คอลัมน์ โลกสองวัย : 103 ปี ‘หัวลำโพง’

ภาพจากหนังสือ Bangkok Then & Now โดย steve Van Beek

วันก่อนหน้าเว็บไซต์ google เปลี่ยนหน้าตา doodles เป็นภาพสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ “สถานีรถไฟหัวลำโพง” ร่วมฉลองครบรอบ 103 ปี จากการเริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2459 สมัยรัชกาลที่ 5 นับเป็นสถานที่สำคัญมีความสวยงาม เป็นสถานีรถไฟเก่าแก่ที่สุดของไทย ก่อสร้างสไตล์อิตาเลียนผสมศิลปะแบบเรอเนสซองซ์

วันใกล้เคียงกัน มีประชาสัมพันธ์จากการรถไฟแห่งประเทศไทย “เที่ยวไปกับรถไฟไทย” แจ้งว่า นอกจากรถไฟโดยสารแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยยังจัดกระบวนรถไฟท่องเที่ยวทั้งแบบไปเช้าเย็นกลับ และค้างคืน เพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสกับเสน่ห์ของการเดินทางโดยรถไฟ และสูดกลิ่นอายของธรรมชาติตามสถานที่ท่องเที่ยว สมดังมีคำกล่าวไว้ว่า “ฉันไม่ได้นั่งรถไฟไปเที่ยว แต่ฉันไปเที่ยวเพื่อจะได้นั่งรถไฟ”

สถานที่เที่ยวไปกับการรถไฟทั้งไปกลับวันเดียวและค้างคืน มีหลายขบวน โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์ อาทิ เชียงใหม่ ชะอำ หัวหิน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ วันนี้น่าจะมีทุ่งทานตะวันให้ดูบ้างแล้ว

น้องหนูรู้แล้วใช่ไหมว่า รถไฟไทยประเดิมเริ่มต้นตั้งแต่ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ยาวนานถึงวันนี้กว่า 103 ปีแล้ว มีทายาทของผู้ก่อสร้างรถไฟเขียนถึง “ปู่ทำงานก่อสร้างรถไฟ”

Advertisement

กระทั่งได้ชื่อว่า “บิดาแห่งการรถไฟ” และอีกหลายเรื่องราวการก่อสร้าง ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อในฐานะที่ชอบนั่งรถไฟเที่ยว

ผู้เขียน หม่อมราชวงศ์ปิยฉัตร ฉัตรชัย บอกว่าเป็น “หลานปู่” แจ้งไว้ใน “กูเกิล” ว่า “ปู่ฉันตายวันนี้”

ทั้งบันทึกไว้ว่า ปู่ฉันชื่อ “บุรฉัตร”

Advertisement

ฉันว่าชื่อปู่เท่ดีจนมีคนเอาไปทำตราตีบนรถไฟดีเซลของเมืองไทยทุกคัน ฉันไม่เคยเจอปู่ เพราะปู่ตายก่อนฉันเกิดนานมาก ความจริงปู่ตายตั้งแต่พ่อยังเป็นเด็กอยู่ด้วยซ้ำไป แต่ “มรดก” ของปู่ยังมีให้เห็นเต็มไปหมดในเมืองไทย รถไฟก็ใช่ สายการบินก็ใช่ โรงแรมเก๋ๆ ที่หัวหินก็ใช่ วิทยุกระจายเสียงก็ใช่ ทหารสื่อสารก็ใช่ ฯลฯ

ปู่ทำอะไรดีๆ ไว้มากมาย ดูแลจัดการกองกรมกระทรวงเยอะแยะไปหมด ยกเว้นกรมเดียวที่ปู่จัดการไม่ได้คือ “กรมข่าวลือ”

ตอนที่ปู่ยังมีงานทำเขาก็ลือให้ลั่นว่าปู่ร่ำรวย มีที่ดินมหาศาล เวลาตัดรถไฟไปทางไหนเขาก็ว่า “นั่นประไร ต้องได้ที่ดินอีกอื้อเป็นแท้” ปู่คงคิดเหมือนที่คุณชายคึกฤทธิ์ (หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช) ท่านว่าไว้คือ ไม่สนใจ คิดว่าคำพวกนั้นเป็นเสมือน “หมาเยี่ยวรดภูเขาทอง” (ใครคิดว่าหยาบคายเชิญติดต่อคุณชายคึกฤทธิ์เอาตามสะดวก)

จนเมื่อปู่หมดอำนาจนั่นแล ถึงได้รู้ว่าปู่ไม่ได้มีอะไรเลย ที่ดินที่ “ว่ากันว่า” เป็นของปู่ ที่แท้ปู่กันไว้ให้สำหรับการรถไฟทั้งนั้น รวมทั้งที่ดินใกล้ๆ สวนจตุจักรที่กลายเป็นศูนย์การค้านั่นด้วย

การรถไฟฯ มีที่ดินมากมายจากที่ปู่จัดการไว้ให้ ถ้าบริหารดีๆ การรถไฟฯ น่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ร่ำรวยและเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนได้ดีกว่านี้

สมัยที่ปู่ทำงานรถไฟ ชาวยุโรปเคยมานั่งรถไฟของไทยและเอ่ยปากชมไว้ในหนังสือของตัวเอง (ไม่ได้ชมกับปู่) ว่ารถไฟของไทยวิเศษจริงๆ และดีกว่ารถไฟที่อังกฤษทำไว้ใช้ในมลายูเสียอีก

ปู่เป็นคนรุ่นแรกๆ ที่ไปพัฒนาหัวหินจนกลายเป็นที่ตากอากาศชื่อดังตั้งแต่ก่อนยุคปริศนาจนถึงปรัตยุบัน ปู่สร้างโรงแรม ตัดทางรถไฟ สร้างตลาด สร้างสนามกอล์ฟ ปู่สร้างของเหล่านี้ไว้ให้คนอื่นไปพัก-ไปใช้ แต่ปู่กลับไม่มีที่ดินในหัวหินเลยสักผืนเดียว ถ้าเป็น “นักกินเมือง” สมัยนี้ ฉันว่าคงไม่เหลือรอดแม้เพียงครึ่งวา

มีคนยกย่องปู่เป็นบิดาเรื่องโน้นนี้ ตั้งอนุสาวรีย์ไว้กราบและขอหวย แต่ไม่มีใครทำตามปู่เรื่องความซื่อสัตย์เลย ปู่เป็นคนรักชาติและภักดีกับพระมหากษัตริย์อย่างสุดชีวิต

วันที่เขา “ปลดเจ้า” เช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ปู่แอบหนีออกจากกรุงเทพฯ ขับรถไฟหลบหลีกขบวนการปฏิวัติไปหัวหินเพื่อกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงทราบถึงเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ

เพราะไอโฟน หรือ Blackberry มันยังไม่มีในสมัยนั้น ทั้งๆ ที่ถ้าเขาจับปู่ได้ระหว่างทาง ปู่คงได้นอนหลับตลอดกาลบนรถไฟที่ปู่รักนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image