกกระแสในการรัฐประหาร แต่ไม่มีความชอบธรรม รวมทั้งเงื่อนไขที่จะทำรัฐประหาร เพราะว่าพรรคก้าวไกลยังมีความชอบธรรมและยังมีฉันทานุมัติจากประชาชน จึงทำให้รัฐประหารเกิดขึ้นไม่ได้ แม้ว่าจะมีการปลุกผีทักษิณ ปลุก ม.112 มองว่าเป็นการสร้างเงื่อนไข เกี่ยวกับความอิจฉาริษยา และความน้อยใจทางการเมืองมากกว่า จึงไม่รู้จะปั่นกระแสอะไร จึงเอาเหตุผลที่กล่าวมานั้น เพื่อต้องการปลุกกระแสรัฐประหารมากกว่า

ในการอุดช่องโหว่ของรัฐประหาร ส่วนตัวมองว่าจะต้องปฏิรูปกองทัพ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วน ม.112 คิดว่ายังต้องมีการคุยในเรื่องรายละเอียดอีกเยอะ

Advertisement

ในการป้องกันการรัฐประหาร ในมุมมองของนักวิชาการ อันดับแรกก็ต้องปฏิรูปกองทัพ ให้เป็นทหารที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางการเมืองจริงๆ เป็นทหารอาชีพ อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้มีผลผูกพันกับคนที่จะทำรัฐประหาร ไม่ใช่เป็นแค่ทหารเมื่อยึดอำนาจได้แล้ว ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเท่านั้น แต่จะต้องผูกโยงไปถึงจะทำรัฐประหารไม่ได้อีกด้วย โดยจะมีผลทางกฎหมายหากจะต้องทำรัฐประหาร

ส่วนการจะเขียนกฎหมายป้องกันรัฐประหาร ในเรื่องนี้มองว่าทำไม่ได้ เพราะอยู่ที่ตัวสถาบันที่เป็นกองทัพ ดังนั้น สังคมจะต้องช่วยกันกดดัน รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญกว้างๆ ไว้ได้เท่านั้นเอง

ทั้งนี้ กองทัพยังมีอำนาจเหนือรัฐ เพราะกองทัพสร้างรัฐซ้อนรัฐอยู่ พยายามแทรกแซงในพื้นที่รัฐที่เป็นของประชาชนตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้กองทัพไม่มีอำนาจมาก อาทิ อาจจะต้องมีการปฏิรูปจำนวนนายพลลดลง นายพลต้องยึดโยงกับประชาชน โดยเฉพาะวัฒนธรรมนายร้อย จปร.จะต้องเลิก การที่จะเป็นทหารก็จะต้องเหมือนกับการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เนื่องจากทหารสร้างพื้นที่เฉพาะตัวเองไปหมด ต้องเอาทหารมาอยู่ในพื้นที่สังคมด้วย

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ก ารที่ ส.ว.มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 โดยส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญไทยยังไม่ได้สร้างเสถียรภาพทางด้านการเมืองอย่างแท้จริง โดยเงื่อนไขแล้วการร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐประหารในแต่ละสมัยคือ ใครยึดอำนาจก็กำหนดสภาร่างรัฐธรรมนูญของตนเอง ฉะนั้น กลไกในการที่จะเปิดกว้าง หรือแม้กระทั่งเขตกั้นในเรื่องของการเข้ามามีส่วนร่วม ถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนจากรัฐธรรมนูญที่ร่างมาโดยคณะรัฐประหาร

ส่วนการที่มีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาจะสามารถตัดวงจรรัฐประหารได้นั้น มองว่าด้านการปฏิรูปหรือการสร้างการเมืองใหม่ขึ้นมา ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเลือกตัวแทนที่มาอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญจากทุกภาคส่วน ในยุคปัจจุบันกระแสของประชาชนเข้าใจผลกระทบของรัฐประหารเพียงพอ แต่สาเหตุสำคัญในการป้องกันรัฐประหาร คือ กลไกของรัฐธรรมนูญเองต้องมีการสร้างระบบของการถ่วงดุลและตรวจสอบ กลไกการตรวจสอบองค์กรอิสระที่เราเรียกว่า อำนาจศาล ศาลที่ถูกสร้างขึ้น หรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งกลไกตรวจสอบของ ป.ป.ช จะต้องทำงานได้อย่างมีอิสระโดยแท้จริงซึ่งอาศัยหลายองค์ประกอบควบคู่กันไป

ในกรณีของความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหาร ณ ตอนนี้ คิดว่าในยุคปัจจุบัน เวลาเราบอกว่าการรัฐประหารจะเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องดูกลไกในแง่ของการเมืองด้วย การเมืองในปัจจุบันที่มีภาวะหลังจากการเลือกตั้งมา ซึ่งกลไกด้านการเมืองทำงานอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีในเรื่องของแรงกระเพื่อมบ้าง การจัดตั้งรัฐบาล ที่สำคัญในปัจจุบันการปรับโครงสร้างของกองทัพหลายส่วน การรัฐประหารก็ทำได้ยากขึ้น ตอนนี้กระแสของการทำรัฐประหารเป็นกระแสที่ยากที่จะได้รับการยอมรับจากประชาชน ฉะนั้น การเมืองในระบบสามารถทำงานได้อยู่

