คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์ : การค้นพบธาตุใหม่บนดวงอาทิตย์ (1)

Jules Janssen เกิดในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในครอบครัวที่ต้องทำงานแบบปากกัดตีนถีบ เขาจึงต้องทำงานหาเลี้ยงชีพตั้งแต่อายุยังน้อย ความมุมานะอุตสาหะส่งผลให้เขาเรียนจบด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ต่อมา Janssen เดินทางไปยังประเทศเปรูเพื่อทำการศึกษาและวัดค่าสนามแม่เหล็กโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตร แต่การทำงานที่นั่นเขาเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ได้แก่โรคบิดจนต้องเดินทางกลับประเทศ

พอกลับมาก็ทำงานเป็นติวเตอร์ให้กับตระกูล Schneider ซึ่งร่ำรวยมหาศาลจากการเป็นเจ้าของบริษัทเหล็กและโรงถลุงเหล็ก (ปัจจุบันได้กลายมาเป็นบริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่ชื่อ Schneider Electric) ในตอนนั้น Jules Janssen สังเกตพบบางอย่างน่าสนใจที่โรงถลุงเหล็กของตระกูล Schneider นั่นคือ ‘ดวงตามนุษย์เราสามารถจับจ้องเหล็กที่ร้อนจนละลายได้โดยไม่เกิดอาการบาดเจ็บ ในขณะที่ผิวหนังกลับต้องมีเครื่องป้องกันความร้อน’ เขาจึงทำการศึกษาอย่างละเอียดเพื่ออธิบายว่าดวงตาป้องกันตัวเองจากความร้อนได้อย่างไร เขาพบว่าตัวกลางอย่างของเหลวที่อยู่ในลูกตาจะปล่อยให้แสงทะลุผ่านได้ แต่จะดูดกลืนความร้อนไปราว 90% ทำให้จอประสาทตาปลอดภัย

Jules Janssen

การศึกษาเรื่องความร้อนและดวงตาส่งผลให้เขาจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี ค.ศ.1860
Janssen เป็นคนประเภทที่พอสงสัยอะไรแล้วจะต้องรีบหาคำตอบโดยเร็วที่สุด ซึ่งลักษณะนิสัยนี้ได้ติดตัวไปตลอดชีวิตของเขา

ต่อมาเขาเข้าสู่การศึกษาด้านสเปกโทรสโคปี (Spectroscopy) ซึ่งเป็นการศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่วัตถุปลดปล่อยและดูดกลืน ทำให้นักฟิสิกส์สามารถศึกษาสมบัติของวัตถุและสสารนั้นๆ ได้

Advertisement

Jules Janssen เริ่มต้นจากการศึกษาการแผ่รังสีของเหล็กร้อนๆ แต่ในเวลาต่อมาเขาหันเหไปศึกษาดวงอาทิตย์ ในวันที่ 18 สิงหาคม ปี ค.ศ.1868 เขาไปสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงที่สุริยุปราคาเต็มดวงที่ประเทศอินเดีย เพื่อทำการศึกษา solar prominences ซึ่งเป็นพวยก๊าซขนาดใหญ่มหึมาที่พุ่งออกมาจากผิวของดวงอาทิตย์ (ซึ่งมักจะมีลักษณะเป็นบ่วง) เขาพบว่าพวยก๊าซดังกล่าวมีองค์ประกอบหลักๆ เป็นก๊าซไฮโดรเจน แต่เขาพบว่ามีเส้นสเปกตรัมสีเหลืองลึกลับที่ไม่ตรงกับธาตุใดๆ ที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักในขณะนั้น

เขาพบว่าสเปกตรัมที่เขาสนใจศึกษานั้นมีความสว่างมากและ ‘อาจ’ สามารถสังเกต โดยไม่ต้องรอให้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงแล้วลำบากเดินทางไปสังเกตการณ์ เขาจึงคิดหาวิธีการปิดไม่ให้แสงส่วนอื่นๆ เดินทางผ่านมารบกวนการศึกษาพวยก๊าซและเสปกตรัมที่เขาสนใจ

ผ่านไปเพียงสองสัปดาห์หลังจากสังเกตการณ์สุริยุปราคา ในระหว่างเดินทางกลับฝรั่งเศส เขาสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เรียกว่า spectrohelioscope ซึ่งสามารถใช้ในการศึกษาสเปกตรัมจากพวยก๊าซของดวงอาทิตย์ได้โดยไม่ต้องรอสุริยุปราคาเต็มดวงได้สำเร็จ จากนั้นจึงใช้มันศึกษาดวงอาทิตย์ในขณะที่เขาอยู่ที่ภูเขาหิมาลัยจนค้นพบว่า solar prominences นั้นเป็นโครงสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะไปในแต่ละวัน

Advertisement

หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน เขาส่งรายงานการค้นพบเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ไปยังสมาคมวิทยาศาสตร์ในปารีส

เหลือเชื่อ…ในวันที่จดหมายของเขาเดินทางไปถึงได้มีจดหมายอีกฉบับหนึ่งเดินทางไปถึงเกือบจะพร้อมกัน และเนื้อหาภายในกล่าวถึงการค้นพบเรื่องเดียวกัน!

 


อ้างอิง

http://www.encyclopedia.com/people/science-and-technology/astronomy-biographies/pierre-jules-cesar-janssen

(“Sur I’absorption de la chaleur rayonnante obscure dans les milieux de I’oeil,” in Annales se physiqueet de chimie, 3rd series, 60 , 71-93)

https://solarsystem.nasa.gov/deepimpact/science/spectroscopy.cfm

http://www.astrosurf.com/re/spectroheliograph_spectroheliscope.pdf


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image