ศึกชิง ‘หัวหน้า ปชป.’ เดิมพันอนาคต ‘พรรคสีฟ้า’

ศึกชิง ‘หัวหน้า ปชป.’ เดิมพันอนาคต ‘พรรคสีฟ้า’

เป็นที่จับตาสำหรับแฟนคลับพรรคสีฟ้าอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ก่อตั้งมา 77 ปีเต็ม กับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 9 แทน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ที่ประกาศลาออกพร้อมกับคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดปัจจุบัน เพื่อแสดงความรับผิดชอบภายหลังผลการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

พรรค ปชป.ภายใต้การนำของ “จุรินทร์” และ กก.บห.ชุดปัจจุบัน คว้าที่นั่ง ส.ส.มาไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ คือ ต้องมากกว่า 52 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่ผลเลือกตั้งล่าสุดกลับได้มาเพียง 25 ส.ส.

กระบวนการและไทม์ไลน์การเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. คนที่ 9 จะเป็นไปตาม ข้อบังคับพรรค ปชป. ข้อที่ 32 จะต้องเปิดให้มีการหยั่งเสียงเบื้องต้น เหมือนดังเช่นเมื่อครั้งที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ลาออกจากหัวหน้าพรรค โดยที่ประชุม กก.บห.ชุดรักษาการได้กำหนดองค์ประชุมในการเลือก กก.บห.ชุดใหม่ โดยองค์ประชุมสำคัญที่สุดคือ ว่าที่ ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งทั้ง 25 คน ที่จะเป็นองค์ประชุมหลัก คิดเป็นสัดส่วน 70% ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับรองผลการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนอื่นๆ ยังเป็นไปในข้อบังคับพรรคทุกประการ

Advertisement

เช่น จะต้องมีกรรมการบริหารพรรค อดีตหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าราชการ ที่จะร่วมเป็นองค์ประชุมในสัดส่วน 30% โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมเพื่อกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมอีกครั้ง

โดยพรรค ปชป.กำหนดจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคมนี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค

ได้กำหนดองค์ประชุมในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ไว้จำนวน 374 คน ประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ สมาชิกพรรคที่เป็นอดีตหัวหน้าพรรค อดีตเลขาธิการพรรค และ ส.ส.ของพรรคชุดปัจจุบัน จำนวน 25 คน (ตามที่อดีต กกต.ประกาศรับรอง) สมาชิกพรรคที่เป็นนายกรัฐมนตรี 2 คน อดีตรัฐมนตรี 19 คน ส่วนสมาชิกที่เป็นอดีต ส.ส.ของพรรค มีจำนวน 85 คน โดยการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่-หัวหน้าพรรคจะเชิญอดีต ส.ส.ที่ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ ให้มีส่วนเลือกด้วย

Advertisement

สำหรับองค์ประชุมของพรรค ปชป.ตามระเบียบของข้อบังคับพรรค ผู้มีสิทธิออกเสียงมีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน ประกอบด้วย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด, อดีต ส.ส.ที่ยังเป็นสมาชิกพรรค, กก.บห.ชุดรักษาการ, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรี, อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัด, สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการรับรองมาใหม่จะมีน้ำหนักมากกว่า มากถึง 70% ส่วนที่เหลือมีน้ำหนักแค่ 30%

สำหรับข้อบังคับพรรค ปชป.ข้อที่ 31 ระบุว่า สมาชิกผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และ “เป็นสมาชิกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง” แต่ก็มี “ข้อยกเว้น” ว่า เว้นแต่สมาชิกที่มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1)เป็นหรือเคยเป็นกรรมการบริหารพรรค

(2)เป็นหรือเคยเป็นคณะกรรมการสาขาพรรค

(3)เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในนามพรรค

(4)เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรีในนามพรรค

(5)เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่พรรคส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง

(6)สมาชิกที่ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่มีมติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค

ขณะที่ข้อบังคับข้อ 32 (1) ในการเสนอชื่อผู้เป็น “หัวหน้าพรรค” ต้องมีผู้รับรอง “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของผู้ที่อยู่ในที่ประชุม หัวหน้าพรรคต้องมีคุณสมบัติตามข้อบังคับพรรคข้อ 31 (3) คือเป็นหรือเคยเป็น ส.ส.ในนามพรรค

เว้นแต่ได้รับการยกเว้นตามข้อบังคับพรรคข้อ 31 (6) คือสมาชิกที่ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียง “ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4” ของที่ประชุมใหญ่มีมติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค

ขณะที่ตัวเต็งและแคนดิเดต ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 9 แม้จะยังไม่มีการเปิดชื่อออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ภายในพรรค ปชป.รับรู้สัญญาณการช่วงชิงเก้าอี้แม่ทัพ ปชป.มาจาก 2 กลุ่มหลัก

หนึ่ง คือกลุ่ม “นายหัวชวน” ชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.

อีกหนึ่ง คือกลุ่มของ “เดอะต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ที่มีบทบาทและกุมเสียงของพรรค ปชป.ในขณะนี้ และมี ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งมาล่าสุดสนับสนุนอยู่ที่ 16-18 เสียง

ขณะที่กลุ่มของ “ชวน” มี ส.ส.สนับสนุนอยู่ที่ 7-9 เสียง

หากคิดจากน้ำหนักการโหวตเลือกหัวหน้าพรรค สัดส่วนของ ส.ส.จะมีมากถึง 70% ซึ่งกลุ่ม ส.ส.ของ “เฉลิมชัย” ถือว่ากุมความได้เปรียบไว้เกินครึ่ง จากนี้ไปจนถึงวันโหวตเลือก กก.บห.ชุดใหม่ จึงเป็นภารกิจของ “กลุ่มชวน” ที่จะต้องเดินหน้าโน้มน้าวดึงเสียง ส.ส.ใน “กลุ่มเฉลิมชัย” ให้หันมาสนับสนุนแคนดิเดตหัวหน้าพรรค ปชป.ที่ “กลุ่มชวน” ออกแรงหนุน

ปัญหาใหญ่ คือทั้งสองกลุ่มยังไม่สามารถดีล “บิ๊กเนม” ให้มารับอาสาลงสู้ศึกชิงหัวหน้าพรรค ปชป. อย่างเป็นทางการได้มีเพียงรายชื่อที่คาดว่าแต่ละกลุ่มจะสนับสนุนขึ้นมาชิงชัยเก้าอี้ กก.บห.ชุดใหม่เท่านั้น

โดย “กลุ่มเฉลิมชัย” มีทั้ง “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลาและอดีตรองเลขาธิการพรรค “มาดามเดียร์” วทันยาบุนนาค  เดิมวางตัว วทันยาเป็นแม่ทัพแต่ล่าสุดเปลี่ยนมาผลักดัน “นายกชาย” นำทัพ ขับเคลื่อนภารกิจฟื้นฟูรีแบรนด์พรรคแบบ 360 องศา ถอดบทเรียนผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาให้เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า และเมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้งอาจจะมีการปรับทีม กก.บห.ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเลือกตั้งอีกครั้ง

ขณะที่ “กลุ่มชวน” มีกระแสว่า อาจจะใช้บริการให้ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ให้คัมแบ๊กมาร่วมกันกอบกู้พรรค ปชป.อีกครั้ง แต่มีเงื่อนไขสำคัญจาก “เดอะมาร์ค” คือ หากได้รับการสนับสนุนให้มาชิงหัวหน้าพรรค ปชป.แล้ว จะต้องการันตีด้วยผล “ชนะ” เพียงอย่างเดียว

ส่วนเบอร์รองที่วางไว้ของสายนี้อีกคนที่มาแรงคือ “อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” อดีตที่ปรึกษาประธานรัฐสภา

ศึกชิงหัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 9 จึงเป็นอีกหนึ่งเดิมพันสูงทางการเมืองของพรรคสีฟ้า

เดิมพันในภารกิจสำคัญที่มีผลต่ออนาคตของพรรคประชาธิปัตย์

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image