ศิโรตม์ ลั่น เสียงแห่งความเปลี่ยนแปลง ‘อึกทึกครึกโครม’ ทำผู้มีอำนาจร่างกติกาสกัด หวังเลือก ส.ว. แบบ ‘เงียบที่สุด’

ศิโรตม์ ลั่น เสียงแห่งความเปลี่ยนแปลง ‘อึกทึกครึกโครม’ ทำผู้มีอำนาจร่างกติกาสกัด หวังเลือก ส.ว. แบบ ‘เงียบที่สุด’

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ห้องประชุมชั้น 1 อาคารข่าวสด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงเปิดตัวแคมเปญ “มติชน : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสื่อในเครือ ได้แก่ มติชน, มติชนทีวี, มติชนสุดสัปดาห์, ข่าวสด, ศูนย์ข้อมูลมติชน หรือ MIC ร่วมกับกองบรรณาธิการสื่อออนไลน์ Way Magazine และพันธมิตรนักวิชาการชั้นนำจากภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีทีมงานสื่อ “Khaosod English” ร่วมแปลข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อกระจายสู่สากล

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เวลา 13.00 น. แขกผู้มีเกียรติจากหลากหลายวงวงการ หลั่งไหลเดินทางมาลงทะเบียนแถลงข่าวแคมเปญ “มติชน : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select” อย่างไม่ขาดสาย

ในเวลา 15.00 น. เริ่มวงเสวนาแลกเปลี่ยนทรรศนะภายใต้หัวข้อ “ส.ว.ที่ดี สามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้อย่างไร?” โดยมีนายอธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) คอมลัมนิสต์การเมือง และ นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิเคราะห์การเมือง พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นกับว่าที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก

Advertisement

นายศิโรตม์กล่าวว่า วันนี้ที่มานั่งกันตรงนี้ตนดีใจมากๆ เพราะได้เจอหลายท่านที่รู้จักกันมา คิดว่าเราเห็นหลายคนซึ่งในแง่ของการทำเรื่องสาธารณะ แน่นอนว่าอาจจะไม่ต้องเป็นเรื่องประชาธิปไตยก็ได้ แต่เป็นเรื่องของศิลปวัฒนธรรม เป็นเรื่องของธุรกิจ เป็นเรื่องกฎหมาย หรือว่าเป็นเรื่องของคนพิการต่างๆ ทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องนี้ก็จะรู้สึกว่ามันเป็นบรรยากาศที่ดี ได้เห็นการรวมตัวของคนที่มีความคิดเรื่องจิตสาธารณะอย่างกว้างขวางเป็นเวลานาน

วันนี้ที่ฟังในช่วงแรกๆ คิดว่าสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของทุกคนว่ากติกามันไม่ดี ยิ่งฟัง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พูด กติกามันไม่ดีมากขึ้น แต่ตนกลับคิดว่าการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ ตนไม่ใช้คำว่าการเลือกตั้ง เพราะว่าไม่สามารถใช้คำว่าการเลือกตั้งได้ การเลือก ส.ว.ครั้งนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือเป็นสถานการณ์ที่คนอยากเห็นประเทศนี้เปลี่ยนแปลง

Advertisement

นายศิโรตม์กล่าวว่า เป็นความอยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง คิดว่าเป็นเฟสที่ยาวนานมาก อย่างน้อยเบื้องต้นปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือก ส.ว.เป็นส่วนของความความรู้สึกนึกคิดของคนที่อยากเห็นประเทศไทยมันเปลี่ยนไป จากสิ่งที่เป็นกลไกครอบงำประเทศหลังปี 2557 ซึ่งมันได้ถูกตอกย้ำและต่ออายุด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วก็ผิดซ้ำสองรอบผ่านการเลือกตั้งปี 2562 และปี 2566 เพราะฉะนั้นคิดว่าเรากำลังเห็นการเลือก ส.ว. ที่มีสองส่วนคู่ขนานกัน ส่วนที่หนึ่งคือผู้มีอำนาจที่ต้องการให้การเลือกครั้งนี้เงียบที่สุด

