คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Dirty Dancing หนังม้านอกสายตาในจังหวะที่ใช่แห่งยุค 80 (จบ)

ภาพประกอบ Vestron Pictures / Netflix / Youtube Video : Movieclips

ภาพยนตร์ดังแห่งยุค 80 Dirty Dancing” หนังที่ตบหน้าบรรดาค่ายหนังน้อยใหญ่ในฮอลลีวู้ดจนหน้าแตกกันเป็นทิวแถว เพราะต่างปฏิเสธ “บทภาพยนตร์” เรื่องนี้กันหมด จนสุดท้ายบริษัทผลิตวิดีโอ “เวสทรอน” ที่ไม่เคยมีประสบการณ์สร้างภาพยนตร์มาก่อน ตัดสินใจลงทุนสร้างหนังเรื่องนี้และมันก็ดังเป็นพลุแตก

ในซีรีส์สารคดี The Movies That Made Us” ตอน Dirty Dancing” พาเราไปดูเบื้องหลังและเกร็ดเรื่องราวที่กว่าจะมาเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น มีทั้งความพยายามและโชคชะตา (เล่นตลก) บางอย่างเข้ามาช่วยให้หนังเรื่องนี้ลงตัวในทุกมิติ

ย้อนอ่าน : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Dirty Dancing หนังม้านอกสายตาในจังหวะที่ใช่แห่งยุค 80 (ตอน 1)

ย้อนกลับไปก่อนว่า ทำไมบริษัทผลิตวิดีโอถึงต้องการมาสร้างหนัง นั่นเพราะยุคนั้นบรรดาสตูดิโอเจ้าของภาพยนตร์หันมานำเนื้อหาของตัวเองผลิตลงวิดีโอจัดจำหน่ายเอง ทำให้ “เวสทรอน” ตัดสินใจผลิตคอนเทนต์ของตัวเองขึ้นมาบ้าง

Advertisement

เมื่อโปรเจ็กต์สร้างหนังถือกำเนิดขึ้น บริษัทได้จ้าง “มิทเชลล์ แคนโนลด์” มาเป็นหัวหน้าคุมการสร้างภาพยนตร์ แต่ก็ดูตลกร้ายไปนิด เมื่อแคนโนลด์ ผู้ยึดหลักประจำใจในการทำงานว่า “แม้มันจะแย่แต่ก็ยังดี” มีประสบการณ์ทำหนังเพียง 2 เรื่อง และทั้งสองเรื่องเป็นหนังเกรด B-

“แคนโนลด์” พยายามหาบทหนังที่เหมาะจะเป็นหนังเรื่องแรกให้กับบริษัท เขาเพียรอ่านบทภาพยนตร์ที่บรรดาค่ายหนังโยนทิ้งไปแล้วเพื่อหา “ของดี” จาก “กองขยะ” บทหนังกว่า 5,000 เรื่อง และโชคก็เข้าข้างเมื่อเขาไปเจอเข้ากับบทหนัง Dirty Dancing

แคนโนลด์ เชื่อว่าเขาเจอ “ทองคำ” แม้ฮอลลีวู้ดจะไม่คิดเช่นนั้น

Advertisement

เขาเล่าว่า ทันทีที่ได้อ่าน รู้สึก “อิน” และเข้าถึงเรื่องราวที่ดำเนินเรื่องในฉากหลังของเมืองตากอากาศ “แคทสกิล” ช่วงฤดูร้อน

เรื่องของ “เบบี้” สาวน้อยที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง และ “จอห์นนี่ แคสเซิล” หนุ่มแบดบอยนักเต้นในเมืองเล็กๆ ที่ซึ่งทั้งคู่ได้พบรักผ่านการเต้นรำ เรื่องราวความแตกต่างระหว่างชนชั้นท่ามกลาง “ความรักต้องห้าม” กระทั่งการพบความกล้าหาญในตัวเอง และพบจังหวะเต้นอันน่าตื่นตาตื่นใจ…

