ศาลสั่งรื้อกฎแนะนำตัวส.ว. ชี้จำกัดสิทธิผู้สมัคร-ขัดรธน. ‘เลขา กกต.’น้อมรับ

ศาลสั่งรื้อกฎแนะนำตัวสว. ชี้จำกัดสิทธิผู้สมัคร-ขัดรธน. ‘เลขา กกต.’น้อมรับ

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรกและฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เมษายน-15 พฤษภาคม 2567 และข้อ 11 (2) และ (3)

โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ ในคดีที่นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ยื่นฟ้อง กกต. และคดีที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพวก รวม 6 ราย ยื่นฟ้อง กกต. และประธาน กกต.ร้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก ส.ว. 2567 เนื่องจากเห็นว่าระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

โดยศาลให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ ส.ว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การทำหน้าที่ของ ส.ว.ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แม้ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.2561 กำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก ส.ว. แต่รัฐธรรมนูญได้มีการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเห็น การคิด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นๆ การที่ระเบียบ กกต. การที่ กกต.ออกระเบียบดังกล่าวด้วยการจำกัดข้อมูลประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร

Advertisement

รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สมัคร ส.ว.สามารถแนะนำตัวเฉพาะกับผู้สมัคร ส.ว.ด้วยกันเท่านั้น และการห้ามผู้สมัครในสายอาชีพสื่อมวลชนและศิลปิน นักแสดง ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเองเพื่อประโยชน์ในการแนะนำนั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร ส.ว.เกินกว่าเหตุ และถือว่าไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบพิพาทนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ส่วนระเบียบข้อ 11 (5) ที่กำหนดห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนนั้น ศาลเห็นว่าระเบียบข้อนี้เป็นการห้ามเฉพาะผู้สมัคร ส.ว. ไม่ได้เป็นการห้ามสื่อมวลชน จึงไม่อาจมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารแต่อย่างใด จึงพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกส.ว. 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรกและฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เมษายน-15 พฤษภาคม 2567 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ

ด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบการรับสมัครส.ว.ข้อ 7, 8 และ 11 (2) ว่า คงพูดแทน กกต.ไม่ได้ แต่ในชั้นสำนักงานอะไรที่ศาลตัดสินแล้วเป็นประโยชน์กับประชาชนเราจะดำเนินการไปตามนั้น เพราะเป็นการให้สิทธิกับประชาชนมากขึ้น สำนักงานจะยึดถือตรงนี้เป็นหลัก และสำนักงานจะเสนอให้กับ กกต.ได้รับทราบ ส่วนจะมีโอกาสยื่นอุทธรณ์ต่อศาลหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า เป็นเรื่องของ กกต.แต่โดยหลักการถ้าเป็นประโยชน์กับส่วนรวม ประเทศชาติสามารถเดินต่อไปได้และเป็นไปตามโรดแมปน่าจะเกิดประโยชน์ที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image