คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : มนุษย์งาน Gen Z

บรรดาชนเผ่าสังคมก้มหน้า (อยู่กับสมาร์ทโฟน) ที่พบเห็นในปัจจุบัน Gen Y (อายุ 17-36 ปี) มีการใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุดเมื่อเทียบกับ Gen อื่น อ้างอิงผลสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ปี 2561 ที่ระบุว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตนานขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เพิ่มจากปีก่อน 3 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน และ Gen Y ใช้งานมากที่สุด

โดยในวันทำงาน/เรียน Gen Y ใช้งานเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 22 นาที วันหยุดเฉลี่ย 11 ชั่วโมง 52 นาที เฉือนกลุ่ม Gen Z (อายุน้อยกว่า 18 ปี) ไปนิดเดียว (วันทำงาน/เรียน ใช้งานวันละ 10 ชั่วโมง 22 นาที วันหยุดใช้ 11 ชั่วโมง 50 นาที)

อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ทั้ง Gen Y และ Gen Z ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศทั้งสิ้น

กลุ่มคนที่เกิดและเติบโตมาในยุคดิจิทัล (Digital natives) กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของคนทำงานในอนาคต โดยเฉพาะ Gen Z ซึ่งมีความเข้าใจและรอบรู้เทคโนโลยีเชิงลึก เพราะโตมาในยุคดิจิทัลจึงมีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และเทคโนโลยี

Advertisement

“อโณทัย เวทยากร” รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า คน Gen Z มองว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสร้างความก้าวหน้าให้มนุษย์ แต่เป็นเสมือนวิธีการในการยกระดับ การแข่งขันที่ต้องอาศัยศักยภาพด้านข้อมูลประกอบด้วย

จากผลการสำรวจบรรดานักเรียนระดับมัธยม วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย กว่า 12,000 แห่งใน 17 ประเทศ มีผู้ตอบแบบสำรวจ 722 ราย มาจากประเทศไทย และ 4,331 ราย จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อายุระหว่าง 16-23 ปี ซึ่งสนับสนุนการจัดทำโดย “เดลล์ เทคโนโลยีส์” พบว่าคนรุ่นใหม่มีความเห็นต่อเทคโนโลยี และงานในอนาคตหลากหลายแง่มุม

โดย 99% ในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาอย่างจริงจัง

Advertisement

95% ในไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่าเทคโนโลยีที่บริษัทหรือผู้ว่าจ้างงานนำเสนอเป็นองค์ประกอบการพิจารณาเลือกงานในลักษณะเดียวกันที่เสนอเข้ามา

97% ของคน Gen Z ในไทย ต้องการทำงานที่ใช้เทคโนโลยีล้ำหน้า โดยมากกว่า 4 ใน 10 ให้ความสนใจในการทำงานด้านไอที รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ (48%)

93% ในไทย และใน 86% เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่าเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติจะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความเสมอภาคมากขึ้นทั้งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอคติและการแบ่งแยก

ผู้ตอบแบบสำรวจ 89% เข้าใจดีว่าเรากำลังก้าวสู่ยุคของความร่วมมือระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร (human-machine partnership) โดย 51% (ไทย 64%) เชื่อว่ามนุษย์และเครื่องกลจะทำงานร่วมกันเสมือนเป็นทีมเดียวกัน ขณะที่ 38% (ไทย 30%) มองว่าเครื่องกลเป็นเสมือนเครื่องมือที่มนุษย์เรียกใช้ได้ตามต้องการ

คน Gen Z เติบโตมาในยุคดิจิทัล ส่วนใหญ่จึงมีความมั่นใจในความสามารถด้านเทคโนโลยีของตนเอง

ในประเทศไทย 76% ของคนกลุ่มนี้ระบุว่าความสามารถด้านเทคโนโลยีของตนอยู่ในระดับที่ดีหรือยอดเยี่ยม และ 73% ระบุว่ามีทักษะในการเขียนโค้ด (coding skills) สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป

มากกว่านั้น 95% ของ Gen Z ในไทยต้องการเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ความรู้ให้ผู้ร่วมงานที่อายุมากกว่าที่อาจมีประสบการณ์เรื่องเทคโนโลยีน้อยกว่า

ในทางกลับกัน Gen Z มีความกังวลเกี่ยวกับทักษะที่เหมาะสมในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นรวมถึงประสบการณ์ที่ผู้ว่าจ้างมองหาอีกด้วย