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รัฐประหารแต่ละครั้ง เกิดผลพวงหลายอย่าง ประการแรก คือ มีการนิรโทษกรรม ซึ่งหากไม่มี การทำรัฐประหารถือเป็นความผิดฐานกบฏ โทษถึงประหารชีวิต เมื่อมีนิรโทษกรรม ก็ไม่ต้องรับผิด เมื่อเรื่องไปถึงศาล ก็มีคำพิพากษาว่าถ้ารัฐประหารสำเร็จ ถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่มีใครกล้าต่อต้าน คัดค้าน ยอมศิโรราบหมด

คำว่า รัฏฐาธิปัตย์ คือ มีอำนาจเด็ดขาดหมดทุกอย่าง จะสั่งอย่างไรก็ได้ สั่งอะไรออกมาก็ถือว่าเป็นกฎหมายหมด ออกเป็นคำสั่งคณะรัฐประหาร ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ

ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีอำนาจถึงขั้นใช้มาตรา 17 เอาคนไปประหารชีวิต จนมาในยุค คสช. จากมาตรา 17 เป็นมาตรา 44 ที่สำคัญที่สุดคือพอทำรัฐประหารเสร็จ ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าทิ้ง อ้างว่าจำเป็นต้องเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเจตนาที่แท้จริงคือ ต้องการสืบทอดอำนาจ ฉะนั้น ผลพวงคราวนี้เป็นผลพวงของระบบพวงใหญ่มาก พวกใหญ่ที่สุด คือ ส.ว. 250 คน กลายเป็นว่าประชาชนจำนวนสิบๆ ล้าน เลือก ส.ส.เข้ามาเพื่อที่จะเข้ามาตั้งรัฐบาล ถ้า ส.ว. 250 คนนี้ไม่เห็นด้วย ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ นี่คือผลพวงที่ร้ายแรงที่สุด

ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล บอกแล้วว่าจะ ลบล้างผลพวงเหล่านี้ คือเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ให้มีการปฏิรูปแล้วตั้งอะไรขึ้นมา เพราะข้ออ้างในการปฏิรูปประเทศ แท้จริงแล้วคือต้องการให้ 250 ส.ว. คุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งยังเข้าร่วมพิจารณากฎหมายด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

โดยหลักแล้วการเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยดั้งเดิม อำนาจที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจแค่ทบทวนกฎหมายที่ทางสภาผู้แทนราษฎรยกร่างขึ้นมา แล้วผ่านออกมาเป็นกฎหมาย วุฒิสภามีอำนาจเพียงแค่พิจารณาเพื่อที่จะตรวจสอบแล้วแก้ไขในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าแก้ไขแล้วสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยก็ตกไป สภาผู้แทนราษฎรต้องมีอำนาจอยู่เหนือกว่าวุฒิสภา แต่วุฒิสภาที่เกิดขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญ 2560 มันมีอำนาจเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผิดหลักประชาธิปไตย

ถามว่าส่วนตัวเชื่อหรือไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะลบล้างผลพวงรัฐประหารได้จริง ตอบว่า ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ป่านนี้ ส.ว.ก็ยังไม่ชัดเจน มีทั้งคนที่จะลงมติสนับสนุนให้ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ออกหน้าบอกว่า ไม่เอา โดยอ้างว่ามีประเด็น ม.112

ส่วน ส.ว.อีกส่วนหนึ่ง ทำเป็นเงียบๆ ปล่อยให้พวกนั้นออกหน้ามาชิมลางว่าฝ่ายประชาชนว่าอย่างไร ทั้งที่คะแนนเสียงของก้าวไกลกับเพื่อไทย รวมกันแล้ว 25 ล้าน คือครึ่งหนึ่งของประเทศเลือกมาแล้ว นี่คือผลพวงของการทำรัฐประหารที่ชัดเจนที่สุด

รัฐธรรมนูญเขียนดักไว้หมดแล้ว โดยไม่ต้องการให้ตั้งรัฐบาลได้ง่ายๆ กว่าจะประกาศรับรองได้ใช้เวลา 60 วัน ซึ่งระหว่างนั้น กกต.สามารถแจกใบแดง ใบเหลือง ได้ พรรคที่จะร่วมตั้งรัฐบาลอาจโดนสอยอีกไม่รู้กี่คน นี่คืออีกกลไกที่เป็นกับดักด่านแรก พอด่านถัดไป มีนักร้องทั้งหลายไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า เช่น กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นไอทีวี ถ้ามีการตัดสินว่าขาดคุณสมบัติก็เหมือนคราวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

สำหรับการรัฐประหาร สามารถเกิดอีกรอบได้ อย่างการมีม็อบไปรัฐสภาวันที่ 23 พ.ค. อาจมีการอ้างว่าสร้างความรุนแรง เพื่อส่งทหาร ตำรวจออกมาปราบ คล้ายพม่า แล้วใช้ตำรวจปราบ เมื่อประชาชนไม่ยอม ก็ยิ่งมีเหตุอ้างได้ ขนทหารมาเลย มันจะกลายเป็นเหมือนปี 2557

เรื่องเหล่านี้มีการวางกับดักไว้หลายชั้น หลายขั้น หลายตอน ในขั้นเบาะๆ ที่สุด คือ ตัดสิทธินายพิธาร่วงไปก่อนก็จบแล้ว พรรคก้าวไกลก็หัวขาด ดีไม่ดียุบพรรคอีก เชื่อว่ามีแผนไม่รู้กี่แผนซ้อนแผนกันอุตลุด เพราะรอบนี้เขาพลาด ไม่นึกว่าก้าวไกลจะมาได้ถึงขนาดนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image