‘ประภาส’ เปรียบระบบเลือกส.ว.เหมือน ‘เล่นขายของ’ – ‘ธเนศ’ ลั่น สังคมเก่าไม่ยอมคลอด ต้องพึ่งหมอตำแย

ตัวตึงการศึกษา! ‘ประภาส’ เปรียบระบบเลือก ส.ว. ‘เด็กเล่นขายของ’ ด้านธเนศ มองสนามเข้มข้น ต้องพึ่งหมอตำแย ทำคลอดสังคมใหม่ พลิกปวศ.

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ (The Emerald Hotel) ห้องพาโนรามา ชั้น 14 เขตดินแดง กรุงเทพฯ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน จัดงาน “แคนดิเดต ส.ว.ขอพูด” โดยได้เชิญผู้ที่ประสงค์จะสมัคร ส.ว. ชุดใหม่มาร่วมงาน เพื่อสร้างพื้นที่แนะนำตัวต่อสาธารณะ และนำเสนอความฝันที่อยากจะเห็นในฐานะผู้สมัคร ส.ว. กลุ่มละ 7 นาที เนื่องจากใกล้จะถึงวันครบวาระสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษ และจะเริ่มคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน

บรรยากาศเวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ หลั่งไหลเดินทางมาลงทะเบียนร่วมงานกันอย่างคึกคัก อาทิ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางนภัสสร บุญรีย์ หรือ ป้านก นักกิจกรรมการเมือง, นายวิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ประธานกรรมการ บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน)

รวมถึง นายพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินรางวัลศิลปาธร, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ดวงประทีป และ นางศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต, น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน พยาบาอาสา, น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บก.ประชาไท เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกรชื่อดัง มาร่วมงานด้วย

Advertisement

ต่อมาเวลา 14.20 น. ได้มีการจำลองสถานการณ์การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ว. ชุดใหม่ แบบเลือกกันเองในกลุ่ม โดยทางไอลอว์ ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลกิจกรรมในครั้งนี้ เข้าร่วมการนับคะแนนและเพื่อเลือกตัวแทน ส.ว.ในแต่ละกลุ่มที่มีคะแนนมากที่สุด ขึ้นมาแนะนำตัวบนเวทีต่อสาธารณะชนเป็นเวลา 7 นาที

ในตอนหนึ่งของช่วงกิจกรรมแนะนำตัว รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนก็ไม่อยากใช้เวทีนี้แนะนำตัว แต่อยากจะเริ่มถึงความหมายสำคัญของเวทีในวันนี้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่โอกาสที่ให้ตนได้มาแสดงออกว่า ตัวเองเหมาะสมอย่างไร แต่สำคัญตรงที่ภาคส่วนต่างๆ มาร่วมมือกันในวันนี้

Advertisement

“ระบบการเมืองที่ผ่านมา เรียกว่า ‘อำนาจนิยมแบบมีการเลือกตั้ง’ องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะการเลือก ส.ว.ที่เราพูดกัน ออกแบบมาให้เหมือนอยู่ในแดนสนธยา ที่ทำให้ผู้คนเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก ทั้งที่ ส.ว.ถูกเรียกว่าเป็นผู้ใช้อำนาจแทนชาวไทย แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่กล่าวมาแล้ว กับอำนาจของปวงชนช่างห่างไกลเหลือเกิน” รศ.ดร.ประภาสชี้

รศ.ดร.ประภาสกล่าวต่อว่า ระบบการเลือก ถ้าพูดแรงสักหน่อย มันดูเหมือนการเลือก ‘เด็กเล่นขายของ’ สิ่งที่เราทำทั้งหมด ความหมายสำคัญอยู่ที่เปิดพื้นที่สาธารณะ สังคม ให้ผู้คนได้มาร่วมตรวจสอบ และได้ปรับหลายอย่าง ถึงแม้จะมีความหวังยาก เพราะจากกติกาการออกแบบไว้แต่แรก ที่เขียนถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชนยากกันอยู่ แม้กระทั่งมีการถอดถอน ส.ส.ที่เราเลือกตั้งไป

“อย่างน้อยกิจกรรมที่เราทำ พื้นที่ทางสังคมที่ได้ขยาย สื่อมวลชนช่วยกันสารกันออกไป จะมีความเข้มข้นมากขึ้นในวันข้างหน้า มันจะทำให้ ส.ว.สามารถที่จะตอบได้ว่า เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยได้อีกสักหน่อย ก็คาดหวังไว้แบบนี้” รศ.ดร.ประภาสเผย

ต่อมา ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ตนสอนประวัติศาสตร์มา 30 กว่าปี ก็อยากทำเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะมิติทางประวัติศาสตร์ ซึ่งตนเจอกับผู้ประสงค์จะลงสมัคร ส.ว.หลายรอบ เอาความรู้สึกตรงนี้มามองด้วยมิติทางประวัติศาสตร์ มันมีลักษณะพิเศษ

“ผมรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครครั้งนี้ ประชาชนจำนวนมากเข้ามาร่วมกลุ่มเพื่อแสดงเจตนารมณ์และเคลื่อนไหว ไปสู่เป้าหมายอะไรบางอย่าง ที่ต้องการสร้างสังคมใหม่ให้กับประเทศไทย ต้องการสร้างสังคมที่พลเมืองมีความมั่นคงแน่วแน่ ปลอดภัย จากหนอนภัยที่กัดเซาะ กร่อนสังคมเราตลอดเวลา ผมชื่อว่าจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทยต่อไป” ศ.ดร.ธเนศเผย

ศ.ดร.ธเนศกล่าวอีกด้วยว่า การรวมกลุ่มครั้งนี้ได้สร้างพลังอันใหม่ขึ้นมาอีกสังคม เพราะเมื่อสังคมเก่ากำลังคลอดสังคมใหม่ออกมา มันคลอดด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุ ฉะนั้นเราต้องมีหมอตำแยมาช่วย

“ผมว่าเรากำลังสร้างหมอตำแยมาช่วยทำคลอดให้กับสังคมเก่าที่ไม่คลอดซะที หรืออาจจะตายมาหลายรอบ ให้เข้าสู่สังคมใหม่เสียที ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จถึงจุดหมายใหญ่ เราได้เป็นหรือไม่ได้เป็น ส.ว. เป็นจุดหมายเล็ก แต่สังคมใหม่ใหญ่กว่า” ศ.ดร.ธเนศทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image