เล่าเรื่องมาแบบนี้ ดูไม่น่าจะเป็น “ทองคำ” สำหรับโลกฮอลลีวู้ด ที่มองว่าบทหนังเรื่องนี้ไม่เข้าเทรนด์ทั้งยังถูกตีตราว่ามีความเป็นผู้หญิงเกินไป ดึงกลุ่มคนดูวงกว้างไม่ได้

แต่ “แคนโนลด์” ยกหูติดต่อ “ลินดา โกทท์ลีย์” โปรดิวเซอร์ที่ควบคุมข้อตกลงชั่วคราวลิขสิทธิ์หนังเรื่องนี้ และแน่นอนว่า “ลินดา” แปลกใจมากที่บริษัทผลิตวิดีโอที่อยู่นอกฮอลลีวู้ด ทั้งยังไม่มีความรู้เรื่องการสร้างหนัง สนใจสร้าง Dirty Dancing

เพราะคิดว่านี่คือโอกาสสุดท้าย เธอจึงพา “อีลีนอร์ เบิร์กสไตน์” นักเขียนบทเจ้าของเรื่อง Dirty Dancing ไปร่วมวงดันหนังเรื่องนี้ขึ้นจอเงินไปด้วยกัน

กระบวนการเฟ้นหาผู้กำกับภาพยนตร์ นักแสดง เพลงประกอบ การออกแบบท่าเต้น การหาสถานที่ถ่ายทำจึงเริ่มต้นขึ้น

ตั้งแต่การเลือกผู้กำกับภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับหนัง

ชื่อของ “เอมิล อาร์โดลิโน” ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยมชนะรางวัลออสการ์จากหนังสารคดีเรื่อง He Makes Me Feel Like Dancin’ ถูกทาบทามให้มานั่งแท่นกำกับ

แม้ทีมผู้สร้างจะไม่มั่นใจนัก เนื่องจาก “เอมิล” ไม่เคยกำกับหนังยาวมาก่อน แต่เพราะผลงานหนังสารคดี

ความยาว 26 นาที ที่เกี่ยวกับเด็กๆที่เรียนเต้นรำของเขาคว้าออสการ์ และตัวเขาก็เกิดมาในครอบครัวที่เป็นนักเต้น

…น่าเชื่อได้ว่า “เอมิล” จะเข้าใจมู้ดและโทนหนังที่มีเรื่องราว “เต้นรำ” เป็นฉากหลัง

จบที่ตัวผู้กำกับ ทีมงานสร้างยังเจอความท้าทายสำคัญคือ “ทุนสร้าง” ที่ได้รับงบประมาณต่ำกว่าที่ตั้งใจ ทำให้มีการลดต้นทุนต่างๆ นานา เช่น โลเกชั่นถ่ายทำที่ถูกเขียนไว้ว่าเป็นรีสอร์ตหรูในเมืองตากอากาศแคทสกิล ต้องถูกตัดทิ้งและไปหาโลเกชั่นทดแทนในรัฐอื่น ตลอดจนเวลาที่ใช้ถ่ายทำมีจำกัด ไปจนถึงความที่หนังมีฉากเต้นรำเพื่อเล่าเรื่องหลายฉาก ทำให้ “เพลงประกอบภาพยนตร์” หรือซาวด์แทรกถูกเลือกเพลย์ลิสต์ไว้อย่างประณีต

“อีลีนอร์ เบิร์กสไตน์” เจ้าของบทหนังเป็นคนเลือกและวางเพลงว่าจะต้องดังขึ้นมาในฉากไหน…ภาพในฝันของนักเขียนบทโลดแล่นมาให้เห็นภาพแล้ว ติดเพียงอย่างเดียวคือเพลงเหล่านี้มีค่าลิขสิทธิ์สูง

