‘ดิจิทัล ดีเอ็นเอ’ มากกว่า AI : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

เทคโนโลยี “ดิจิทัล” ทำให้โลกแคบลง ทำให้คนตัวเล็กมีช่องทาง (ออนไลน์) ทำมาหากินได้โดยไม่ต้องลงทุนมากๆ เหมือนในอดีต และอาจทำให้บริษัทที่ยิ่งใหญ่กลายเป็นอดีตได้ในชั่วพริบตา หากปรับตัวไม่ทัน ดังมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วจำนวนไม่น้อยในช่วงสิบกว่าปีมานี้

ที่สำคัญกว่า ไม่ใช่ขนาดของบริษัทว่าเล็กหรือใหญ่ แต่อยู่ที่ความสามารถในการ “ปรับตัว” ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่มาถึงอย่างรวดเร็ว รุนแรง และ(ยัง) ไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดอย่างไร

ถ้าปรับตัวได้ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีโอกาสอยู่รอด และเติบโตได้ไม่ต่างกัน

ความไม่แน่นอน คือความแน่นอน ใครจะคิดว่า “โนเกีย” ที่ยิ่งใหญ่มากเมื่อสิบห้าปีก่อนจะมาถึงวันนี้

Advertisement

เช่นกันกับที่ไม่มีใครรู้ว่าอีกห้าหรือสิบปีข้างหน้า “เฟซบุ๊ก,กูเกิล, อาลีบาบา หรือไลน์” จะยังอยู่ และแข็งแรงเหมือนทุกวันนี้ไหม

ท่ามกลางสึนามิ “ดิจิทัล” หรือที่บางคนว่าเป็นยิ่งกว่า เพราะเจอคลื่นยักษ์สึนามิ หนีขึ้นที่สูงได้ก็รอด แต่ “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” มีอำนาจทำลายล้างไร้ขีดจำกัด และไม่รู้ว่าจะมาแบบไหน

ใน 2-3 ปีมานี้ หลายบริษัทในหลายอุตสาหกรรมจึงให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค (ซึ่งก็เพราะเทคโนโลยีอีกเช่นกัน)

Advertisement

“ดีแทค” มือวางอันดับสามในตลาดมือถือบ้านเราก็ด้วย ชัดเจนว่าต้องการเป็นแบรนด์ “ดิจิทัล” อันดับหนึ่งในใจผู้บริโภค (แม้วันนี้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะได้ใช้คลื่น 2300MHz เมื่อไร และจะได้ประมูลคลื่นใหม่ก่อนสัมปทานหมดอายุหรือไม่) ทำให้แผนการตลาด, การให้บริการลูกค้า และอื่นๆ ล้วนมุ่งไปยัง “ดิจิทัล” มากขึ้น และมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริงต้องมาจากภายในองค์กร ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรจึงสำคัญ (มาก)

ล่าสุด “ดีแทค” ทำผ่านโปรแกรม “40-hour Challenge” มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้พนักงาน

โดยการกำหนดให้เข้าร่วมคอร์สอบรมเกี่ยวกับดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 40 ชั่วโมง ภายในปี 2561

“ดีแทค” ระบุว่า จำนวน 40 ชั่วโมง เป็นจำนวนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในปัจจุบันของดีแทค 3-4 เท่า และมากกว่าที่กฎหมายกำหนดสูงสุดถึง 10 เท่า โดยเป็นโปรแกรมที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Lynda.com Coursera และเทเลนอร์บริษัทแม่ของดีแทค

นาฎฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า โปรแกรมนี้สนับสนุนหลักความเชื่อของดีแทคที่ว่า “ทุกคนเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านดิจิทัลได้ ถ้ามีกระบวนการทางความคิดที่ถูกต้อง”

มากกว่าครึ่งของบริษัททั่วโลกมีช่องว่างเพิ่มขึ้นในทักษะด้านดิจิทัลของพนักงาน และช่องว่างนั้นกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพูดถึงซอฟต์สกิลด้านดิจิทัล

ไม่เพียงการเขียนโปรแกรมและการวิเคราะห์ที่มีความต้องการสูง แต่ทักษะอื่นๆ เช่น การมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ความชำนาญ และความคิดสร้างสรรค์ขององค์กร ล้วนเป็นที่องค์กรต้องการด้วยเช่นกัน

“ดีเอ็นเอของดีแทค คือลงมือทำอย่างรวดเร็ว คิดแตกต่าง กล้าที่จะทำ และมีความกระตือรือร้นที่จะมุ่งสู่ชัยชนะ ซึ่งฝังอยู่ในวัฒนธรรมของบริษัทแล้ว พนักงานถามว่าบริษัทจะช่วยอย่างไรได้บ้าง มีที่ไหนบ้างที่จะสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้”

