โอกาสโค้งสุดท้าย! ยิ่งชีพชวนรู้จัก ‘แคนดิเดต ส.ว.’ – ไอลอว์แจงกติกายิบ ซ้อมเสมือนจริง

โค้งสุดท้าย! ‘เป๋าไอลอว์’ ชวนทำความรู้จัก แคนดิเดต สว. ชุดใหม่ ก่อนประกาศบังคับใช้ พ.ร.ฎ. พร้อมแจงกติกาเลือกตั้งเสมือนจริง

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ (The Emerald Hotel) ห้องพาโนรามา ชั้น 14 เขตดินแดง กรุงเทพฯ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน จัดงาน “แคนดิเดต ส.ว.ขอพูด” โดยได้เชิญผู้ที่ประสงค์จะสมัคร ส.ว. ชุดใหม่มาร่วมงาน เพื่อสร้างพื้นที่แนะนำตัวต่อสาธารณะ และนำเสนอความฝันที่อยากจะเห็นในฐานะผู้สมัคร ส.ว. กลุ่มละ 7 นาที เนื่องจากใกล้จะถึงวันครบวาระสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษ และจะเริ่มคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน

บรรยากาศเวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ หลั่งไหลเดินทางมาลงทะเบียนร่วมงานกันอย่างคึกคัก อาทิ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางนภัสสร บุญรีย์ หรือ ป้านก นักกิจกรรมการเมือง, นายวิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ประธานกรรมการ บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน), นายพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินรางวัลศิลปาธร, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ดวงประทีป และ นางศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต, น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน พยาบาอาสา, น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บก.ประชาไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกรชื่อดัง มาร่วมงานด้วย

ในตอนหนึ่ง นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) กล่าวถึงจุดประสงค์การจัดงาน “แคนดิเดต ส.ว.ขอพูด” ครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาการเลือกตั้ง ส.ว. หรือ การเลือกตั้งผู้สมัครอื่นๆ จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้มาโดยตลอด ซึ่งในครั้งนี้แปลกออกไป ที่ทาง กกต.จะมีการบังคับใช้กฏระเบียบที่ไม่ให้มีการประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะเกิดขึ้น

Advertisement

“ตอนเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา ประชาชนยังสามารถไปดูและรับรู้การนับคะแนนของ กกต.ได้ แต่การเลือกตั้ง ส.ว.ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ มีเพียงผู้สมัครเท่านั้นที่จะรับรู้การนับคะแนน ทั้งๆ ที่ผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว.นั้น มีความสำคัญต่อการเมืองของประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการโหวตรัฐธรรมนูญ และกฏหมายต่างๆ ทางไอลอว์ (iLaw) จึงได้จัดตั้งแคมเปญนี้ขึ้นมา เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้โปร่งใส และให้ประชาชนทุกท่านได้รับรู้ข้อมูลได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ระเบียบที่จะมีการบังคับใช้นั้น วิธีแนะนำตัวของผู้สมัคร ส.ว.ยังไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ซึ่งเวทีนี้จัดตั้งก่อนที่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จะบังคับใช้ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ ทำให้ยังไม่ผิดระเบียบ เป็นการเดินตามกติกาอย่างถูกกฏหมาย และเราไม่เห็นด้วยกับระเบียบฉบับนี้ พร้อมทั้งยืนยันว่ามีผู้สมัครหลายท่านที่ไม่เห็นด้วยเช่นกันได้ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ปรับแก้ระเบียบฉบับนี้ แต่การพิจารณาจะมีการนัดไต่สวนฉุกเฉินในวันที่ 15 และ 16 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะเป็นไปตามกระบวนการกฏหมาย“ นายยิ่งชีพกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ยังฝากให้ติดตามการเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านทางเว็บไซต์ senate 67 ที่ทาง ไอลอว์ (iLaw) จะพยายามทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เปิดเผยและโปร่งใส่ต่อประชาชน โดยได้รับทราบข้อมูล ข่าวสาร กติกาต่างๆ ของการเลือก ส.ว.ทั้ง 200 คน ให้ได้มากที่สุด