แต่สุดท้ายหนังก็ดีลเพลงลิขสิทธิ์เหล่านี้มาได้สำเร็จ

ทุกวันนี้หนึ่งในสิ่งน่าจดจำสำคัญของหนัง Dirty Dancing คือ เพลงประกอบภาพยนตร์ ที่มีเพลย์ลิสต์อมตะตลอดกาล โดยมี 3 เพลงเอก คือ “(I’ve Had) The Time Of My Life” “She’s Like The Wind” และ Hungry Eyes” เป็นเพลงไอคอนติดหู และอัลบั้มซาวด์แทรกก็ติดอันดับอัลบั้มขายดีทั่วโลกต่อเนื่องกันหลายปี

ผ่านความทุลักทุเลงานโปรดักชั่น อีกสิ่งสำคัญที่เป็นจุดขายของหนัง คือ “นักแสดงนำ” ที่โจทย์สำคัญคือ ทั้งคู่ต้องมีเคมีบนจอระหว่างกันให้ได้ เพราะมีฉากเต้นรำเชิงยั่วเย้าอันเย้ายวนปรากฏในหลายฉาก

กว่าที่หนังจะลงตัวเลือก “แพทริค สเวย์ซี” และ “เจนนิเฟอร์ เกรย์” มารับบท “จอห์นนี่” และ “เบบี้” ที่ขึ้นแท่นคู่พระนางที่มีเคมีหน้ากล้องเข้ากันสุดสุดคู่หนึ่งของโลกภาพยนตร์ ทีมผู้สร้างต้องต่อสู้กับไอเดียนายทุนที่ตั้งใจจะผลักดันนางเอกสายเซ็กซ์บอมบ์ผมทองเซ็กซี่มารับบท สวนทางกับคาแร็กเตอร์ที่วางไว้ให้คาแร็กเตอร์นางเอกเป็นเด็กสาวผอมแห้งผมหยิกฟู แต่สุดท้ายทีมผู้สร้างต่อสู้เรื่องนักแสดงได้สำเร็จ

เมื่อได้นางเอกก็ต้องหาพระเอกที่มีเคมีเข้ากัน และมีพื่นฐานการเต้นรำที่ดี ซึ่งกว่าจะได้ “แพทริค สเวย์ซี” ก็ผ่านอุปสรรคไม่ใช่น้อย เพราะสเวย์ซีกับเกรย์นั้นไม่ค่อยกินเส้นกัน อีกทั้งตัวเขามีปัญหาบาดเจ็บที่เข่าจนไม่สนใจรับบทหนังที่ต้องมีฉากเต้นรำ

แต่ที่สุดนี่คือบทหนังที่เกิดมาเพื่อเขา…และก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

“เจนนิเฟอร์ เกรย์” และ “แพทริค สเวย์ซี” ไม่ใช่ดาราระดับ A List ที่เรียกคนดูให้มาเข้าโรงหนังได้ แต่ทั้งคู่คือคู่พระนางที่เป็นไอคอนส่งให้หนังรักโรแมนติกเรื่องนี้ดังเปรี้ยง

The Movies That Made Us” ตอน Dirty Dancing” พาเราไปดูเส้นทางอลหม่านกว่าจะมาเป็นหนังดังที่เป็นม้านอกสายตาของทั้งฮอลลีวู้ดในยุค 80 เริ่มต้นโดยทีมงานตั้งต้นที่ค่อนข้างไร้ประสบการณ์ ให้ทุนสร้างโดยบริษัทผลิตวิดีโอที่ไม่เคยมีหนังยาวของตัวเอง และก็เป็นหนังเรื่องเดียวที่ประสบความสำเร็จของบริษัท ก่อนจะล้มละลายในช่วงยุค 90

แต่สุดท้ายไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะถูกมองว่ามาพร้อม “ความฟลุค” แค่ไหน แต่แท้จริงแล้ว ความสำเร็จของมัน ล้วนมาจากการ “ใส่ใจในทุกรายละเอียด” และสร้างจากกลุ่มคนที่ “อิน” ในเนื้อเรื่อง มองเห็นภาพเดียวกันเมื่อมันขึ้นไปอยู่บนจอภาพยนตร์

จนส่งผลให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังทำเงินและหนังอมตะตลอดกาลเรื่องหนึ่งของโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image