‘อดีตผู้พิพากษา‘ ขอสมัครลง ส.ว. อัด กติกาประหลาด ต่างชาติควรมาดูงาน

‘อดีตผู้พิพากษา‘ ขอสมัครลง ส.ว. หวังได้ฝ่ายนิติบัญญัติที่ดี-มีคุณภาพ อัด กติกาประหลาด ต่างชาติควรมาดูงาน ชี้ ‘ไอลอว์-คณะก้าวหน้า’ ชวนคนมาสมัครเป็นเรื่องดี แต่อยู่ที่ฝ่ายไหนลงมากลงน้อย เหตุ ปชช.ไม่มีสิทธิเลือก

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม นายชาลี ทัพภวิมล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ว. ให้สัมภาษณ์ว่า ตนลงสมัคร ส.ว. ที่ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ มาสมัครเพราะได้รับการชักชวนจากเพื่อนที่อยู่ในแวดวงกฎหมายและการเมือง โดยตนเคยอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกามาก่อน หลังจากเกษียณอายุราชการจึงไปขอขึ้นใบอนุญาตเป็นทนายความและอนุญาโตตุลาการ โดยความคาดหวังในการลงสมัคร ส.ว.ครั้งนี้คือ อยากได้ ส.ว. ที่ดี มีคุณภาพเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ ซึ่งคิดว่าน่าจะดีกว่า ส.ว. ชุดที่กำลังจะหมดอายุ เพราะเป็น ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ ซึ่งได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหาร

เมื่อถามว่า กังวลกับกติกาที่หลายคนมองว่าซับซ้อนหรือไม่ นายชาลีกล่าวว่า ตนมองว่ากติกาซับซ้อนจริงๆ เพราะไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่สามารถใช้อำนาจของตัวเองในการเลือก ส.ว. โดยตรงได้ ทำได้แค่ทางอ้อมคือการบอกคนที่พอมีเงินไปสมัครเป็น ส.ว.หรือควรเลือกคนนั้นคนนี้ อีกทั้งตนคิดว่าเป็นกติกาที่ประหลาด ต่างประเทศควรมาดูงาน ไม่ทราบว่าคิดขึ้นมาได้อย่างไร

เมื่อถามถึง กรณีที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) และคณะก้าวหน้า ประชาสัมพันธ์ให้คนมาสมัคร ส.ว. นายชาลี กล่าวว่า ตนมองว่าน่าจะเป็นผลดี เพราะการเชิญชวนจะทำให้บรรยากาศการเลือกตั้ง ส.ว. นั้นดูดี มีความน่าเชื่อถือ ส่วนปัญหาที่บอกว่าจะมีการจัดตั้งในความเห็นของตน ตนมองว่าเป็นไปได้ยาก

Advertisement

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่อาจจะมีการฮั้วกันระหว่างกลุ่มบ้านใหญ่ นายชาลีกล่าวว่า โดยวิสัยของการเมืองไทยก็น่าจะมีบ้าง แต่คงไม่ได้ผลมาก เป็นแค่การหาเสียงของ ส.ว. ทั้งนี้ ตนคิดว่าหากฝ่ายประชาธิปไตยมาสมัครกันเยอะ จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะฝ่ายประชาธิปไตยจะรู้ดีว่าต้องเลือกใคร ขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็อาจจะให้คนมาลงสมัครเยอะเช่นเดียวกัน ซึ่งก็อยู่ที่ว่าฝ่ายไหนจะลงเยอะฝ่ายไหนจะลงน้อย เพราะว่าประชาชนไม่ได้มีสิทธิเลือกแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image