ด้าน นายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้ชี้แจงถึง กระบวนการเลือก ส.ว. ว่าได้มีการจัด 20 กลุ่มอาชีพ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเปิดเผยมากที่สุด จึงอยากให้ทุกคนมีโอกาส ได้แนะนำตนเอง โดย 20 กลุ่มนี้ ทุกกลุ่มจะมีเวลา 7 นาที

“ใน 7 นาทีนี้ ใช้กระบวนการเหมือนการเลือก ส.ว.และ หา 1 คนที่จะมีอำนาจในการบริหาร 7 นาที ว่าจะมีการจัดสรรอย่างไร คนที่ได้รับเลือกคะแนนสูงสุดในกระบวนการการเลือก ส.ว.จะเป็นคนตัดสินใจ” นายรัชพงษ์กล่าว

นายรัชพงษ์กล่าวต่อไปว่า กระบวนการเลือก ส.ว.มี 3 ระดับ 2 ขั้น ประกอบไปด้วย ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ และจะมี 2 ขั้นตอน ประกอบไปด้วย 1.การเลือกกันเอง และ 2.การเลือกไขว้

“ในวันนี้จะใช้วิธีการเลือกกันเอง ตัวอย่างเช่น ถ้าอยู่กลุ่มการศึกษาก็จะเลือกผู้ที่อยู่ในกลุ่มการศึกษา ถ้าอยู่ในกลุ่มข้าราชการก็จะเลือกผู้ที่อยู่ในกลุ่มข้าราชการ ส่วนการเลือกไขว้ ที่ไม่ได้มีการนำมาใช้ในวันนี้ คือการจับสลากและเลือกไขว้จากกลุ่มอื่น เช่น ถ้าจับฉลากได้กลุ่มการศึกษา ก็จะข้ามไปเลือกกลุ่มการศึกษา 1 คน” นายรัชพงษ์กล่าว

นายรัชพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนบัตรเลือกตั้ง เป็นบัตรเลือกกันเอง โดยจะมีบัตรสีชมพู ซึ่งเวลาเลือกตั้ง ส.ส.จะทำกากบาทได้เพียง 1 คน 1 พรรค แต่การเลือก ส.ว.ต่างออกไป บัตรสีชมพูจะมี 2 ช่อง หมายความว่าทุกคนมี 2 คะแนน ซึ่งสามารถเลือกคนอื่นก็ได้ หรือเลือกตัวเองก็ได้ แต่เราจะต้องเลือก 2 คะแนนนี้เป็นบุคคลที่ต่างกัน

“อีกประการหนึ่ง ในการเลือกตั้ง ระเบียบกฎหมายได้บอกไว้ว่า ให้เขียนเป็นเลขอารบิกเท่านั้น และไม่สามารถขีดเขียนใดๆ ทับลงไปได้ นอกจากนี้ ในสนามจริง เมื่อท่านเข้าไปแล้วการสื่อสารจะถูกตัดขาด หมายความ ห้ามนำโทรศัพท์ และเครื่องมือสื่อสารเข้าไป และที่นั่งจะเป็นแถวตอน ไม่สามารถสื่อสารกันได้” นายรัชพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

ต่อมาเวลา 14.20 น. ได้มีการจำลองสถานการณ์การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ว. ชุดใหม่ แบบเลือกกันเองในกลุ่ม โดยทาง ไอลอว์ ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลกิจกรรมในครั้งนี้ได้เข้าร่วมการนับคะแนนและเพื่อเลือกตัวแทน ส.ว.ในแต่ละกลุ่มที่มีคะแนนมากที่สุดขึ้นมาแนะนำตัวบนเวทีต่อสาธารณะชนเป็นเวลา 7 นาที

อ่านข่าว : เปิดเวทีใหญ่! ‘ไอลอว์’ ดันเคมเปญ #สมัครเพื่อโหวต จำลองเลือก ส.ว.สายแข็ง 20 กลุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image