ถามว่าทำไมผู้มีอำนาจต้องการให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้เงียบที่สุด เพราะเขารู้ว่าสังคมมันอึกทึกด้วยเสียงการต้องการความเปลี่ยนแปลง ถ้าสังคมไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ผู้มีอำนาจไม่ต้องร่างกติกาให้ประเทศเงียบขนาดนี้ แต่เพราะผู้มีอำนาจรู้ว่าความต้องการเปลี่ยนประเทศมันดังมาก จนเราย้อนไปสู่การเลือกตั้งปี 2562 ปี 2566 พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งปี 2562 คือพรรคการเมืองซึ่งเห็นต่างกับผู้มีอำนาจในปี 2557 คือพรรคเพื่อไทย ส่วนการเลือกตั้งปี 2566 พรรคที่ชนะ คือพรรคก้าวไกล ซึ่งมีความชัดเจนว่ามีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกับการยึดอำนาจปี 2557 หรือระบอบที่ถูกแปรรูปเป็นรัฐธรรมนูญ 2560

“การเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ภายใต้กติกาที่พยายามจะทำให้เกิดความเงียบ สิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ คือความกลัวเสียงของประชาชน ซึ่งอยากจะเห็น ส.ว.ที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ตรงนี้ เป็นเสียงของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังอึกทึกครึกโครมในประเทศไทย คิดว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้ความเงียบ ความรู้สึกอึดอัดต่อ ส.ว. มีจริง เบื้องต้นสังคมอยากเห็น ส.ว.แตกต่างสิ้นเชิงกับ ส.ว.ที่ผ่านมา” นายศิโรตม์กล่าว

นายศิโรตม์กล่าวว่า ในสิ่งที่ประชาชนเห็นในรอบ 6 ปีภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 หรือว่าถ้าเกิดนับจากปี 2562 ก็ 4 ปี คือการมี ส.ว.ซึ่งไม่มีความยึดโยงกับประชาชน นอกเหนือจากการไม่ยึดกับประชาชน ก็คือ ส.ว.มีสิทธิในการเลือกองค์กรอิสระในแบบที่เป็นระบบพวกพ้องและระบบอุปถัมภ์มากกว่า

“ส.ว.คือหนึ่งในองค์ประกอบของสถาบันนิติบัญญัติ แล้วก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศ เพราะฉะนั้นความต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ จะเป็นเหมือนกับหมอนรอง ที่จะค่อยๆ หนุนหลังทุกคน ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลง สามารถเข้าไปอยู่ในสภาได้

ผมคิดว่าวันนี้พอกระบวนการคัดเลือกเสร็จ ผมเชื่อว่าในอีก 3-4 เดือน หลายท่านก็จะมีคำนำหน้าท่าน ส.ว.นั่น ท่าน ส.ว.นี่ ต่างๆ นานา เพราะความเปลี่ยนแปลงมันคือสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ สังคมไม่อยากเห็นการหยุดนิ่ง ผมไม่คิดว่าความต้องการของผู้มีอำนาจที่จะทำให้การเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้เงียบเดี๋ยวจะประสบความสำเร็จ” นายศิโรตม์กล่าว


นายศิโรตม์กล่าวว่า เรากำลังจะเคลื่อนสู่การเป็นสังคมที่มีนักวิชาการบางคนเรียกว่า เป็นสังคมที่มันเป็นเหมือน ‘ไรโซม’ (Rhizome) คือสังคมความคิดใหม่ คนใหม่ๆ มันงอกได้ทุกจุดตลอดเวลา เหมือนรากของต้นไม้บางชนิด ที่ต้นอยู่ที่ไหนไม่รู้ แต่สามารถแตกหน่อเกิดต้นใหม่เรื่อยๆ เช่น บ้านของตนมีต้นปีบ การปลูกต้นปีบเราจะเจอปัญหาคือมีต้นใหญ่อยู่ 1 ต้น แล้วต้นปีบมันจะเกิดต้นเล็กมาเยอะไปหมด จนเราไม่รู้ตรงไหนคือต้นหลัก แต่ถ้าไปสวนรถไฟจะเจออาณาจักรของต้นปีบ ที่งงมากว่าตรงไหนคือต้นแม่ คิดว่าการเลือก ส.ว.จะเป็นภาพของ ‘ไรโซม’ หรือความคิดใหม่ๆ ที่ไม่รู้ว่าต้นกำเนิดมันคืออะไร แล้วในตอนจบในกระบวนการต่างๆ จะไปเจอคนที่อาจจะมาจากกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักกฎหมาย กลุ่มศิลปิน กลุ่มนักวิชาการ หรือใครก็ตามที่แต่ละคนอาจจะไม่รู้จักกันเลย แต่คุณจะไปเจอคนที่คิดเรื่องประชาธิปไตยคล้ายๆ กันเยอะไปหมด