จึงเป็นที่มาของโปรแกรม 40-hour Challenge เป็นเครื่องมือที่พนักงานต้องการในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยพัฒนา ทั้งทักษะดิจิทัลในรูปแบบฮาร์ดสกิล และซอฟต์สกิล

แต่ละคลาสจะมีคะแนน และมีหัวข้อต่างกัน ตั้งแต่รูปแบบการทำงานแบบอะไจล์ ไปสู่การวิเคราะห์และประสบการณ์ของลูกค้าดิจิทัล โดยคลาสต่างๆ ที่ให้เรียนออนไลน์จะพร้อมใช้งานตลอดเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือทำให้เรียนรู้ได้ในทุกที่ทุกเวลา

และมีการนำเกมเข้ามาประยุกต์ (gamification) กับการเรียนด้วย โดยเมื่อเรียนคลาสไหนสำเร็จแล้วจะสามารถปลดล็อกรับ badge คอร์สขั้นสูง และ “ดีแทคคอยน์” ที่นำ coins ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อสนับสนุนพนักงานให้จัดการการเรียนรู้ในหัวข้อที่พวกเขาต้องการ และช่วยวางแผนความก้าวหน้าของการเรียนตามความต้องการส่วนบุคคล และความต้องการของทีมงานได้ด้วย

“เราไม่สามารถบอกพนักงานว่า เขาต้องเป็นบุคคลดิจิทัล โดยไม่เคยติดต่อสื่อสารกับพวกเขาออนไลน์ ดังนั้นการอบรมของเราจึงให้โอกาสแบบ bottom-up approach คือพนักงาน และผู้จัดการของพวกเขาดูแลจัดการสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับความรู้ที่ตรงกับความต้องการของทีมได้ถูกต้องแม่นยำ และไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อหา การอบรมยังออกแบบตั้งแต่พื้นฐานขึ้นไปจนถึงระดับประสบการณ์ดิจิทัล”

จากข้อมูลของดีแทคพบว่า ในปี 2560 ลูกค้ากว่าครึ่งชำระเงินค่าบริการผ่านแอพพลิเคชั่น “ดีแทค” ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมถึง 50% ขณะที่แอพพลิเคชั่นสำหรับรีเทลเลอร์เติมเงิน “ดีแทควัน” มีการดาวน์โหลดไปใช้กว่า 60,000 ครั้ง และลดขั้นตอนการทำงานเกี่ยวกับการเติมเงินลงจาก 45 วินาที เหลือแค่ 5 วินาที

นอกจากนี้โปรแกรม Chatbot ที่นำมาใช้ยังตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ถึง 30% ของความต้องการทั้งหมด จากช่องทาง SMS และขยายไปยัง Facebook ด้วย

“ผู้บริหารดีแทค” ย้ำว่า ปี 2561 เป็นปีที่สำคัญสำหรับดีแทคในการนำ “ดิจิทัล” ไปสู่ทุกคนเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายเดิมที่ต้องการเป็นแบรนด์ดิจิทัลอันดับหนึ่งภายใน 2 ปีข้างหน้า

“วันนี้เราใช้บางส่วนของการเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในไทย เรากำลังทำงานอยู่กับข้อมูลขนาดใหญ่จำนวนมหาศาล การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของดีแทคทำให้เราเป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับผู้ที่มีความสามารถด้านดิจิทัล และเราก็รู้ว่าผู้มีความสามารถทางดิจิทัลจะดึงดูดซึ่งกันและกัน”

แน่นอนว่าคงไม่ใช่แต่องค์กรที่อยู่ในโลกเทคโนโลยีอยู่แล้วอย่าง “ดีแทค” ที่ต้องเร่งพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้บุคลากรภายในองค์กร แต่เป็นเรื่องของทุกองค์กรที่คิดจะอยู่ให้รอดในยุคนี้

มากกว่าคำพูด คือการลงมือทำ มากกว่าทักษะด้านดิจิทัล และเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย คือการ สร้าง “ดิจิทัล ดีเอ็นเอ” ที่หมายถึง “ความกล้าที่จะลงมือทำอย่างรวดเร็ว คิดต่าง และกระตือรือร้นอยู่เสมอ” เพราะการรับมือ “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” ที่พร้อมกลายร่างเป็นธุรกิจใหม่บริการใหม่ หรือ “อะไร” ก็ไม่รู้นั้น “ความกล้า และความเร็ว” สำคัญมาก 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image