เด็กจบใหม่เกือบทั้งหมด (96%) มีความกังวลใจเกี่ยวกับการว่าจ้างงานในอนาคตตั้งแต่เรื่องการขาดทักษะที่เหมาะสม ตลอดจนขาดประสบการณ์ในการทำงาน มีเพียง 60% ระบุว่าการศึกษาของตนอยู่ในระดับดีหรือดีเยี่ยมที่ช่วยให้ตนมีความพร้อมในการทำงาน

67% มั่นใจว่ามีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ผู้ว่าจ้างต้องการ แต่ขาดทักษะที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

ขณะที่กลุ่มมืออาชีพระดับอาวุโสมีความกังวลว่าจะโดนเด็กรุ่นใหม่แซงหน้า และบทบาทของผู้นำในอนาคตส่วนใหญ่จะกลายเป็นของเด็กรุ่นใหม่ที่โตมาในยุคดิจิทัล สอดคล้องกับการวิจัยของ “เดลล์ เทคโนโลยีส์” ที่ระบุว่า 87% ของผู้นำธุรกิจกลัวว่าองค์กรของตนจะมอบโอกาสด้านการทำงานที่ทัดเทียมให้กับคนต่างรุ่น

ปัจจุบันบริษัทต่างๆ มักมีคนทำงานอยู่ 5 เจเนอเรชั่น องค์กรจึงควรช่วยให้คนทำงานเหล่านี้หาจุดร่วมที่เหมือนกันให้เจอในเวลาที่ต้องผลักดันไปสู่การสร้างวัฒนธรรมของการให้ความสำคัญกับดิจิทัลเป็นอันดับแรก (digital-first)

โดยทีมงานที่ต้องทำงานข้ามสายงานและมีทักษะครบจะกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และแก้ปํญหาด้วยวิธีแบบใหม่ได้

โปรแกรมนักศึกษาฝึกงาน และการหมุนเวียนงาน รวมถึงโอกาสอื่นๆ ในการพัฒนาความก้าวหน้าทางอาชีพตั้งแต่เริ่มต้นจะช่วยให้มืออาชีพรุ่นใหม่ได้รับประสบการณ์ในการทำงานและพัฒนาทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้เช่นกัน รวมถึงโปรแกรมการผลัดกันเป็นที่ปรึกษาจะช่วยเพิ่มพูนความสามารถด้านเทคโนโลยีในองค์กรได้

แม้คน Gen Z จะสื่อสารกันโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างดีตั้งแต่เกิด และเติบโตมาในยุคโซเชียลมีเดีย แต่ยังต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ในที่ทำงานมากขึ้น

จากผลการศึกษาในประเทศไทย โทรศัพท์ (40%) เป็นวิธีที่คนทำงานร่วมกันนิยมใช้ในการสื่อสารตามด้วยการสื่อสารแบบตัวต่อตัว (34%) แอพพลิเคชั่นส่งข้อความ และการส่งข้อความสั้นจัดไว้หลังสุด

62% คาดว่าจะได้เรียนรู้งานจากเพื่อนร่วมงานหรือบุคคลอื่นแต่ไม่ใช่ทางออนไลน์

91% กล่าวว่าโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่สร้างคุณค่าในการทำงานได้และกว่าครึ่ง (58%) ชอบนั่งทำงานในออฟฟิศ เมื่อเทียบกับการทำงานจากบ้าน และ 70% ชอบทำงานเป็นทีมมากกว่าทำคนเดียว

แม้การสื่อสารที่ต้องพูดคุยกันต่อหน้าจะไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยในที่ทำงานสมัยใหม่แต่เทคโนโลยีที่ให้ความรู้สึกเสมือนจริงช่วยให้คนทำงานทุกประเภทประสานความร่วมมือกันได้ทั้งในโลกการทำงานจริง และโลกเสมือนจริง ดังนั้น องค์กรที่สร้างกำลังคนที่รองรับ และให้การสนับสนุนคนทำงานในทุกเจเนอเรชั่นได้จะเติบโตได้ในยุคแห่งความร่วมมือระหว่างมนุษย์และเครื่องกล

โดยคนทำงานที่ผสานการทำงานร่วมกันได้ดีจะเป็นพลังช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ในอนาคต เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาแทนตำแหน่งงานมากกว่าครึ่ง (52%) ภายในปี 2568

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image