กระบวนการปิดกั้นทั้งหมด มันทำไม่ได้ ความต้องการเปลี่ยนมันแรงจริง ในทางกลับกันสิ่งที่ผู้มีอำนาจพยายามจะบอกว่าการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท เพื่อไปเลือก ในทางกลับกันยิ่งจะทำให้คนจะรู้สึกว่าโอเค ไม่ต้องหาเสียงอย่างปกติใช่ไหม ในทางกลับกันจะทำให้คนที่เขารู้สึกว่าไม่อยากหาเสียงแบบการเลือกตั้งปกติ งั้นถ้าเลือกอย่างนี้เรามีสิทธิสู้ คิดว่าคนมั่นใจในความสามารถตัวเอง ว่าเรามีสิทธิสู้ภายในกติกานี้ แล้วตนคิดว่าวันนี้เป็นโอกาสดีที่ทุกคนได้มาเจอกัน

“ผมเชื่อว่าวันนี้เราเห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงประเทศที่ดีมากๆ ผมเชื่อว่าพลังของการเปลี่ยนแปลงนี้มีจริง ไม่ใช่เพราะว่าผมแค่เชื่อนะ แต่ว่าเราเห็นว่าจากปี 2562-2566 หรือแม้กระทั่งปัจจุบัน ความต้องการเปลี่ยนประเทศประเทศมันไม่หายไปไหน” นายศิโรตม์กล่าว

นายศิโรตม์กล่าวว่า เวลานี้ถ้าถามประชาชนว่ามองไปยังองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนในการขัดขวางความเปลี่ยนแปลง ภาพองค์กรที่ชัดเจนที่สุดในประเทศนี้คืออะไร เชื่อว่าทุกคนเห็นภาพคล้ายกันว่า เมื่อไหร่ที่ต้องการจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ องค์กรที่ขัดขวางความเปลี่ยนแปลงคืออะไร เมื่อไหร่ที่ต้องการมีศาลรัฐธรรมนูญที่ดี องค์กรซึ่งขัดขวางความเปลี่ยนแปลงคืออะไร เมื่อไหร่ต้องการจะมีนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเลือกจากปี 2562 และ 2566 การขัดขวางให้มีนายกที่ประชาชนเลือกเกิดที่ไหน

“วันนี้อยากจะพูดในเชิงให้กำลังใจทุกคนว่า แต่ละคนอาจจะไม่ได้รู้จักกันครบทุกคน แต่ผมเชื่อว่าภายใต้การไม่รู้จักกันครบทุกคน มันมีบางอย่างเชื่อมโยงกัน หนึ่งคือแต่ละคนไม่ได้มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง สองคือเอาตัวเองมาเสี่ยงในการทำเรื่อง ซึ่งต่อไปนี้ท่านจะเจอคนโจมตีพวกเยอะไปหมด อาจจะมีสื่อบางคนโจมตีว่าเป็น ส.ว.สีนู้นสีนี้ อาจจะมีคนหาทางล้มกระดานการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ อาจจะมีคนหาทางจับผิดคุณสมบัติของแต่ละคนเยอะไปหมด ทุกคนจะเจอความเสี่ยงทางการเมือง ที่แต่ละคนหากใช้ชีวิตตามปกติไม่เจอ
ขอขอบคุณทุกคนที่เป็นตัวแทนในการทวงอนาคตให้กับประเทศนี้ ทุกคนมีความกล้าหาญมากๆ ผมเชื่อว่าในที่นี้จะมีหลายคน 3-4 เดือน คงจะได้ไปที่สภาแห่งใหม่ และมีห้องทำงานในสภา แต่อย่าเดินตกบ่อน้ำที่สภานะครับ มันตกง่ายมาก“ นายศิโรตม์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image